สหรัฐแซะจีนใช้อิทธิพลหยุดรัฐบาลพม่า?!? จีนตอกกลับนิ่มๆคว่ำบาตรซ้ำเติมปัญหา หนุนอาเซียนเจรจาคลี่คลาย

2734

สหรัฐไล่บี้จีนในทุกมิติ ในที่ประชุมของคณะมนตรีสหประชาชาติ สหรัฐขอให้จีนใช้อิทธิพลจัดการผู้รับผิดชอบยึดอำนาจในพม่า เจอปักกิ่งตอบนิ่มๆ ว่าไม่ใช่วิธีที่สร้างสรรค์ สร้างปัญหาซับซ้อนมากกว่าช่วยแก้ปัญหา ขณะที่อาเซียนหลายชาติหารือในระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศแบบเห็นหน้าในแดนมังกรภายในสัปดาห์นี้

สำนักข่าวรอยเตอร์, เอเอพี. รายงานเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2564 ว่ากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกร้องจีนควรใช้อิทธิพลจัดการกับพวกอยู่เบื้องหลังรัฐประหารในพม่าเมื่อวันพุธ (31 มี.ค.) พร้อมระบุความรุนแรงในประเทศแห่งนี้ไม่เป็นประโยชน์กับปักกิ่ง อย่างไรก็ตาม ทางพญามังกรตอบกลับแบบนิ่มๆ บอกต้องการเห็นพม่าเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย แต่ไม่ขอคว่ำบาตรใดๆ ต่อพันธมิตรแห่งนี้เพราะมีแต่จะสร้างปัญหาให้ซับซ้อนกว่าเดิม

พม่าตกอยู่ท่ามกลางความยุ่งเหยิงนับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจ โค่นอำนาจรัฐบาลของนางอองซานซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพซึ่งถูกตะวันตกประกาศยึดคืนไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จากนั้นก็ควบคุมตัวเธอและพวก  ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจัดระเบียบประเทศ ภายใต้รัฐบาลกลางที่กองทัพสนับสนุน เรียกว่า สภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council : SAC) หรือชื่อย่อตามตัวอักษรพม่าว่า “นะ ซะ ก๊ะ” 

การประท้วงต่อต้านการยึดอำนาจ มีพลเมืองแล้วอย่างน้อย 512 รายเสียชีวิต จำนวน 141 รายเสียชีวิตในวันเดียวจากหลายสถานที่ เมื่อวันเสาร์ที่ 27 มี.ค. ซึ่งถือเป็นวันนองเลือดที่สุด นับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจ

และล่าสุดสหรัฐก็ยื่นปากมาป้ายสีจีนกลายๆ

เนด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวระหว่างแถลงสรุปประจำวันว่า “แน่นอน เรายังคงเรียกร้องจีน เรียกร้องรัฐบาลในปักกิ่ง ใช้อิทธิพลของพวกเขาจัดการกับพวกที่อยู่เบื้องหลังรัฐประหารครั้งนี้”  “สิ่งที่คณะรัฐประหารทำในพม่า ไม่เป็นประโยชน์กับสหรัฐฯ ไม่เป็นประโยชน์กับคู่หูและพันธมิตรของเรา และไม่เป็นประโยชน์กับปักกิ่งเช่นกัน”

ไพรซ์ยังกล่าวอีกว่า “ประเทศที่พวกเขามีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและทางยุทธศาสตร์อย่างมหาศาล และบ่อยครั้งที่สนับสนุนจุดยืนของรัฐบาลพม่า สวนทางกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชาติตะวันตก”

น้ำเสียงประโยคหลังดูจะอิจฉาริษยามากกว่าเป็นห่วงพม่า

แน่นอนทุกสายตาพุ่งเป้ามาที่จีน เพราะมีความใกล้ชิดกับเมียนมามาไม่น้อยแม้ในสมัยรัฐบาลของนางอองซาน ซูจี และเมื่อเกิดการยึดอำนาจโดยกองทัพเมียนมา สหรัฐฯพยายามย้ำว่าจีนเป็นผู้หนุนหลัง ใช้สื่อในมือโหมกระพือข่าวแบบเดียวกับที่อดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์พูดป้ายสีว่า ประเทศจีนเป็นต้นตอของการระบาดไวรัสโควิด-19 ปลุกความเกลียดกลัวคนต่างเชื้อชาติ ต่างผิวสีในสหรัฐก่อปัญหาเป็นอาชญากรรม ปมใหม่ที่ปธน.โจ ไบเดนยังไม่มีทีท่าว่าจะมีปัญญาแก้ไขได้หรือไม่อย่างไร? แม้ว่าหน่วยงานต่างๆออกมายืนยันว่าไม่ใช่ ขนาดWHO เข้าไปตรวจสอบได้ข้อสรุปมาว่าจีนไม่ได้เป็นต้นตอก็ยังปฏิเสธว่า ไม่จริง ทั้งหมดล้วนมาจากนโยบายต่อต้านจีน ภายใต้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก

