เปิดหลักฐาน ตอบแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ดูชัด ๆ ใครกันแน่ล้มเจ้า? หลังปลุกม็อบ24 มี.ค. ถามใครล้มสถาบัน

2636

จากกรณีการชุมนุมของกลุ่ม “REDEM” ที่บริเวณท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา และเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้มีผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ ตามที่มีการนำเสนอข่าวไปก่อนหน้านั้น

ล่าสุด มีรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม – United Front of Thammasat and Demonstration โพสต์ข้อความว่า “เกียรติภูมิอยู่กลางสนาม นักสู้นิรนามไม่สิ้น…. เตรียมลั่นกลองรบพร้อมกัน 24 มีนาคม นี้!! โปรดติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด!!!” พร้อมกับข้อความที่ว่า “ใครกันที่ล้มเจ้า?”

ทั้งนี้ จากข้อความปลุกปั่นดังกล่าว ทำให้ย้อนไปที่ทางเพจ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม – United Front of Thammasat and Demonstration ซึ่งจะพบว่า สำหรับกลุ่มดังกล่าวมีแกนนำ คือ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ โดยกลุ่มคนเหล่านี้ล่าสุดถูกดำเนินคดี ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งจากการกระทำความผิดนี้เอง จึงเป็นที่สังเกตว่าบุคคลที่โดนคดีนี้คือเหล่าแกนนำซึ่งออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมปลุกปั่น และหลายครั้งที่กระทำการอันจาบจ้วงสถาบันฯ และโดนหมายเรียก 112 เสียเอง

และถ้าหากย้อนไปเมื่อ 10 สิงหาคม 2563 มีการเปิดตัว กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดชุมนุมโดยใช้ชื่อกิจกรรม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ที่ ศูนย์รังสิต มีผู้ขึ้นเวทีปราศรัยมีราว 10 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาทั้งจากธรรมศาสตร์ และจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ขณะที่นักศึกษาอาชีวะจากกลุ่ม “ฟันเฟืองประชาธิปไตย” รับหน้าที่เป็นการ์ดอาสา คอยดูแลความปลอดภัยในที่ชุมนุม และตัวแทนกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 10 ข้อ เรียกร้องเกี่ยวกับสถาบันฯ

โดยข้อเรียกร้อง10 ข้อ มี 1. ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวฟ้องร้องสถาบันฯ มิได้ และเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของสถาบันฯได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร

2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันฯ และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ ทุกคน

3. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่เป็นของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน

4. ปรับลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันฯ ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

5. ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรีนั้น ให้ยกเลิกเสีย

6. ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด

7. ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ

8. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันฯ แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด

9. สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความข้องเกี่ยวใดๆ กับสถาบันฯ

10. ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก

อย่างไรก็ตาม การนำเสนอดังกล่าวนี้เอง ที่เป็นจุดเปลี่ยนของม็อบและผู้ชุมนุม ทำให้คนไทยส่วนใหญ่รับไม่ได้ เพราะไม่เพียงเนื้อหาใน 10 ข้อนี้เท่านั้น หากแต่บนเวทียังจัดฉาก ใช้ภาพประกอบที่จาบจ้วงล่วงละเมิดเป็นอย่างยิ่ง จึงทำให้มีคำถามย้อนกลับไปจากการกระทำที่ผ่านมา ใครกันแน่ที่เปิดหน้า ล้มเจ้า?