“นักวิชาการดัง” ด่าสนั่น สันดานชอบทำการทุจริต พร้อมฝาก “ธนาธร” ทวงคืนผืนป่า หลังประกาศ เตรียมยึดพัทยา

1432

ความจริง ที่ไม่ยอมบอก!? “นักวิชาการดัง” หวดยับ สันดานชอบทำการทุจริต พร้อมฝาก “ธนาธร” ทวงคืนผืนป่า หลังประกาศลั่น เตรียมยึดพัทยา!?

สืบเนื่องจากกรณีที่ทางด้านของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า

“ถึงเวลาทวงพัทยา คืนมาเป็นของทุกคน วันนี้เวลา 17.30 น. เป็นต้นไป เชิญชวนทุกท่านร่วมฟังวิสัยทัศน์ของแคนดิเดตนายกเมืองพัทยาของเรา พร้อมกับเปิดตัวทีมผู้สมัครสมาชิกสภาเมืองพัทยา (ส.ม.) ครบทุกเขต ที่ลานจอดรถเอกชนท่าเรือบาลีฮาย เมืองพัทยา และชมถ่ายทอดสดได้ที่ เพจเฟซบุ๊กคณะก้าวหน้า”

ต่อมาทางด้านของ นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระชื่อดัง ก็ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวในเรื่อง ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ดีจริงหรือ? ระบุว่า ก้าวหน้า-ก้าวไกล ของธนาธรและเดอะแก๊ง ประกาศรณรงค์นโยบายทวงคืนอำนาจสู่ท้องถิ่น

ด้วยยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค และการส่งเสริมการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งที่ความจริงประชาชนคนไทยมีส่วนร่วมในการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นของตนผ่านการเลือกตั้งนักการเมืองท้องถิ่นอยู่แล้ว ทวงคืนอำนาจทางการเมืองที่มีอยู่แล้วทำไม

พื้นที่ป่าไม้ซึ่งเป็นสมบัติของคนทั้งชาติที่ถูกบางคนบุกรุกและยึดครองอย่างผิดกฎหมายต่างหากที่ประชาชนควรทวงคืน การบริหารราชการส่วนกลาง ได้แก่ คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่สังกัดราชการส่วนกลาง ที่สามารถใช้อำนาจบริหารครอบคลุมทั่วประเทศ การบริหารราชการส่วนภูมิภาค คือการแบ่งอำนาจ (Deconcentration ) อันเนื่องมาจากข้อจำกัดของการรวมอำนาจในเรื่องของความล่าช้าและไม่ทั่วถึงทุกท้องที่พร้อมๆกัน

ราชการส่วนกลางจึงแบ่งมอบอำนาจการตัดสินใจทางการบริหารในบางเรื่องให้เจ้าหน้าที่ของราชการส่วนกลางที่ส่งไปประจำปฏิบัติหน้าที่ในภูมิภาค / เขตการปกครองต่างๆ (Field office) ให้สามารถปฏิบัติงานได้บรรลุตามนโยบายและวัตถุประสงค์ของราชการส่วนกลาง หน่วยในการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ได้แก่ จังหวัด สำหรับงานอำเภอ สำนักงาน(แรงงาน/คลัง/พาณิชย์/เกษตร/ขนส่ง/สัสดี)จังหวัด

การบริหารราชการราชการส่วนท้องถิ่น หมายถึง รูปแบบการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ตามหลักการกระจายอำนาจการปกครอง (Decentralization) เป็นวิธีการที่รัฐ / ราชการส่วนกลาง โอนอำนาจการปกครอง หรือ บริหารบางส่วนบางเรื่อง ที่เกี่ยวกับการจัดบริการสาธารณะให้องค์กรหรือนิติบุคคลอื่นรับไปดำเนินการแทน ภายในอาณาเขตของแต่ละท้องถิ่น

ด้วยงบประมาณและเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่น โดยมีอิสระพอสมควร ให้ประชาชนในท้องถิ่นไปดำเนินการปกครองตนเองอย่างอิสระ โดยที่ต้องไม่ขัดต่อกฎหมายของประเทศหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน ภายใต้กำกับดูแลจากราชการส่วนกลาง โดยมิใช่บังคับบัญชา

องค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยมี 2 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ 1. การปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป เป็นรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วประเทศทุกจังหวัด มี 3 ประเภท ได้แก่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 2. การปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ได้แก่ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา

วัตถุประสงค์หลักของการกระจายอำนาจการบริหารในส่วนภูมิภาคและการบริหารราชการท้องถิ่น มีลักษณะใกล้เคียงกัน ได้แก่ 1. เพื่อให้การดำเนินงานของรัฐ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดขั้นตอนการดำเนินการ อันเนื่องจากการล่าช้าในการตัดสินใจจากส่วนกลาง 2. เพื่อให้บริการต่างๆ สามารถตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น 3. เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนได้อย่างแท้จริง

