ตู่ผู้รักเจ้า! ประกาศลาออกปธ.นปช.ถ้าณัฐวุฒิร่วมม็อบจาบจ้วงสถาบัน?!? คนหนึ่งเปลี่ยนเป็นจิตอาสา-อีกคนได้อภัยโทษไม่สำนึก?
จากกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ได้ออกมาพูดถึงนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ว่า “ในวันใด ที่ณัฐวุฒิ ไปยืนหยัดเคียงข้าง กลับบรรดาน้องๆนักศึกษาคณะราษฎร เฉกเช่นในสมรภูมิเดียวกัน กับอานนท์ นำภา ไมค์ ไผ่ รุ้ง และเพนกวิน รวมทั้งคนอื่น เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าได้ยืนหยัดเคียงข้าง เหมือนที่ณัฐวุฒิได้ยืนหยัดเคียงข้างกับผมในปี 53 วันไหนก็วันนั้น
ผมจะประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานนปช แล้วก็ยกให้ณัฐวุฒิไป ส่วนจะมีกระบวนการอย่างไรก็ว่ากัน แต่ว่านี่เป็นคำมั่นสัญญา ว่าวันใดเป็นที่ประจักษ์ชัด ว่าณัฐวุฒิได้ไปร่วมต่อสู้กับคนหนุ่มสาว อย่างที่ผมเคยอยู่ในเหตุการณ์พฤษภา 35 เพราะฉะนั้นผมไม่ต้องการให้เกิดปัญหาทางความรู้สึกว่าใครสู้มากกว่ากัน แต่เป็นความปรารถนาดีของพี่ชายคนหนึ่งถึงน้องชาย เอาง่ายๆไม่สลับซับซ้อนเพราะว่าผมเป็นคนตรงไปตรงมา คำว่ายืนหยัดเคียงข้าง ไม่ทิ้งกัน เป็นคำที่มีความหมายมาก เพราะฉะนั้นวันใดที่ณัฐวุฒิอยู่บนสนามของคนหนุ่มสาวคณะราษฎร ร่วมกับอานนท์ นำภาและคณะ ผมจะลาออกจากประธานนปช.ให้โดยทันที และมอบให้ณัฐวุฒิรับภารกิจนี้ไป”
ย้อนไปในปี 2562 ความคิดของ นายจตุพร ได้เปลี่ยนไป หลังจากพ้นโทษในความผิดหมิ่นประมาท นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ในการขึ้นเวทีชุมนุมกลุ่มนปช.เสื้อแดง เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม และ 17 ตุลาคม 2552 ปราศรัยกล่าวหานายอภิสิทธิ์ ประวิงเวลาในการทำความเห็นเสนอต่อสำนักราชเลขาธิการ เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ นายทักษิณ ชินวัตร ตามที่กลุ่มเสื้อแดงร่วมกันลงชื่อถวายฎีกา รวมทั้งกล่าวหานายอภิสิทธิ์ สื่อความในลักษณะใส่ร้ายว่าเป็นฆาตกรสั่งฆ่าประชาชน ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง
มุมมองของนายจตุพรที่แม้จะคงความเป็นผู้นำมวลชนคนเสื้อแดง เรื่องจุดยืนการเมือง ทั้งการต่อต้านรัฐประหาร และการบริหารประเทศโดยคสช. แต่องค์ประกอบทางความคิดหรือแนววิธีการนำเสนอความคิด กลับเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน เมื่อปรากฎภาพของนายจตุพร สวมเสื้อสีเหลืองเป็นจิตอาสา พร้อมทั้งกับเปิดใจว่า ผมไม่เคยคิดถึงระบอบอื่น ผมมีความเชื่ออย่างเดียว คือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นพระประมุข และผมก็ยึดแนวทางนี้มาโดยตลอด แต่ว่าการต่อสู้ในช่วงนับสิบกว่าปีที่ผ่านมา เรามีความแตกต่างกันทางความคิด ผมพยายามจะร้องขอว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างระหว่างกันนั้นก็ยังดำรงอยู่ต่อไปได้ แต่ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์นั้น จะต้องเทิดไว้เหนือหัว
ในแก่นแท้ของผม หากไปที่บ้านผมเนี่ย บูรพมหากษัตริย์ของไทยแทบทุกพระองค์ที่เป็นมหาราช มีพระบรมรูปเต็มบ้าน และไม่ใช่เพิ่งจะมี มีมานานแล้ว และผมก็ปฏิบัติเฉกเช่นนี้มานาน เวลานายทหารมาที่บ้านในช่วง 5 ปีนี้ ผมก็พาไปกราบบูรพกษัตริย์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เพียงแต่ว่าเราได้ถูกปักใจเชื่อ ว่าเป็นคนเช่นนี้ ทั้งที่ตัวเราก็ไม่ได้เป็นตามข้อกล่าวหา คิดกันไปเอง ผมก็เป็นแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก และก็ยืนหยัด ไม่เปลี่ยนแปลง
