ตำรวจสั่งฟ้องเอกชัย-4ผตห.คดีขวางขบวนเสด็จฯ ลุ้นอัยการฯ ขณะพบความผิดโทษหนัก

7934

จากที่เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2564  ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก นายเอกชัย หงส์กังวาน, นายบุญเกื้อหนุน เป้าทอง นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และนายสุรนาถ แป้นประเสริฐ หรือตัน ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง (Active Youth)

ทั้งนี้ทั้งสามคน เป็นสามผู้ต้องหา ที่ถูกแจ้งข้อหาประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินีฯ ตาม ป.อาญา ม.110 กับข้อหามั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ และกีดขวางการจราจรฯ กรณีชุมนุมใกล้ขบวนเสด็จพระราชินีเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 เดินทางมาตามที่ตำรวจนัดส่งตัวพร้อมสำนวนคดีต่ออัยการ อย่างไรก็ตาม คดียังมีผู้ต้องหาเพิ่มเติมอีก 2 คนภายหลัง รวมเป็นทั้งหมด 5 คน

ขณะที่ นายเอกชัย เปิดเผยว่า ตำรวจนัดส่งตัวพร้อมสำนวนให้อัยการพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ โดยภายหลังตนออกจากเรือนจำ ตำรวจได้เรียกไปรับทราบข้อหาเพิ่มเติม คือข้อหากีดขวางจราจรฯ และมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ รวม 3 ข้อหา เช่นเดียวกับนายบุญเกื้อหนุนและนายสุรนาถ ส่วนผู้ต้องหาอีก 2 คนที่เพิ่มเติมนั้น โดนหมายเรียกรับทราบข้อหาประมาณปลายเดือน พ.ย. 2563 ตนไม่รู้จัก อย่างไรก็ตาม ได้รับแจ้งจากทนายความว่าทั้ง 2 คน ขอเลื่อนนัดไปก่อน

ด้าน นายบุญเกื้อหนุน เปิดเผยถึงเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุว่า ตำรวจนำรถมาปิดล้อมสะพานชมัยมรุเชฐ สักพักมีตำรวจสองกองร้อยตั้งแถว ไม่มีใครพูดเลยว่าจะมีขบวนเสด็จมา ทุกคนคิดว่าจะสลายการชุมนุมหรือเปล่า ตนเลยยืนข้างหน้า ถ้ามีอะไรก็โดนตนก่อน ประชาชนโดนช้ากว่า ตำรวจก็คล้องแขนตั้งเป็นสามเหลี่ยมพุ่งเข้ามาเลย ผู้ชุมนุมก็เข้ามาปิดทางตำรวจ พอรู้ว่ามีขบวนเสด็จมาข้างหลัง ตนมีโทรโข่งก็บอกให้ผู้ชุมนุมถอน เราไม่ได้ยืนตรงนั้นนานอยู่แล้ว ถอยมาให้มีอากาศหายใจ

“หลังจากนั้นก็ได้รับหมายจับคดี ม.110 เป็นคดีอาญาครั้งแรกในชีวิตและแรงที่สุด การใช้ ม.110 เป็นการใช้กฎหมายรุนแรงเกินกว่าเหตุ การยืนไม่เกิน 2-3 เมตร จากรถของพระราชินี แล้วมาบอกประทุษร้าย ทั้งที่ตนไม่มีอาวุธ ไม่ทำร้ายพระองค์อยู่แล้ว ไม่รู้ว่าจะผ่านตรงนั้น เป็นการที่รัฐบาลหรือใครที่เกี่ยวข้องวางแผนอยู่แล้ว ใช้เป็นเหตุผลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง” นายบุญเกื้อหนุน กล่าว

อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ทราบชื่อผู้ต้องหาอีก 2 ราย คือนายชนาธิป ชัยชะยางกูร และนายภาณุภัทร ไผ่เกาะ ภูมิลำเนา จังหวัดนครราชสีมา ถูกแจ้ง 3 ข้อหาเช่นเดียวกัน ได้ขอเลื่อนนัดส่งตัวพร้อมสำนวน เนื่องจากไม่ได้รับหมายจากพนักงานสอบสวน และตัวอยู่ต่างจังหวัด จึงไม่สะดวกเดินทางมาในวันนี้ ดังนั้น พนักงานอัยการจึงให้เลื่อนนัดส่งสำนวนคดีนี้ออกไปก่อน โดยให้พนักงานสอบสวนนัดหมายในครั้งหน้าใหม่ เรื่องวันเวลาจะแจ้งผ่านทนายความอีกครั้ง

ล่าสุดวันนี้ 28 มกราคม 2564 นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) และอดีตทนายความกลุ่มนปช. ได้ออกมาโพสต์ข้อความ

#คดีประวัติศาสตร์อันเกิดจากการถวายอารักขา คดี ป.อ.มาตรา 110

พนักงานสอบสวนสน.ดุสิต (โดยคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนตั้งขึ้นคำสั่ง ผบ.ชน.) สรุปความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่อ้างว่า มีการจัดกิจกรรมในทางสัญจรซึ่งต่อมามีขบวนเสด็จผ่านมา แล้วมีประชาชนหลายคน มีการยืนชู 3 นิ้ว  ซึ่งมีเพียง 5 คน ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า

“ร่วมกันพยายามประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ, กระทำการอันมีลักษณะเป็นการกีดขวางการจราจรและโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมาย จนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยฯหรือความสะดวกในการจราจร

วันนี้(28ม.ค.64) เวลา 10:00 น. พนักงานสอบสวนจะนำตัวผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ส่งตัวพร้อมสำนวนสอบสวนและความเห็นสั่งฟ้องคดีต่อพนักงานอัยการการ สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก

วันนี้เมื่ออัยการรับสำนวนแล้วก็จะนัดหมายมาฟังคำสั่งภายใน 30 วัน ว่าสั่งฟ้องหรือไม่ แต่หากมีการขอความเป็นธรรมหรืออัยการสั่งสอบสวนเพิ่มเติม ก็จะต้องให้ความเป็นธรรมหรือสอบสวนแล้วแต่กรณี ตามระเบียบของอัยการต่อไปครับ”

สำหรับ มาตรา 110 อยู่ในประมวลกฎหมายอาญาของไทยมากว่า 60 ปีแล้ว โดยระบุฐานความผิดไว้ว่า ผู้ใดกระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือ เสรีภาพของพระราชินีหรือ รัชทายาท หรือ ต่อร่างกายหรือ เสรีภาพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือ จำคุกตั้งแต่สิบหกปีถึงยี่สิบปี (16ปี-20ปี)

“ผู้ใดพยายามกระทำการเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน ถ้าการกระทำนั้นมีลักษณะอันน่าจะเป็นอันตรายแก่พระชนม์หรือชีวิต ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

ผู้ใดกระทำการใดอันเป็นการตระเตรียมเพื่อประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือรู้ว่ามีผู้จะประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือประทุษร้ายต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบสองปีถึงยี่สิบปี (12ปี-20ปี)