ท่ามกลางการระบาดโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังไม่จบ ทำให้การค้า และกำลังซื้อผู้บริโภคยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง แม้ภาพรวมส่งออกจะยังหดตัว แต่สินค้าที่เกี่ยวโยงกับสถานการณ์โควิด-19 ได้อานิสงส์เป็นบวก ผลไม้สดแช่เย็น-แช่แข็ง, อาหารทะเลกระป๋อง, ยางพารา, ถุงมือยาง, มันสำปะหลัง(ทำแอลกอฮอล์) มีคำสั่งซื้อต่อเนื่อง กลุ่มขยายตัวติดลบ ได้แก่อัญมณีเครื่องประดับ, รถยนต์-ส่วนประกอบ เป็นต้น ส่วนข้าวยังพอมีลุ้น 3 เดือนสุดท้ายของปี แต่ผู้ส่งออกกังวลค่าเงินบาททำราคายังสูงกว่าคู่แข่งเวียดนาม ตลาดลูกค้าส่งออกหลัก สหรัฐ-จีนเป็นตัวยืน
สินค้าส่งออกสำคัญ-สินค้าจำเป็นรุ่ง, สินค้าฟุ่มเฟือยร่วง
-นายอมรพันธ์ อร่ามวัฒนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการกลุ่มซีแวร์ลู เผยทูน่ากระป๋องทำนิวไฮ ยอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ยอดขายทะลุเป้า 2.6 หมื่นล้านบาท
-นายหลักชัย กิตติพล นายกสมาคมยางพาราไทย เปิดเผยถุงมือยาง, ยางแท่ง, ยางแผ่น คำสั่งซื้อจากจีน, มาเลเซีย,เวียดนามมีต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี คาดสิ้นปีส่งออกได้ 3.8 ล้านตันมูลค่า 1.8 แสนล้านบาท
-นายบุญชัย ศรีชัยยงพานิช นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย เปิดเผยว่า จีนสั่งนำเข้าสูงสุดต่อเนื่องเพื่อนำไปผลิตแอลกอฮอล์ แต่ผลผลิตไม่พอส่งขายเพราะปัญหาภัยแล้ง โรคใบด่างและล่าสุดฝนตกชุก
-สินค้ากลุ่มขยายตัวติดลบ ในรอบ 7 เดือน(ม.ค.-ก.ค.63)ได่แก่กลุ่ม อัญมนีและเครื่องประดับ -43%, กลุ่มรถยนต์และส่วนประกอบ -33%, กลุ่มคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ -0.5%, เม็ดพลาสติก -20%, แผงวงจรไฟฟ้า -7%
ศูนย์วิจัยกสิกร-ภาพรวมยังหดตัว-สหรัฐเป็นตลาดหลัก
การส่งออกของไทยในเดือนส.ค. 2563 หดตัวร้อยละ 7.9 YoY ส่งผลให้ 8 เดือนแรกการส่งออกไทยหดตัวร้อยละ 7.8 YoY อย่างไรก็ดี หากหักสินค้าเกี่ยวกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธฯ การส่งออกไทยเดือนส.ค. 2563 จะหดตัวที่ร้อยละ 14.1 YoY ซึ่งเป็นอัตราที่เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวที่ร้อยละ 13.0 YoY โดยการส่งออกทองคำขยายตัวอย่างมากในเดือนส.ค. ที่ร้อยละ 71.5 YoY
ภาพรวม สินค้าประเภทอื่นทั้งสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รถยนต์ เครื่องจักรกล เหล็ก แผงวงจรไฟฟ้า เม็ดพลาสติก น้ำมันสำเร็จรูป ยางพารา ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ข้าว และน้ำตาลทราย ในขณะที่สินค้าที่การส่งออกยังคงขยายตัวได้ดียังคงเป็นสินค้ากลุ่มเดิมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (work from home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด รวมถึงอาหารบางประเภท อาทิ ถุงมือยาง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ทูน่ากระป๋อง อาหารสัตว์เลี้ยง ตู้เย็น ไมโครเวฟ เครื่องซักผ้า คอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เป็นต้น
ตลาดส่งออกของไทย พบว่า สหรัฐฯ เป็นเพียงตลาดหลักตลาดเดียวที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยขยายตัวเป็นบวกในเดือนส.ค. 2563 ที่ร้อยละ 15.2 YoY แต่ก็เติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่การส่งออกของไทยไปยังตลาดหลักอื่นๆ ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกไทยไปยังจีนหดตัวในอัตราที่เร่งขึ้นที่ร้อยละ 4.0 YoY ในเดือนส.ค. 2563 อันเป็นผลมาจากอุปสงค์ในจีนยังคงอ่อนแรง แม้ว่าเศรษฐกิจจีนโดยรวมจะมีการฟื้นตัว ประกอบได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย
ทิศทางการส่งออกไทยปี 2563 ยังเผชิญสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเสี่ยงสูง ประกอบกับทิศทางค่าเงินบาทที่มีความผันผวนอย่างมาก โดยสถานการณ์แพร่ระบาดยังคงมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเข้าใกล้ฤดูหนาว
ขณะนี้หลายประเทศในยุโรปก็เผชิญการแพร่ระบาดระลอกสองซึ่งดูเหมือนจะรุนแรงกว่าในรอบแรก ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลต่อการนำมาตรการล็อกดาวน์กลับมาใช้ นอกจากนี้ ประเด็นเบร็กซิท ที่มีแนวโน้มสูงว่าอังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลงในวันที่ 1 ม.ค. 2564 จะสร้างความผันผวนแก่ตลาดเงินโลก ขณะที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มที่จะยกระดับความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันการค้าโลกและเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้า
