ยอมถูกด่าว่าตีสองหน้า? “ประชาธิปัตย์” พลิกเกมเท “ก้าวไกล” จุดยืนแก้รธน.ไม่เแตะต้องสถาบัน “วันชัย” หวดนักการเมือง โยนขี้ให้ส.ว.

2211

ภายหลังจากผลลงมติการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พ.ศ. … จะมีอันเป็นไปจากการโหวตวาระ 3 เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ไม่ผ่านความเห็นชอบต่อที่ประชุมรัฐสภา กำลังเป็นชนวนร้อนทางการเมืองที่เริ่มดุเดือดอีกครั้ง

ขณะที่ทางด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแถลงถึงมติที่ประชุมครั้งสำคัญเพื่อตอบรับ เข้าร่วมรัฐบาลพลังประชารัฐ บน 3 เงื่อนไขสำคัญ โดยเฉพาะต้องบรรจุให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล พุ่งเป้าไปที่ปลดล็อค มาตรา 256 ว่าด้วยกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

แต่จากบทบัญญัติเรื่องการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 (2) ต้องใช้เสียง ส.ส.หนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่หรือประมาณ 100 คน แต่ด้วยเสียงในมือของประชาธิปัตย์หลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 มีเพียง 52 ที่นั่ง ทำให้ประชาธิปัตย์ตัดสินใจผนึกเสียงกับพรรคพลังประชารัฐตั้งรัฐบาล แลกกับการเป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเข้าชื่อเสนอญัตติให้ครบหลักเกณฑ์แก้ไขรัฐธรรมนูญ

ก่อนหน้านี้นายจุรินทร์ ประกาศไว้ว่า การตัดสินใจของประชาธิปัตย์ ตั้งอยู่บนพื้นฐานประโยชน์ของประเทศมากกว่าประโยชน์ของพรรค และเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา นายจุรินทร์ เปิดเผยเรื่องการแก้ไขรธน. ระบุว่า สำหรับการแก้รัฐธรรมนูญปัจจุบันเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ แต่ทิศทางของพรรคประชาธิปัตย์ ในเรื่องการเดินหน้างานของพรรคถัดจากนี้ไป จะเดินหน้าผลักดัน 2 เรื่องคู่ขนานกัน เรื่องแรกคือการผลักดันการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน และผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งสองเรื่องคือหัวใจสำคัญที่จะเป็นทิศทางการเดินหน้าในการทำหน้าที่ถัดจากนี้ของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเห็นว่าการแก้ไขปัญหาปากท้อง คือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้สถานการณ์โควิดและต้องพาประเทศเดินหน้าต่อไปทำรายได้ให้กับประเทศ เพื่อจุนเจือรากหญ้าในมิติต่าง ๆ ให้อิ่มท้องขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาธิปัตย์ ต้องเดินหน้าไปสู่การเป็นประชาธิปไตย ขีดเส้นใต้ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีเงื่อนไขอยู่ 2-3 เรื่อง ไม่ว่าจะแก้รูปแบบใดต้องไม่แตะหมวด1 และหมวด 2 ในเรื่องรูปแบบของรัฐและสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีความสมบูรณ์ในตัวเองอยู่แล้ว และเห็นด้วยให้คงมาตรา 112 เนื่องจากมาตรา 112 เป็นมาตราที่ว่าด้วยการให้ความคุ้มครองประมุขของประเทศ ไม่มีประเทศใดไม่มีบทบัญญัติในการคุ้มครองประมุข เช่นเดียวกับประเทศไทยที่จะต้องมีบทบัญญัติในการให้ความคุ้มครองประมุขของประเทศ ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ นี่คือจุดยืนที่ชัดเจน”

ต่อมาทางด้านนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยด้วยว่า หลังร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญถูกคว่ำในวาระ 3 ทุกคนรุมด่านายกรัฐมนตรี และ ส.ว. ว่าขัดขวางไม่จริงใจแก้ไขรัฐธรรมนูญ เคลื่อนไหวทั้งในสภา นอกสภา วางแผนล้มและตัดอำนาจ ส.ว. คิดว่าผิดประเด็น แท้จริงแล้วควรกล่าวหา ส.ส.ที่ไม่จริงใจยืนหยัดต่อการแก้รัฐธรรมนูญ ถ้า ส.ส.ทุกพรรคยืนหยัดอยู่กับประชาชน รวมตัวกันให้ได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่ได้เป็นนายกฯ แม้จะมีเสียง ส.ว. 250 คนก็ไม่มีความหมาย การดำรงอยู่ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อยู่ด้วย ส.ส. และพรรคการเมือง แค่พรรคใดพรรคหนึ่งถอนตัว รัฐบาลก็ล้มครืน เรื่องแก้รัฐธรรมนูญถ้ามุ่งมั่นจริงใจก็ทำได้ แต่ไม่กล้าแข็งขันเพราะกลัวหลุดอำนาจ ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี แล้วโยนขี้ให้ ส.ว. ร่วมกล่าวหาโจมตีทั้งในสภาและนอกสภา

ขอประกาศว่าการแก้รัฐธรรมนูญที่ไม่สำเร็จล้มคว่ำมาตลอดนั้น มาจากนักการเมืองที่เห็นแก่อำนาจมากกว่า ทำทีอยากมีรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ใจหนึ่งอยากอยู่และเกาะอยู่กับผู้มีอำนาจนาน ๆ ตีสองหน้าแล้วโยนความผิดให้ ส.ว. ควรเลิกด่า ส.ว.ได้แล้ว ส.ว.ไม่มีอำนาจกดดันใด ๆ ให้รัฐบาลอยู่หรือไป คนที่จะกดดันได้แท้จริงคือพรรคการเมืองอย่างภูมิใจไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเป็นไดโนเสาร์ที่เกาะอยู่กับอำนาจอย่างแท้จริงซึ่งกำลังจะกลายพันธุ์

อย่างไรก็ตามการแถลงจุดยืนในการแก้รัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ ย้ำชัดเจนแล้วว่า จะไม่แตะหมวด1 และหมวด 2 ในเรื่องรูปแบบของรัฐและสถาบันพระมหากษัตริย์ และยังสนับสนุนให้คงไว้ซึ่งมาตรา 112 ทำให้ตอนนี้ทางด้านพรรคก้าวไกล อาจจะต้องเดินเกมหนักมากขึ้น เพราะตอนแรกมีความพยายามที่จะแนวโน้มให้ประชาธิปัตย์ มาเป็นพวกตัวเอง และสนับสนุนให้แก้มาตรา 112 ซึ่งก็ชัดเจนแล้วว่า ประชาธิปัตย์ไม่คล้อยตามเล่นด้วย