ครม.ไฟเขียวชดเชยลูกจ้างนายจ้างทั้งใน-นอกระบบ!?!เน้นพื้นที่สีแดงเข้ม 6 จังหวัด ลูกจ้างในระบบได้สูงสุดคนละ 9,500 บาท นายจ้าง 3,000 บาทต่อคน

1389

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมายืนยันว่า  รัฐบาลดูแลประชาชนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในการระบาดโควิด-19ครั้งนี้  โดยจะดำเนินการทุกอย่างอย่างเป็นระบบ รอบคอบรัดกุม เพื่อ ไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต ทั้งนี้ในการประชุมครมนัดล่าสุด ได้ผ่านความเห็นชอบมาตรการเยียวยาชดเชย ทั้งลูกจ้าง-นายจ้าง ทั้งในระบบประกันสังคม และนอกระบบ รวมทั้งร้านอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่สามารถจดทะเบียนประกันสังคมด้วย

วันนี้ 29มิ.ย.64 สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้เสนอต่อที่ประชุมครม.เกี่ยวกับมาตรการเยียวยาโควิด ให้กับลูกจ้างในระบบประกันสังคม โดยผู้ประกันตนจะได้รับเงินชดเชย สูงสุด 9,500 บาท และ นายจ้างสถานประกอบการในระบบประกันสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศ ศบค.ฉบับที่ 25 

ซึ่งจะเป็นการเยียวยาเฉพาะในพื้นที่ 6 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือ พื้นที่สีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร 

ระยะเวลาการจ่ายเงินเยียวยาให้กับนายจ้างและลูกจ้าง เป็นเวลา 1 เดือน วงเงินรวมทั้งหมด 7,500 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินจากกองทุนประกันสังคม 3,500 ล้านบาท และ 2.เงินจากพ.ร.ก.กู้เงิน อีก 4,000 ล้านบาท 

โดยล่าสุดที่ประชุม ครม.อนุมัติการเยียวยาให้กับแรงงานที่ได้รับผลกระทบดังนี้:

1.แรงงานในระบบประกันสังคมชดเชยร้อยละ 50  ของค่าแรง แต่ไม่เกิน 7,500 บาท และยังได้รับชดเชย จากรัฐบาลอีกคนละ 2,000 บาท เฉพาะแรงงานไทย  ส่วนนายจ้างหรือผู้ประกอบการในระบบจะได้เงิน 3,000 บาทต่อหัวลูกจ้าง 1 คน สูงสุดไม่เกิน 200 คน 

2.ผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม แต่ต้องการรับความช่วยเหลือขอให้รีบขึ้นทะเบียนเพื่อเข้าระบบประกันสังคม โดยจะอำนวยความสะดวกให้อย่างเต็มที่ เพื่อรับเงิน 3,000 บาท  และลูกจ้างนอกระบบประกันสังคม เฉพาะคนไทยเมื่อนายจ้างขึ้นทะเบียนประกันสังคมจะได้รับเงินช่วยเหลือ  2,000 บาท แต่จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือกรณีสุดวิสัยร้อยละ 50

  1. ผู้ประกอบการกลุ่มร้านอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งไม่สามารถขึ้นทะเบียนประกันสังคมได้ จะต้องไปลงทะเบียนกับแอปพลิเคชั่น ‘ถุงเงิน’ เพื่อรับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาท

ส่วนวาระการประชุมเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงการคลัง เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร มาตรการภาษีสนับสนุนการบริจาค เพื่อแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19

กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอ ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา สามารถยื่นคำขอรับหนังสือคนประจำเรือเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเล ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ตามมติคณะรัฐมนตรี

ทางด้านเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังได้ขอความร่วมมือนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่นอกระบบประกันสังคม ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” เพื่อที่จะได้รับความช่วยเหลือ ให้นายจ้างได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000  และลูกจ้างที่มีสัญชาติไทยได้รับเงินช่วยเหลือ 2,000 บาท

สำหรับเงินเยียวยาเหตุสุดวิสัยนั้น ตามกฎหมายประกันสังคมลูกจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือนจึงจะได้รับเงินชดเชยร้อยละ 50 ของฐานเงินเดือน ทำให้ลูกจ้างนอกระบบประกันสังคมจะไม่ได้รับเงินเยียวยาดังกล่าว

สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนประกันสังคมได้เนื่องจากไม่มีลูกจ้าง สามารถลงทะเบียนในแอปพลิเคชันถุงเงินผ่านทางโครงการคนละครึ่ง โดยเป็นมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยจะได้รับเงินจำนวน 3,000 บาท

นอกจากนี้  ที่ประชุมยังได้หารือร่วมกับ สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างและสมาคมร้านอาหาร ในการจัดอาหารให้แรงงานก่อสร้างในแคมป์ต่าง ๆ และยังมีมาตรการช่วยหลือ SMEs ในระยะถัดไป ซึ่งจะนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป พร้อมยืนยันไม่เลื่อนโครงการ “คนละครึ่ง” เพื่อเป็นการกระตุ้นการบริโภคในพื้นที่ต่าง ๆ โดยมีการวางกรอบงบประมาณไว้ 4,000 ล้านบาท และประกันสังคม 3,500 ล้านบาท