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือผมได้ผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองมากว่า 30 ปี ผมเองก็แลเห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ กับ ประเทศไทยนั้นเป็นของคู่กัน เพราะฉะนั้นการสมัครเป็นจิตอาสา ก็เพราะอยากเป็นคนไทยคนหนึ่งที่อยากจะร่วมทำความดี ตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าแผ่นดิน ถือว่าเป็นภารกิจของคนไทย และได้น้อมนำพระกระแสรับสั่งมาปฏิบัติ
อย่างไรก็ตาม ตอนที่มีการชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่มคณะราษฎรที่มีการชู 3 ข้อเรียกร้อง ให้นายกฯลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบัน แต่แนวทางการเคลื่อนไหวและท่าทีของกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น หลายคนมองว่าเป็นการล้มล้างสถาบัน โดยมีการพุ่งเป้าโจมตีไปที่สถาบันอย่างชัดเจน โดยทางด้านนายจตุพรก็ได้ออกมาบอกว่า การต่อสู้การแสดงออกของคนหนุ่มสาวของประเทศที่มีอนาคต ผู้มีอำนาจต้องมองด้วยภาวะการณ์ปกติ เพราะหากมองว่าเป็นภัยคุกคามที่จะต้องกำจัดนั้นสุดท้ายแล้วเหตุการณ์จะลุกลามบานปลาย ประชาชน ซึ่งเป็นพ่อแม่ของนักศึกษาทนไม่ได้ก็จะออกมา ฝากไปถึงผู้ชุมนุมว่า ข้อเรียกร้องของบรรดาคนหนุ่มสาว 3 ข้อนั้น ก็ต้องยึดกุมให้แข็งแรงและที่สำคัญต้องไม่ไปก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะจะทำให้เป็นจุดอ่อนโดยฉับพลัน
โดยก่อนวันที่ 14 ตุลาคม ที่จะมีการชุมนุมของกลุ่มราษฎร ซึ่งเป็นวันที่ตรงกับที่จะมีขบวนเสด็จ ที่ได้เกิดเหตุการณ์ที่นายเอกชัย หงส์กังวานและพรรคพวกได้ปิดล้อมขบวนเสด็จ นายจตุพรก็ได้ออกมาเตือนว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองในวันที่ 14 ต.ค. เป็นไปด้วยความยากลำบาก เมื่อมีขบวนเสด็จไปพระบรมมหาราชวัง แน่นอนที่สุดประชาชนสองข้างทางจะถวายการต้อนรับ เปล่งเสียงทรงพระเจริญ อีกอย่างการพยายามอธิบายว่า ผู้ชุมนุมจะเปิดเส้นทางเสด็จ แต่ชู 3 นิ้วนั้น ภูมิรัฐศาสตร์แบบนี้เป็นปัญหาแล้ว เพราะคนจะเต็มถนนราชดำเนินเพื่อมารับเสด็จ สิ่งที่เสนอนั้นคือ ลดข้อเรียกร้องเหลือข้อเดียวไล่ พล.อ.ประยุทธ์ แล้วเปลี่ยนวันชุมนุมใหม่ แม้ผู้จัดชุมนุมไม่ฟังหรือไม่เอาตามข้อเสนอก็ตาม แต่อีก 2 วันจะได้พิสูจน์ความจริงในความห่วงใยของตน
โดยทางด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หลังจากได้ลดโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ 2563 นายณัฐวุฒิ ได้รับลดโทษตามสัดส่วน จนกระทั่งเข้าสู่หลักเกณฑ์การพักโทษ จากนั้นจะมีการนำตัวไปติดกำไลอีเอ็ม เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการคุมประพฤติ จนกระทั่งล่าสุด ได้ถอดกำไลอีเอ็ม เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ก็ได้ออกมาแถลงทันทีว่า ขอยืนข้างม็อบราษฎร พร้อมปฏิเสธข้อกล่าวหาบิดเบือนให้ร้ายป้ายสีว่าการแสดงท่าทีเช่นนี้หมายถึงการมุ่งร้าย หมายถึงการโค่นล้มทำลายสถาบันฯ
อย่างไรก็ตาม ท่าทีของนายจตุพรและนายณัฐวุฒิ ซึ่งวันนี้แสดงให้เห็นแล้วว่า ต่างคนต่างยืนอยู่กันคนละฝ่าย เดินกันคนละทางแน่นอนแล้ว ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จุดยืนในเรื่องสถาบัน ที่วันนี้คนไทยได้รู้คำตอบแล้วว่า ใครสำนึกและใครกำลังเนรคุณ???