หลังจากที่มีความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ค.2565 จะเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปีเศษ ภายหลังคนกรุงเทพฯ ได้หย่อนบัตรเลือกตั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2556 โดยในครั้งนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ชนะการเลือกตั้ง ด้วยคะแนนเสียงทะลุล้านอยู่ที่ 1,256,349 คะแนน
ล่าสุด “นิด้าโพล” ได้เผยผลสำรวจเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เรื่อง “อยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 10” โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 31 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,324 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับประชาชนอยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 10
การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนจะเลือกใครให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. พบว่า
อันดับ 1 ร้อยละ 37.24 ระบุว่าเป็น ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
อันดับ 2 ร้อยละ 12.09 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง
อันดับ 3 ร้อยละ 11.03 ระบุว่าเป็น ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (พรรคประชาธิปัตย์)
อันดับ 4 ร้อยละ 8.31 ระบุว่า ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
อันดับ 5 ร้อยละ 8.08 ระบุว่าเป็น ดร.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร (พรรคก้าวไกล)
อันดับ 6 ร้อยละ 6.72 ระบุว่า ไปลงคะแนน ไม่เลือกใคร (Vote NO)
อันดับ 7 ร้อยละ 5.59 ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ
อันดับ 8 ร้อยละ 3.55 ระบุว่าเป็น น.ส.รสนา โตสิตระกูล
อันดับ 9 ร้อยละ 1.96 ระบุว่า จะไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
อันดับ 10 ร้อยละ 1.81 ระบุว่าเป็น นายสกลธี ภัททิยกุล
อันดับ 11 ร้อยละ 1.51 ระบุว่าเป็น ผู้สมัครจากพรรคกล้า
อันดับ 12 ร้อยละ 1.28 ระบุว่าเป็น ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ
ร้อยละ 0.83 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ ผู้สมัครจากพรรคไทยภักดี ดร.ประยูร ครองยศ (พรรคไทยศรีวิไลย์) ผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทย และเฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจอยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯกทม. ครั้งที่ 9 เดือนมกราคม 2565 พบว่าผู้ที่ระบุว่า ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ , ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (พรรคประชาธิปัตย์) , ยังไม่ตัดสินใจ , จะไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง , นายสกลธี ภัททิยกุล และผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ มีสัดส่วนลดลง ในขณะผู้ที่ระบุว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง , ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย , ไปลงคะแนน ไม่เลือกใคร (Vote NO) , น.ส.รสนา โตสิตระกูล และผู้สมัครจากพรรคกล้า มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น