จากรณีกรมป่าไม้และศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า ได้แจ้งความดำเนินคดี นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ในความผิดใช้เอกสาร ภ.บ.ท.5 และ น.ส.2 ยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติแบบผิดกฎหมาย เนื้อที่รวม 440 ไร่
พร้อมทั้งได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค.2563 และได้ส่งเรื่องราวให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อดำเนินการตามมูลฐานความผิดการบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถือเป็นมูลฐานความผิดของกฎหมายฟอกเงิน ซึ่งดำเนินการไปแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมประเมินความเสียหายภาครัฐ เพื่อดำเนินการฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายภาครัฐตามระเบียบ และกฎหมาย นั้น
ล่าสุด วันที่ 14 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศราได้รายงานข่าวว่า “อีกคดีกรมป่าไม้ส่งปปง.สอบสมพรถือครอง น.ส.2-ภ.บ.ท.5 รุกป่า 440 ไร่” ใจความว่า คดีครอบครอง น.ส.3 ก. จำนวน 60 ฉบับ เนื้อที่ 2,154-3-82 ไร่ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ของครอบครัวจึงรุ่งเรืองกิจ ที่มีชื่อนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ, น.ส.ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวไกล
ซึ่งนายชีวะภาพ ชีวะธรรม รองอธิบดีกรมป่าไม้ ขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดินขอให้พิจารณาเนินการเพิกถอน น.ส.3 ก. ทั้ง 60 ฉบับแล้ว ล่าสุดการถือครองที่ดิน น.ส.2 จํานวน 7 แปลง เนื้อที่ 250-0-00 ไร่ และ ภ.บ.ท.5 จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 90 ไร่ รวมทั้งสิ้น 8 แปลงเนื้อที่ เนื้อที่ 440 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี ท้องที่หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 14 ต.รางบัว และหมู่ที่ 3 ต.ด่านทับตะโก อ.จอมบึง จ.ราชบุรี กรมป่าไม้ได้ส่งเรื่องให้ พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินคดีในฐานกระทําความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (15)
วันที่ 28 ม.ค. 2564 กรมป่าไม้ส่งถึงเลขาธิการ ปปง. สรุปสาระสำคัญว่า คณะเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ลงพื้นที่ตรวจสอบตรวจพบที่ดินแปลงดังกล่าว พบมีการแสดงเอกสารสิทธิในที่ดิน 8 แปลง ประกอบด้วย น.ส.2 จํานวน 7 แปลง เนื้อที่ 250-0-00 ไร่ และ ภ.บ.ท.5 จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 90 ไร่ ที่ดินทั้งหมดอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี (พ.ศ.2527) ซ้อนทับกับเขตปฏิรูปที่ดินของสํานักปฏิรูปที่ดิน (พ.ศ.2554) และซ้อนทับกับเขตป่าไม้ถาวร ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี หมายเลข 85 (พ.ศ.2512) ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าหลักฐานการมอบอํานาจให้นางอรสา เศรษฐปราโมทย์ นําชี้และมอบที่ดิน น.ส.2 ให้จัดทําป่าชุมชน ตรวจสอบร่องรอยการทําประโยชน์ พบการทําแปลงยูคาลิปตัส และหลักฐานการชําระภาษีบํารุงท้องที่ 3 ฉบับ ประจําปี 2553-2556 ปรากฏชื่อนางสมพรเป็นผู้ชําระภาษีบํารุงท้องที่ จึงสันนิษฐานได้ว่านางสมพรครอบครองที่ดิน น.ส.2 และ ภ.บ.ท.5 จํานวน 8 แปลง เนื้อที่ 440 ไร่ การกระทําของนางสมพรจึงเป็นการกระทําผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 ประกอบมาตรา 72 ตรี, พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14 ประกอบมาตรา 31, ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 97 ซึ่งได้แจ้งความกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2563
“คณะเจ้าหน้าที่พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทําดังกล่าวข้างต้นยังถือเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (15) จึงขอส่งเอกสารหลักฐานมาเพื่อพิจารณาดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ และขอได้โปรดมอบหมายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเอกสารหลักฐานและข้อเท็จจริงในพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ ได้มอบนายคม ศรีสวัสดิ์ ผู้อํานวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามที่ 1 (ภาคกลาง) เป็นผู้ประสาน”
สำหรับมูลฐานความผิดในมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่จะถูกยึดให้ตกเป็นของแผ่นดินนั้น จะมีทั้งสิ้น 21 ข้อ โดยข้อ 15 นั้นจะเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ ยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติหรือกระบวนการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันมีลักษณะเป็นการค้า
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นที่ได้รับความสนใจจากคนในสังคม ซึ่งกำลังติดตามกันต่อไปว่า ขั้นตอนทางกฎหมายจะเป็นอย่างไร เรื่องจะจบจนเข้าสู่การฟ้องเมื่อไหร่และศาลใช้เวลาอีกเท่าไหร่??
จากกรณีดังกล่าวนั้น มีคดีตัวอย่างในลักษณะคล้านกันนี้ โดยย้อนไปเมื่อปี 2562 นายชลธิศ สุรัสวดี อดีตอธิบดีกรมป่าไม้ ในฐานะอดีตประธานคณะทำงานแก้ไขและบรรเทาการบุกรุกพื้นที่เขายายเที่ยง กล่าวถึงกรณีเขายายเที่ยงของ พล.อ.สุรยุทธ์นั้น จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ทางภาคประชาชนได้มีการแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกป่าตั้งแต่ก่อนที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จะมีตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี
เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้ร่วมดำเนินการเรื่อยมา จนอัยการสีคิ้วมีคำสั่งไม่ฟ้อง เพราะเห็นว่าขาดเจตนา จากนั้นเรื่องจึงมาถึงส่วนกลางและได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ ขึ้นมา ซึ่งตนในฐานะประธานคณะทำงานฯ ก็ได้ดำเนินการในเรื่องการไปรับคืนพื้นที่ จาก พล.อ.สุรยุทธ์ ซึ่งในช่วงนั้นก็ได้มีการลงพื้นที่เพื่อรับมอบพื้นที่โดย พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นฝ่ายรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่เอง
สำหรับกรณีที่ดินเขายายเที่ยงของ พล.อ.สุรยุทธ์นั้น คุณหญิงจิตรวดี จุลานนท์ ได้มีการยื่นใบ ภ.บ.ท. 5 เป็นหลักฐานในการครอบครอง โดยนายคุ้มพงษ์ ภูมิภูเขียว ทนายความที่มีบทบาทในการร่วมต่อสู้เรื่องสิทธิทำกินกับองค์กรชาวบ้านในเขตภาคอีสาน ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีกับ พล.อ.สุรยุทธ์กับพวกในข้อหาบุกรุกที่ดินป่าสงวนแห่งชาติป่าเขายายเที่ยง
ต่อมาปี 2552 อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง พล.อ.สุรยุทธ์ในคดีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ เนื่องจากไม่มีเจตนากระทำผิดกฎหมาย และได้ส่งเรื่องให้กระทรวงทรัพยากรฯ ดำเนินการต่อ ซึ่งกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ ได้สรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าพล.อ.สุรยุทธ์ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินบนเขายายเที่ยง ต้องออกจากพื้นที่ดังกล่าวและรื้อถอนทรัพย์สินออกให้หมด