ข้อแตกต่างระหว่างการบริหารราชการส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นคือ การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากกว่าการบริหารราชการส่วนภูมิภาคซึ่งรับคำสั่งจากส่วนกลาง ข้อดีของการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น

1.ถ้านักการเมืองส่วนท้องถิ่นปฏิบัติหน้าที่ซื่อสัตย์สุจริต จะมีการช่วยเหลือที่ทันท่วงทีไม่ต้องผ่านระบบซับซ้อนของส่วนกลาง 2.นักการเมืองท้องถิ่นอาจจะเข้าใจและทราบปัญหาที่แท้จริงของชาวบ้านได้มากกว่าข้าราชการส่วนภูมิภาคที่ถูกส่งมาจากส่วนกลาง 3.ประชาชนมีโอกาสเลือกคนที่ตนเองต้องการให้เข้ามาบริหารราชการ และลงโทษนักการเมืองท้องถิ่นที่ไม่ทำประโยชน์ด้วยการไม่เลือกให้เข้ามาบริหารราชการ

ข้อเสียของการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น 1. อาจเป็นการผูกขาดทางอำนาจให้แก่ผู้มีอิทธิพล ในพื้นที่ เช่น สังเกตจากนายก อบจ.หรือ อบต. ส่วนมากมีหน้าซ้ำๆ และมักเป็นคนในเครือของผู้ทรงอิทธิพลในพื้นที่ ซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอรัปชันได้ง่ายกว่าการบริหารราชการส่วนภูมิภาคที่มีข้าราชการจากส่วนกลางซึ่งมีการหมุนเวียนข้าราชการมารับตำแหน่งในพื้นที่ต่างๆ

3.ยากต่อการตรวจสอบ เพราะข้าราชการท้องถิ่นอาจเป็นคนในเครือข่ายผู้ทรงอิทธิพลในท้องถิ่นที่มักจะปกป้องผลประโยชน์ของตน และประชาชนในพื้นที่ก็อาจจะเกรงกลัวต่ออิทธิพลของผู้ทรงอิทธิพลในท้องถิ่นนั้นๆ

อย่าลืมว่า นักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศหรือระดับท้องถิ่น ถ้าเป็นคนดี มีความสามารถ ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ย่อมสร้างคุณูปการให้กับชาติและประชาชน แต่ความเป็นจริงในทางปฏิบัติตลอดเวลานับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา เรามีนักการเมืองที่เป็นคนดี มีความสามารถ ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ น้อยกว่านักการเมืองที่มุ่งกอบโกยผลประโยชน์ของชาติและชุมชนมาเป็นของตนและพรรคพวก

ดังนั้น ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ ….“ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค โดยให้มีเฉพาะการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น แล้วประเทศชาติจะวัฒนาสถาพร การทุจริตคอรัปชันจะหมดไป ประชาชนจะอยู่ดีกินดีมีความสุข” แต่ปัญหาอยู่ที่…

“นักการเมืองไทยส่วนใหญ่ เป็นผู้ไร้ความสามารถและมีสันดานชอบทำการทุจริตคอรัปชัน” ปัญหาคือ…1. ประเทศไทย หานักการเมืองที่เป็นคนดี มีความสามารถและซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ได้ยากเย็นเหลือเกิน 2. ประชาชนคนไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง เพราะฉะนั้น…สิ่งที่ต้องปฏิรูป คือ นักการเมือง และการศึกษาของประชาชน

มิใช่ การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่เหนือการเมืองและไม่มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน(อย่างแท้จริง) มิใช่ ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค หรือการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น เพราะไม่ว่าจะปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์หรือปฏิรูปการเมืองการปกครองอย่างไรก็ตาม

ถ้าหากไม่ปฏิรูปการศึกษาให้กับประชาชนได้มีความรู้ ความเข้าใจและมีความสามารถในการตัดสินใจเลือกผู้แทนราษฏรที่เป็นคนดี มีความสามารถและซื่อสัตย์ต่อหน้าที่แล้ว เราก็จะได้นักการเมืองที่ไร้ความสามารถและมีสันดานทุจริตคอรัปชันตลอดไป เหมือนกับตลอดเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นั้นเอง จริงหรือไม่ เขียนคำตอบลงในคอมเมนท์

อยากฝากธนาธรและปิยะบุตร ช่วยทวงคืนที่ดินที่ได้มาจากการบุกรุกป่า ดีกว่าการไปทวงคืนพัทยาหรือทวงคืนอำนาจส่วนท้องถิ่น ไปทวงอำนาจการปกครองท้องถิ่นซึ่งประชาชนมีอยู่แล้วให้เสียเวลาทำไม ไปชวนชาวบ้านทวงคืนพื้นที่ป่าซึ่งเป็นสมบัติของคนทั้งชาติที่ถูกครอบครัวมหาเศรษฐีฮุบเอาไปเป็นของตนหรือชวนกันผลักดันให้เจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบว่าผิดกฎหมายหรือไม่และผลักดันให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา จะดีกว่ามั้ย