ชำแหละยับ!! “ก้าวไกล-ฝ่ายค้าน” กลัว “ประชามติ” ตัวสั่น เพราะในโลกความจริง แรงหนุนแก้ม.112 แค่น้อยนิด?

2133

จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยรัฐสภามีอำนาจและหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องจัดทำประชามติ 2 ครั้ง ครั้งแรกให้ประชาชนลงมติว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และครั้งที่สองเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ต้องจัดให้มีการลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีขึ้นหลังจากที่ที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 เห็นชอบกับญัตติด่วนของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ที่ขอให้รัฐสภาพิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ของรัฐสภา เพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ด้วยคะแนน 366 ต่อ 315 งดออกเสียง 15 เสียง

หลังจากนั้นศาลได้รับคำร้องไว้วินิจฉัยเมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา และได้มีคำสั่งให้ผู้เกี่ยวข้อง 4 คน อันได้แก่ อดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ฉบับปี 2560 ซึ่งมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ นายอุดม รัฐอมฤต ทำความเห็นเป็นหนังสือส่งมายังศาลรัฐธรรมนูญมติศาลรัฐธรรมนูญ สั่งจัดทำประชามติก่อนรัฐสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ซึ่งเส้นทาง ไทม์ไลน์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มีดังนี้

6 เม.ย. 2560 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มีเนื้อหา 16 หมวด 279 มาตรา

18 ธ.ค. 2562 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จำนวน 49 คน ซึ่งนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ได้รับเลือกให้เป็นประธาน กมธ. ในการประชุมครั้งแรกเมื่อ 24 ธ.ค. 2562

13 มี.ค. 2563 กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เชิญนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ที่จัด “แฟลชม็อบ” ในช่วงต้นปี 2563 เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ มาให้ความเห็นเกี่ยวกับปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560

31 ส.ค. 2563 กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ส่งมอบรายงานที่มีความหนา 145 หน้า ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภา ซึ่งเป็นรายงานที่ตั้งข้อสังเกต สะท้อนปัญหาและขอเสนอแนะต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560

24 ก.ย. 2563 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติเสียงข้างมากให้ตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ

18 พ.ย. 2563 สมาชิกรัฐสภาพิจารณาญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้านและร่างฉบับภาคประชาชน ผลลงมติปรากฏว่าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีมติรับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน 2 ร่าง ขณะที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก 5 ฉบับ ของฝ่ายค้าน รวมทั้งร่างฉบับภาคประชาชนที่เสนอโดยกลุ่มไอลอว์ถูก “โหวตคว่ำ”

9 ก.พ. 2564 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ขอเสนอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) เกี่ยวกับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นญัตติที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. เป็นผู้เสนอเนื่องจากเห็นว่าทำได้เพียงแก้ไขรายมาตราเท่านั้น ซึ่งสุดท้ายที่ประชุมสภามีมติเสียงข้างมากให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสามารถตั้ง ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่

18 ก.พ. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องที่รัฐสภาขอให้วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

11 มี.ค. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยรัฐสภามีอำนาจและหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องจัดทำประชามติ 2 ครั้ง ครั้งแรกให้ประชาชนลงมติว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และครั้งที่สองเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ต้องจัดให้มีการลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 


ทั้งนี้ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขธิการคณะก้าวหน้า ก็ได้ออกมาโพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุข้อความว่า หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 11 มี.ค.2564 เวลา 15.00 น. ว่า “รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”

นัยของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนี้ คืออะไร?
ตกลงแล้ว เราจะเดินหน้าต่ออย่างไร?
ประชามติกี่ครั้ง?
ประชามติแต่ละครั้งแตกต่างกันอย่างไร?

คำว่า “ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” นั้น คือ ประชามติประเภทไหน? ซึ่งการเคลื่อนไหวของนายปิยบุตร ยิ่งตอกย้ำว่าพรรคก้าวไกลและก๊วนของนายธนาธร กลัวการลงประชามติ ซึ่งเรื่องนี้นายศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ ดร.นิว ก็ได้วิเคราะห์ไว้ด้วยว่า “ทำไมปิยบุตรถึงกลัวการลงประชามติ?

ถ้าปิยบุตรเป็นฝ่ายประชาธิปไตยจริงๆ จะกลัวการลงประชามติไปทำไม?
ปิยบุตรที่ชอบแอบอ้างประชาชน ทำไมถึงกลัวการลงประชามติที่เป็นเสียงอันแท้จริงของประชาชน?”

