ไฟขัดแย้งคุโชนใกล้บ้าน?? อิหร่านแก้เกี้ยวอินโดนีเซียยึดเรือบรรทุกน้ำมัน จับได้ลอบค้ากับจีนฐานถูกคว่ำบาตรศก.จากสหรัฐ

2201

จีน-อินโดนีเซีย พัวพันปะทะกันในทะเลจีนใต้เพราะพิพาทหมู่เกาะนาทูน่าและปัญหาการประมงชายฝั่งอยู่เนืองๆ  ล่าสุดอิหร่านถูกจับได้ลอบค้าน้ำมันในน่านน้ำอินโดนีเซีย พบเรือปานามาที่เจ้าของเป็นจีนสงสัยเตรียมรับถ่ายน้ำมันร่วมด้วย ทำความสัมพันธ์จีน-อินโดนีเซียยากประสาน ส่งผลเพิ่มความตึงเครียดในน่านน้ำทะเลจีนใต้ที่พยายามรักษาบทบาทความเป็นกลางไม่เลือกข้างเปราะบางมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยิ่งทำให้สหรัฐมีข้ออ้างกดดันจีนมากขึ้นในการอ้างความชอบธรรมต้านอิทธิพลจีนในย่านนี้

วันที่ 25 ม.ค.2564 ซาเอ็ด คาติบซาเดห์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศอิหร่านแถลงว่า การยึดเรือเป็นเรื่องทางเทคนิคและเกิดขึ้นในเส้นทางเดินเรือ องค์การท่าเรืออิหร่านและบริษัทเจ้าของเรือกำลังหาสาเหตุและหาทางแก้ไข

“ขณะนี้มีรายงานที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับการยึดเรือบรรทุกน้ำมันดังกล่าว และเรากำลังขอข้อมูลเพิ่มเติมจากอินโดนีเซีย”

ทั้งนี้ สำนักงานความมั่นคงทางทะเลแห่งอินโดนีเซียได้ประกาศว่า ทางการอินโดนีเซียได้ยึดเรือบรรทุกน้ำมันจากอิหร่านและปานามา เนื่องจากต้องสงสัยว่าอาจมีการลักลอบขนถ่ายน้ำมันอย่างผิดกฎหมายในน่านน้ำของอินโดนีเซีย

วิสนุ ปรามันดิตา โฆษกหน่วยยามฝั่งอินโดนีเซียแถลงว่า ตรวจพบเรือบรรทุกน้ำมันดิบ 2 ลำ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 ม.ค.2564 เวลา 05.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น บริเวณนอกชายฝั่งของจังหวัดกาลิมันตันบนเกาะบอร์เนียวของอินโดนีเซีย โดยเรือบรรทุกน้ำมันเอ็มที ฮอร์ส ติดธงชาติอิหร่าน และเรือบรรทุกน้ำมันเอ็มที เฟรยา ติดธงชาติปานามา ต่อมาเจ้าหน้าที่เข้ายึดเรือทั้งสองลำ หลังลูกเรือไม่ตอบรับการติดต่อทางวิทยุของเจ้าหน้าที่

สำนักงานความปลอดภัยทางทะเลของอินโดนีเซียแถลงว่า ลูกเรือทั้ง 2 ลำตกเป็นผู้ต้องสงสัยกระทำความผิดหลายข้อ รวมถึงไม่มีการแสดงธงชาติบนเรือ, ปิดระบบแสดงตนอัตโนมัติบนเรือเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจพบ และขนถ่ายน้ำมันผิดกฎหมาย

เผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวันจันทร์ว่า จับเรือบรรทุกน้ำมัน 2 ลำนี้ได้อย่างคาหนังคาเขา ขณะเรือเอ็มที ฮอร์ส กำลังขนถ่ายน้ำมันลงเรือเอ็มที เฟรยา และมีคราบน้ำมันลอยอยู่รอบเรือที่ได้รับน้ำมัน เรือทั้งสองลำมีลูกเรือทั้งหมด 61 คน  เป็นชาวอิหร่านและชาวจีน เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไว้เพื่อสอบสวน นำเรือบรรทุกน้ำมันทั้งสองลำไปที่เกาะบาตัมในจังหวัดรีเยา   

จากข้อมูลของเรฟินิทีฟ ไอคอน ที่ให้ข้อมูลการขนส่งสินค้าทางเรือ ระบุว่า เรือบรรทุกน้ำมันทั้งสองลำนี้บรรจุน้ำมันได้ลำละ 2 ล้านบาร์เรล ตรวจสอบล่าสุดพบเรือทั้งสองลำอยู่ที่นอกชายฝั่งสิงคโปร์เมื่อต้นเดือนนี้ เรือเอ็มที ฮอร์ส เจ้าของคือบริษัทเรือบรรทุกน้ำมันแห่งชาติอิหร่าน มีน้ำมันเกือบเต็มเรือ ส่วนเรือเอ็มที เฟรยา เดินเรือโดยบริษัท เซี่ยงไฮ้ ฟิวเจอร์ ชิพ แมเนจเมนต์ เป็นเรือเปล่ายังไม่ได้บรรทุกน้ำมัน

ภายใต้การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐฝ่ายเดียว ทำให้อิหร่านต้องดิ้นรนค้าน้ำมันซึ่งเป็นสินค้าหลักสร้างรายได้เข้าประเทศ  ปีที่แล้ว(2563) เรือเอ็มที ฮอร์สรอดการถูกยึดจากสหรัฐและสามารถขนส่งน้ำมันจำนวน 2.1 ล้านบาเรลไปยังเวเนซูเอลาได้ แต่วันนี้มาถูกจับได้ที่น่านน้ำอินโดนีเซีย 

จีนกับอินโดนีเซียมีเหตุกระทบกระทั่งกันแรงๆหลายครั้ง ในเรื่องข้อพิพาทน่านน้ำทะเลจีนใต้ ครั้งที่โด่งดังที่สุดกรณีหมู่เกาะนาทูน่า ครั้งต้นเดือนมกราคม 2563 เกิดเหตุการณ์ที่ จีน นำกองเรือประมงเข้าไปทำการจับปลาในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของอินโดนีเซีย บริเวณตอนเหนือเกาะ Natuna หรือทะเล Natuna เหนือ เลยเส้นละติจูดที่ 5 เข้ามาในเขตน่านน้ำของอินโดนีเซีย ซึ่งจีนถือว่าอยู่ในเขตเส้นประที่ 9 ของทะเลจีนใต้ นำไปสู่การเตรียมพร้อมเต็มกำลังของกองทัพเรืออินโดนีเซีย การประท้วงของรัฐบาลอินโดนีเซีย การเรียกทูตจีนประจำจาการ์ตาร์เข้าชี้แจง นับเป็นความตึงเครียดครั้งใหญ่ในเรื่องเขตน่านน้ำบริเวณเกาะดังกล่าว หลังจากเคยมีกรณีที่ อินโดนีเซีย ยิงเรือประมงจีนที่รุกล้ำเข้ามาบริเวณดังกล่าวมาแล้วเมื่อปี 2016