เปิด 19 รายชื่อจ่อได้นอนคุกคดี ม.112 ขณะแกนนำคนสำคัญสั่งลาพรุ่งนี้อาจไม่อยู่แล้ว

5035

มีรายงานว่า นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์เฟซบุ๊กระบุถึงการนัดส่งฟ้องคดีของแกนนำและแนวร่วมม็อบราษฎร ว่า ร่วมกันจับตาดูพรุ่งนี้พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม จะส่งตัวผู้ต้องหาแกนนำและผู้ชุมนุม คดี 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร จำนวนทั้งหมด 19 คน ในข้อหามาตรา 112 บางส่วน บางคน และข้อหามาตรา 116 ทุกคน ให้กับพนักงานอัยการ

หากพนักงานอัยการสั่งฟ้องและศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวทุกคนจะต้องถูกขังและส่งตัวเข้าเรือนจำทันที พบกันพรุ่งนี้เวลา 10.00 น. ที่ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 (รัชดาภิเษก)

สำหรับรายชื่อผู้ต้องหาพรุ่งนี้ได้แก่ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงศ์, ธนชัย เอื้อฤาชา, “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์, ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, สุวรรณา ตาลเหล็ก, ภัทรพงศ์ น้อยผาง, ณัทพัช อัคฮาด, ณัฐชนน ไพโรจน์, ธานี สะสม, อดิศักดิ์ สมบัติคำ, สิทธิทัศน์ จินดารัตน์, “ฟอร์ด” อนุรักษ์ เจนตวนิชย์, ธนพ อัมพะวัต และ “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธ์

เรื่องนี้เองวันนี้ น.ส.ปนัสยา แถลงการณ์ถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม เรียกร้องให้มีการประกันตัว 4 แกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร หลังจากนั้นได้เข้ามายื่นหนังสือ โดยมี น.ส.ชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา เป็นผู้รับมอบ

ภายหลังยื่นหนังสือและอ่านแถลงการณ์แล้ว น.ส.ปนัสยา ได้เปิดเผยด้วยว่า อยากให้ศาลรับทราบและให้ความสำคัญว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษา การปฏิบัติของศาลจะทำเหมือนกับว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้ จะให้ถูกขังระหว่างพิจารณาคดี ทั้งที่คดียังไม่สิ้นสุดไม่ได้ ต้องให้สิทธิประกันตัวเช่นเดียวกับคดีอื่น ๆ ในประเทศนี้ แม้แต่คดีฆ่าคนโดยเจตนายังได้รับการประกันตัว

“ดังนั้นในคดีการเมืองก็ต้องได้รับประกันตัวเช่นกัน ในวันนี้ที่เราเดินทางไปทั้ง 5 แห่ง เพราะเป็นสายธารของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเห็นภาพได้ชัดเจน อย่างมาที่ศาลอาญา เพราะว่าคดีนี้เป็นคดีอาญาและมีคำสั่งไม่ให้เพื่อนเราได้ประกันตัว ซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ”

ขณะที่ผู้สื่อข่าวถามถึงสาเหตุที่จะต้องเดินทางไปที่สำนักนายกรัฐมนตรีนั้น น.ส.ปนัสยา กล่าวว่า เกี่ยวกับนโยบายในการจัดการกับผู้ชุมนุม ซึ่งนโยบายต้องมาจากรัฐบาล ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เกี่ยวข้องตรงที่กระบวนการทางการกฎหมายจะเริ่มที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติก่อนเป็นที่แรก เริ่มตั้งแต่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา หรือมีการใช้อำนาจเกินขอบเขต

เมื่อถามถึงความรู้สึกต่อเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในการชุมนุมที่ผ่านมา ซึ่งเกินไปจากการควบคุมดูแลของเรา น.ส.ปนัสยา กล่าวว่า ขอโทษอย่างจริงใจกับผู้ชุมนุมที่เราไม่สามารถดูแลสถานการณ์ได้ ซึ่งเหนือความคาดหมายมากจริง ๆ แต่หลังจากนี้ยืนยันให้ความเชื่อมั่นว่าจะดูแลพวกเราทุกคนเป็นอย่างดี ในวันพรุ่งนี้ (17 ก.พ.) ตนมีคดีความและอาจจะไม่อยู่แล้ว แต่ว่าคนที่เหลือพร้อมจะทำหน้าที่เพื่อให้กระบวนการเคลื่อนไหวของเราไปสู่จุดหมายในที่สุด โดยที่จะไม่มีใครเจ็บตัวหรือเจ็บตัวให้น้อยที่สุด อันนี้คือความปลอดภัยของผู้ชุมนุม