แม้ปิยบุตรจะชอบอ้างคำว่า “ประชาธิปไตย” กับ “ประชาชน” แต่ปิยบุตรกลับเป็นเผด็จการทางความคิดในคราบของนักประชาธิปไตยจอมปลอม ไม่ต่างจากคณะราษฎรที่แอบอ้างประชาชนจนกระทั่งเรียกกลุ่มของตัวเองว่า “คณะราษฎร” ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วเป็นคณะเผด็จการของคนเพียงไม่กี่คน และไม่เคยสนใจเสียงอันแท้จริงของประชาชน โดยชำแหละด้วยว่า 1. ปิยบุตรถือลัทธิรัฐธรรมนูญ , 2. ปิยบุตรฉวยโอกาสจากความขัดแย้งและความแตกแยกของประชาชน และ 3 .ปิยบุตรถือแนวทางรุนแรง


ต่อมาทางด้านพรรคก้าวไกล ออกแถลงการณ์ต่อกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยต้องให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อน ว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง

พรรคก้าวไกล ขอยืนยันว่า กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นอำนาจเต็มของรัฐสภา ที่ได้ดำเนินการมาโดยตลอดจนถึงขณะนี้ ตั้งแต่การเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด15/1) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (3) และการพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (4) และกำลังจะมีการออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามต่อไป ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. เป็นต้นไป ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการที่ถูกต้อง ชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกประการ

กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ได้ดำเนินการมาจนถึงขณะนี้ ยังอยู่ในชั้นของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราเพื่อเปิดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น ยังมิได้เข้าสู่ชั้นของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นก็ต่อเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา256 และเพิ่มหมวด 15/1) ใช้บังคับแล้ว

จากที่กล่าวมา พรรคก้าวไกลจึงขอให้สมาชิกรัฐสภาทุกคนยืนยันในอำนาจของสมาชิกรัฐสภาตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดไว้โดยร่วมกันผลักดันให้มีกระบวนการลงมติในวาระที่ 3 นี้เพื่อให้ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) ได้ผ่านกระบวนการขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญในส่วนของรัฐสภา และเข้าสู่ขั้นตอนการออกเสียงประชามติของประชาชน และเมื่อถึงเวลานั้น หากการออกเสียงประชามติเป็นไปโดยเสรีและเป็นธรรม ซึ่งเป็นการออกเสียงประชามติตามกระบวนการที่ถูกกำหนดใน ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. …. ที่สมาชิกรัฐสภาจะได้พิจารณาลงมติกันในการประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภานี้เช่นกันแล้ว

ไม่ว่าผลการออกเสียงประชามติจะเป็นอย่างไรนั้น สมาชิกรัฐสภาทุกคนย่อมยอมรับผลของกระบวนการประชามติที่เกิดขึ้น พรรคก้าวไกลหวังว่าสมาชิกรัฐสภาทุกท่านจะร่วมกันลงมติเห็นชอบต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เพื่อส่งต่ออำนาจไปให้ประชาชนได้ลงประชามติเห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่งต่ออนาคตให้ประชาชนได้กำหนดด้วยมือของพวกเขาเอง

ทั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตอีกด้วยว่า ที่ทางฝั่งพรรคก้าวไกลกลัวการลงประชามติ ถามใจคนไทยทั้งประเทศว่าเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น เป็นเพราะว่าในทุก ๆ ครั้งที่มีเรื่องเกี่ยวกับม็อบ และฝั่งของธนาธร จะมีการปลุกระดมกระแสในโซเซียล จนเหมือนเป็นพลังที่ล้นหลาม มีคนเห็นด้วยจำนวนมาก แต่ในความเป็นจริงผลลัพธ์จะออกมาอีกเรื่อง เพราะคนไทยทุกคนไม่ได้เห็นด้วยกับสิ่งที่พรรคก้าวไกลและนายธนาธรเคลื่อนไหวไปซะทุกอย่าง แต่เป็นแค่คนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ทางด้านนายนพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) ได้นำเสนอผลการศึกษา เรื่อง “ม็อบโซเชียลที่แปรเปลี่ยน กับ ความสุขประเทศไทยวัยที่แตกต่าง”

กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 14,650 ตัวอย่างในโลกโซเชียล และ “เสียงประชาชนในสังคมดั้งเดิม” จำนวน 1,405 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1 – 8 พ.ย. 2563  ที่ผ่านมา จากผลสำรวจในเรื่องแนวโน้มของการปลุกปั่นกระแสม็อบในโลกโซเชียลแปรเปลี่ยนไปในลักษณะที่ลดลง และพบว่ามีบัญชีมาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นไปได้สูงว่ากลุ่มม็อบ ที่กลุ่มที่เห็นด้วยกับนายธนาธร ได้มีการใช้วิธีการปั่นกระแสบนโลกโซเชียลจากบัญชีต่าง ๆ เพื่อหลอกลวงประชาชนจำนวนมาก ว่ามีคนเห็นด้วยในการที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมมนูญ อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ เราคงจะได้เห็นกันว่า ผลการลงประชามติจะออกมาในทิศทางไหน และนั่นคือเสียงแท้จริงของประชาชนที่ก๊วนก้าวไกลและนายธนาธร ปิยบุตร ต้องยอมรับว่าคนไทยตาสว่างจากการกระทำของคนกลุ่มนี้แล้ว