ดังนั้น ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของเศรษฐกิจโลก การส่งออกไทยน่าจะยังคงได้รับแรงกดดันจากอุปสงค์โลกที่มีแนวโน้มอ่อนแรงอยู่ ขณะที่การส่งออกทองคำจะยังคงเป็นตัวแปรสำคัญที่อาจส่งผลให้มูลค่าการส่งออกไทยมีความผันผวน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะยังคงติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยในระหว่างนี้ยังคงประมาณการการส่งออกไทยปี 2563 หดตัวที่ร้อยละ 12.0 ขณะที่มีความเป็นไปได้ที่มูลค่าการส่งออกไทยในปีนี้จะหดตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ดังกล่าว
หอการค้าไทย-จีนมองไตรมาสสุดท้ายมีโอกาสทรงตัวและดีขึ้น ห่วงการเมืองมีผลต่อการลงทุน
นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีนเปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย-จีน ไตรมาส 4/2563 ที่ได้จากการสำรวจความเห็นจาก คณะกรรมการกิตติมศักดิ์ คณะกรรมการบริหาร สมาชิกหอการค้า และ ผู้นำของสมาพันธ์หอการค้าไทยจีน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็ก กลางและใหญ่ ในช่วงกลางไตรมาส 3 ของปี 2563 เพื่อประเมินผลทางเศรษฐกิจไตรมาส 4 พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจจีนทั้งการค้าและการลงทุนไตรมาส 4 ปี 2563 จะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2563 ส่งผลให้การนำเข้าและส่งออกระหว่างไทยกับจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
สำหรับผลสำรวจไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 นักธุรกิจหอการค้าไทยจีนยังมีความเชื่อมั่นในธุรกิจออนไลน์ ธุรกิจพืชผลทางการเกษตร บริการสุขภาพ โลจิสติกส์ และธุรกิจสินค้า เกษตรแปรรูปที่ยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ในทางตรงกันข้าม ได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วนในธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง และภาคอุตสาหกรรมการผลิต
ส่งออกข้าวไทยมีลุ้น ต.ค.-ออสซี่และอาฟริกาเผชิญแล้ง
“ออสเตรเลีย” เผชิญแล้งผลผลิตข้าวหด ต้องนำเข้า ด้านคู่แข่งอินเดีย-ปากีสถาน สะดุดโควิดส่งมอบไม่ทัน สมาคมผู้ส่งออกข้าวคาดน่าจะเป็นโอกาสอันดีแต่ต้องรอลุ้นข่าวดีอีก 3 เดือนข้างหน้า
จากกรณีปัญหาภัยแล้งรุนแรงกระทบผลผลิตข้าวของประเทศออสเตรเลีย ชาวนาออสเตรเลียเก็บเกี่ยวข้าวได้เพียง 54,000 ตัน เทียบกับอัตราปกติ 800,000 ตัน ก่อนประเทศจะพบกับวิกฤตฝนแล้ง จากการรายงานของ The Daily Telegraph เปิดเผยคำให้สัมภาษณ์ ร็อบ กอร์ดอน (Rob Gordon) ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท SunRice ธุรกิจด้านอาหารชั้นนำของออสเตรเลียเตือนว่าชาวออสเตรเลียอาจหันมานำเข้าจากเวียดนามและไทยในไม่ช้า สาเหตุที่ออสเตรเลียมีข้าวไม่พอบริโภคเนื่องจากฝนที่ตกน้อยอากาศแห้งแล้ง ทำให้ตัวเลขการเก็บเกี่ยวลดลงมากกว่า 90% ตั้งแต่ปี 2017 บวกกับแรงซื้อกักตุนช่วงที่โควิด-19 ระบาดใหม่ๆ ทำให้การผลิตข้าวลดลง
ก่อนหน้านี้ ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย มองว่าประเทศผู้นำเข้าในแถบแอฟริกายังมีความต้องการนำเข้าข้าวจากไทยทั้งข้าวขาวและข้าวนึ่ง เพราะทั้งอินเดีย และปากีสถานต่างประสบปัญหาด้านลอจิสติกส์ทำให้ส่งมอบล่าช้า ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับอานิสงส์แต่ก็เป็นปริมาณที่ไม่มากนัก ในส่วนของการส่งออกข้าวหอมมะลิมีแนวโน้มชะลอลงเนื่องจากประเทศผู้นำเข้าได้นำเข้าไปเป็นจำนวนมากแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้มีสต็อกข้าวเพียงพอแล้ว
ด้านราคาข้าวของไทยในช่วงนี้ยังคงสูงกว่าประเทศคู่แข่งที่สำคัญ จากอุปทานข้าวในประเทศมีจำกัด และมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยทำให้ราคาข้าวภายในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง จึงส่งผลให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นและห่างจากคู่แข่งประมาณ 40-150 เหรียญสหรัฐฯ โดยเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 สมาคมฯประกาศราคาข้าวขาว 5% ที่ 525 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ขณะที่เว็บไซต์ Oryza.com รายงานราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน ที่ 485-489, 368-372 และ 393-397 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน