ภาคเอกชนมองธุรกิจยังไปต่อ!?! จับตาการเมือง หวังรัฐคุมสถานการณ์เร็วไม่ยืดเยื้อ ไม่กระทบเชื่อมั่น

2176

Covid-19 ทำเศรษฐกิจประเทศไทยหดตัวในช่วงการล็อกดาวน์ประเทศ แต่ด้วยการบริหารจัดการที่ดีของรัฐบาล และความร่วมใจของประชาชนไทยทุกภาคส่วนทำให้ ไทยประคับประคองกันได้ดีกว่าประเทศฝั่งตะวันตกและอีกหลายแห่งทั่วโลก  แต่ตอนนี้มีปัจจัยลบเพิ่มเข้ามาคือสถานการณ์ทางการเมือง ที่มีความพยายามก่อการชุมนุมด้วยเป้าหมายแอบแฝงบางอย่าง ทั้งๆที่สถานการณ์โดยรวมดีขึ้นทั้งการค้าการลงทุน และแนวโน้มเศรษฐกิจเงยหัว ภาครัฐและเอกชนยังมองว่าสามารถเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ แต่จับตาสถานการณ์การเมืองอย่างไม่ประมาททั้งในสภา-นอกสภา-การเคลื่อนไหวจากต่างประเทศ

ภาครัฐเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ-จับตาการเมืองส่งผล

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวถึงกรณีการชุมนุมทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ว่า ในส่วนของกระทรวงการคลังจะยังต้องเดินหน้าดูเรื่องศักยภาพและความมั่นคงของภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะวันนี้เศรษฐกิจไทยยังเจอผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่จางไป

“ถ้าผมเป็นนักธุรกิจผมก็ต้องทำธุรกิจของผมต่อไป ธุรกิจต้องเดินหน้าต่อ เพราะแต่ละวัน แต่ละนาที แต่ละวินาทีมันเป็นรายได้ของบริษัท ผมคงตอบแทนไม่ได้ว่าเรื่องนี้จะมีผลต่อความรู้สึก ความคิดของเขาอย่างไร” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงการคลังยังยืนยันภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2564 ยังเป็นไปตามเอกสารงบประมาณที่ 2.67 ล้านล้านบาทเหมือนเดิม โดยหลังจากนี้ต้องติดตามสถานการณ์ทุกเดือน ทุกไตรมาส ขณะนี้เพิ่งเริ่มต้นปีงบประมาณ จึงอยากดูสถานการณ์ก่อน ค่อยมาคุยกัน ซึ่งหลังจากนี้คลังจะมีการหารือกับหน่วยงานจัดเก็บรายได้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวด้วย

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองและการประท้วงที่เกิดขึ้นว่า ถ้าสถานการณ์สงบมีความนิ่งทางการเมือง เศรษฐกิจก็เดินต่อได้

ทั้งนี้ที่ผ่านมา สศช.ยังไม่ได้ประเมินความเสี่ยงทางการเมืองว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในปีนี้อย่างไร แต่เมื่อมีความเสี่ยงมากขึ้นก็ต้องจับตาดูว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจหรือไม่ โดยเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมาบ้านเมืองเราสงบ ช่วงก่อนโควิด-19 เศรษฐกิจก็เดินได้ระดับหนึ่งต้องมอนิเตอร์อีกทีตอนนี้ยังคงบอกอะไรไม่ได้ชัดเจนว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไร

เอกชนเชื่อมันดีขึ้น-ถ้าม๊อบยืดเยื้อ,โควิดยังอยู่ทำเสียโอกาส

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนกันยายน 2563 พบว่า ดัชนีมีการปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 32.5 โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4  มีปัจจัยมาจากความเชื่อมั่น หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 ใหม่ คาดการณ์ว่าจะติดลบทั้งปีที่ร้อยละ 7.8 จากเดิมคาดว่าจะติดลบร้อยละ 8.1 จากแนวโน้มของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะฟื้นตัว รัฐบาลดำเนินมาตรการดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในส่วนของภาคประชาชนและผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศยังคงทรงตัวจากเดือนที่ผ่านมา และราคาสินค้าเกษตรในภูมิภาคต่าง ๆ ปรับตัวดีขึ้น ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทยปรับตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ถือว่าดัชนียังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากยังคงเป็นห่วงสถานการณ์ทางการเมือง ตลอดจนการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนและประชาชนในกลุ่มต่าง ๆ อาจส่งผลกับประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทำให้การดำเนินชีวิตของประชาชนและการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมรวมถึงการส่งออกที่ยังคงปรับตัวลดลงจากสถานการณ์ค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่า 

ถ้ารัฐบาลบริหารสถานการณ์ดีไม่น่ากังวล

นายสุพันธ์ุ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรม (สอท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนยังไม่กังวลกับสถานการณ์การการชุมนุมทางการเมืองในขณะนี้มากนัก เพราะเหตุการณ์ยังไม่ยืดเยื้อรุนแรง

อย่างไรก็ตามอยากขอให้รัฐบาลติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอย่าให้เกิดความรุนแรงหรือถ้าเกิดขึ้นต้องระงับเหตุการณ์ให้ได้อย่างรวดเร็วอย่าให้เกิดเหตุการณ์ที่กระทบความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ หรือกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุน ทั้งนี้ปัจจัยทางการเมือง จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นหลัก ส่วนภาคอื่นๆ ให้น้ำหนักมาตรการดูแลของภาครัฐ เช่น การดูแลหนี้ เพิ่มสภาพคล่อง การจ้างงาน และการเพิ่มกำลังซื้อ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยภาคเอกชนยังประเมินว่า สถานการณ์ยังไม่น่ากังวลว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจ เพียงแต่ขอให้ทุกฝ่ายต้องใช้ความอดทน ไม่ใช้กำลัง และเฝ้าระวังไม่ให้มือที่สามเข้ามาแทรกแซงจนเกิดเหตุรุนแรง

“ส่วนที่ประเมินว่าจะนำไปสู่ความยืดเยื้อหรือไม่นั้นมองว่า อยู่ที่มีการสร้างความชอบธรรม​ และอยู่ที่ประเด็นนำเสนอ​ จะหาแนวร่วมประชาชนได้ไหม หรือเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม”

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า แม้สถานการณ์ชุมนุม ยืดเยื้อ แต่ถ้าไม่มีแนวร่วมเพิ่มและไม่แสดงออกด้วยความรุนแรงก็ยังเป็นวิถีความเห็นต่าง อย่างไรก็ตาม ที่น่ากังวลคือการใช้การสื่อสารผ่านคนรุ่นใหม่ที่มีทั้งความถูกต้องและไม่ถูกต้อง แต่รัฐคุมไม่ได้ เพราะการเปลี่ยนแปลง​ทางเทคโนโลยี​ที่เปิดกว้างเป็นดาบสองคม​ ถ้าใช้คมที่ถูกต้องก็เป็นประโยชน์​แต่ในอีกด้านอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความยุ่งยาก

ปัญหาการเมืองส่งผลการตัดสินใจลงทุนของต่างชาติ

-ภาคอุตสาหกรรม:นายธนิต โสรัตน์ รองประธานองค์กรนายจ้าง ผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า การชุมนุมทางการเมืองตลอดเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา เป็นเหตุผลหนึ่งให้ นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตอย่างต่อเนื่อง หลังไม่สามารถวางแผนการลงทุนที่ชัดเจน ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยน อีกทั้งระเบียบการลงทุนไม่จูงใจเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน

สอดคล้องข้อมูลเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดทุนไทย จนถึงขณะนี้ไม่น้อยกว่า 2.8 แสนล้านบาท และตลอด 8 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ มากกว่า 9 แสนล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นไทยลดลงที่ร้อยละ 25.6 ซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

-ภาคลงทุนตลาดฯ: นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้บริหารสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์เอเชีย พลัส วิเคราะห์ว่า การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกฯ ตั้งแต่เดือน ส.ค. ถึงปัจจุบัน ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของดัชนีหลักทรัพย์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 7.4 เม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลออกมากกว่า 3.8 หมื่นล้านบาท และเงินบาทอ่อนค่าลงร้อยละ 1.8 แต่เชื่อว่าการชุมนุมใหญ่ จะไม่รุนแรง

นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหารศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ตลาดเงินตลาดทุนได้รับรู้เรื่องการชุมนุมมาพอสมควร ส่วนใหญ่ตลาดจะคาดการณ์ล่วงหน้าและรอดูว่าจะเป็นอย่างไร ประธานกรรมการบริหารศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุด้วยว่า ผลกระทบแง่เศรษฐกิจจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อการชุมนุมกระทบการทำงานของภาครัฐ เช่น ปิดล้อมสถานที่สำคัญจนทำงานไม่ได้ หรือกระทบการเบิกจ่ายงบประมาณ อีกส่วนคือกระทบกับการดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจในพื้นที่ เช่น ทำการค้าไม่ได้ ประชาชนไม่สามารถออกบ้านได้ ที่น่าห่วงคือ การชุมนุมจะบานปลายจนเกิด 2 ปัจจัยนี้หรือไม่ หากเกิดขึ้นจะถือว่ากระทบกับเศรษฐกิจค่อนข้างมาก