บรรดาชาติตะวันตกนำโดยสหรัฐต่างประณามอย่างรุนแรงต่อการยึดอำนาจ แต่จีนแสดงท่าทีอย่างระมัดระวัง พยายามเน้นย้ำถึงความสำคัญของเสถียรภาพของเมียนมา

การประท้วงต่อต้านการยึดอำนาจดึงดูดผู้ชุมนุมหลายหมื่นคนลงสู่ท้องถนนสายต่างๆ และบางครั้งมีการรวมตัวบริเวณด้านนอกสถานทูตจีนในย่างกุ้ง โดยผู้ประท้วงกล่าวหาปักกิ่งให้การสนับสนุนคณะรัฐประหาร มีข่าวลือแพร่ระบาดบนสื่อสังคมออนไลน์ว่าจีนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร แต่ปักกิ่งปฏิเสธโดยสิ้นเชิง ระบุมันไร้สาระสิ้นดี

อย่างไรก็ตาม ในวันพุธ31 มี.ค.ระหว่างประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ จีนบอกว่าต้องการเห็นการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในพม่าที่ปกครองโดยรัฐบาลที่ชอบธรรม และยืนยันปฏิเสธกำหนดมาตรการคว่ำบาตร

เฉิน ซู่ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรของจีนประจำสำนักงานสหประชาชาติ ณ กรุงเจนีวากล่าวว่า “จีนหวังว่าพม่าจะคืนสู่สันติภาพ เสถียรภาพ และระบอบรัฐธรรมนูญ อย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และสานต่อความก้าวหน้าในกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอย่างมั่นคง” 

“การธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพในพม่า คือผลประโยชน์ร่วมของประชาคมนานาชาติ หากพม่าดำดิ่งสู่ความยุ่งเหยิงยืดเยื้อ มันจะเป็นหายนะสำหรับพม่าและเป็นหายนะของทั้งภูมิภาค”

ซ้ำยังยืนยันว่า“แรงกดดันฝ่ายเดียวและเสียงเรียกร้องให้คว่ำบาตร หรือใช้มาตรการบีบบังคับอื่นๆ รังแต่จะซ้ำเติมความตึงเครียดและการเผชิญหน้า ขณะเดียวกันมันยังจะก่อความซับซ้อนแก่สถานการณ์เพิ่มเติม ซึ่งไม่ใช่วิธีการที่สร้างสรรค์” 

เอกอัครราชทูตจีนยังกล่าวอีกว่า

“เราหวังว่าทุกฝ่ายในพม่าจะอยู่ในความสงบ อดทนอดกลั้น และดำเนินการต่างๆ ในทัศนคติที่สร้างสรรค์เพื่อลดความตึงเครียด และผ่อนปรนสถานการณ์ให้เย็นลง” เขากล่าวว่า “ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวพม่าควรได้รับการปกป้อง พลเมืองและธุรกิจต่างชาติควรได้รับการปกป้อง การโจมตีใดๆ เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้”

นอกจากนี้แล้ว จีนได้เรียกร้องให้ปกป้องบรรดาธุรกิจต่างชาติทั้งหลาย หลังจากก่อนหน้านี้โรงงานของจีนหลายสิบแห่งในพม่าถูกจุดไฟเผา ทั้งๆที่ธุรกิจต่างชาติในพม่าไม่ได้มีเพียงของจีน ยังมีของสหรัฐ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ การที่กลุ่มประท้วงพุ่งเป้าปล้น เผา ทำลายทรัพย์สินเฉพาะกิจการของจีนจึงไม่ใช่เหตุการณ์ที่เป็นธรรมชาติ

เอกอัครราชทูตจีนยังแสดงความชื่นชมต่อความพยายามของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และสนับสนุนความคิดของกลุ่มในการจัดประชุมซัมมิตพิเศษ และความพยายามของกลุ่มที่กำลังดำเนินการไกล่เกลี่ยประนีประนอมในแบบของอาเซียน และมีบทบาทในทางบวกในการคลี่คลายสถานการณ์ในพม่า

เรื่องนี้จีนไม่ได้พูดอย่างเดียวยังเคลื่อนไหวด้วยการเชิญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างปรเทศจากอาเซียนพบกันโดยเห็นหน้าที่ปักกิ่งด้วย