อาเซียนเปิดฉากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ หวังแสวงหาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รับมือการกดดันให้เลือกข้างของมหาอำนาจสหรัฐ-จีน เพื่อลดผลกระทบที่ทั้งสองฝ่ายพยายามสร้างอิทธิพลในภูมิภาค สมาชิกอาเซียนยืนยันเป็นกลางพร้อมร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนทั้งระหว่างอาเซียนด้วยกันและต่อสหรัฐ-จีน ไทยหนุนพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืน ตั้งกองทุนร่วมฝ่าวิกฤติโควิด ฟื้นฟูเศรษฐกิจร่วมกัน
การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) แบบออนไลน์ รวมถึงการประชุมที่เกี่ยวข้อง เปิดฉากแล้ววานนี้ (9 ก.ย.2563) โดยเวียดนามเป็นเจ้าภาพในฐานะประธานอาเซียน ในช่วงเวลาที่นานาประเทศต่างกังวลมากเรื่องความขัดแย้งทั้งทางวาจาและแสดงแสนยานุภาพทางทหารข่มกันของสองมหาอำนาจสหรัฐ-จีน ในพื้นที่น่านน้ำทะเลจีนใต้
วันที่ 9 ก.ย. 63 มีผลการหารือที่น่าสนใจดังนี้
–การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน: ได้หารือถึงแนวทางความร่วมมือต่อสถานการณ์โควิด-19 ในระดับภูมิภาค โดยจีนได้ประกาศจัดสรรเงินทุน จำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 และเงินจำนวน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนโครงการความร่วมมืออาเซียน-จีนด้านสาธารณสุขอีกด้วย
ขณะที่ ไทยผลักดันให้ใช้ประโยชน์จากกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 ในการจัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาด้านยาและวัคซีน เพื่อพัฒนาให้เป็นสินค้าสาธารณะของโลก พร้อมเน้นย้ำการรักษาห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และสตาร์ทอัพท้องถิ่น
ไทยสนับสนุนข้อเสนอของจีนในการประกาศให้ปี 2564 เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และผลักดันให้อาเซียนและจีน จัดทำความร่วมมือกับศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่จัดตั้งในไทยอีกด้วย
–การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-ญี่ปุ่น: ญี่ปุ่นได้ร่วมจัดสรรเงินทุนจำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สนับสนุนกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 เช่นกัน รวมทั้ง สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขอาเซียน โดยอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้
ขณะที่ ไทยเสนอให้ปรับมุมมองต่อสาขาความร่วมมือภายใต้เอกสารมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก โดยหันมาให้ความสำคัญกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ ประเด็นเทคโนโลยีดิจิทัล และความเชื่อมโยงระหว่างกัน รวมถึง ความมั่นคงของมนุษย์โดยเฉพาะ ประเด็นสาธารณสุข
ทั้งนี้ ไทยผลักดันให้อาเซียนและญี่ปุ่น ดำเนินโครงการที่เป็นรูปธรรมร่วมกับศูนย์อาเซียนต่าง ๆ เช่น ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงอายุที่มีศักยภาพและนวัตกรรม ที่จัดตั้งขึ้นในไทยด้วย
ท่าทีของประเทศเพื่อนบ้านต่อบทบาทสหรัฐ-จีน
–เวียดนาม: นายกรัฐมนตรีเหวียน ซวนฟุกแถลงเปิดการประชุมว่า บรรยากาศด้านภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ในภูมิภาครวมทั้งทะเลจีนใต้ กำลังเกิดความผันผวนมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นอันตรายต่อสันติภาพและเสถียรภาพ
ขณะที่นายฟาม บินห์ มินห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า บทบาทของกฎหมายระหว่างประเทศและสถาบันพหุภาคีกำลังถูกท้าทายอย่างหนัก
–อินโดนีเซีย: นางเรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เตือนสหรัฐและจีนไม่ให้ดึงชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าสู่ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของทั้งสองประเทศ
“เราไม่อยากติดกับดักความเป็นอรินี้” นางเรตโนเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ก่อนการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เออาร์เอฟ) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 12 ก.ย. เธอระบุว่า อาเซียนไม่อยากเลือกข้าง ขณะเดียวกันการเพิ่มกิจกรรมทางทหารในทะเลจีนใต้ก็น่าเป็นห่วง
สงครามน้ำลายไม่จบจนกว่าเลือกตั้งปธน.สหรัฐฯจะผ่านไป
สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า ที่ผ่านมาสหรัฐกล่าวหาจีนรุนแรงทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องการค้า เทคโนโลยี และการปฏิบัติตัวในทะเลจีนใต้ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐใกล้มาถึงเท่าไร ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ยิ่งโหมกระพือแนวทางแข็งกร้าวเข้าใส่จีนเท่านั้น
–ฝั่งรัฐบาลวอชิงตันกล่าวหาปักกิ่งว่ารังแกเพื่อนบ้านด้วยการส่งเรือมาใกล้ปฏิบัติการขุดเจาะน้ำมันของประเทศเหล่านั้น บางครั้งก็ซ้อมรบและทดสอบยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ ใกล้ทำเลที่พิพาทกัน ในช่วงที่เพื่อนบ้านกำลังสาละวนกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) แต่จีนตอบโต้สหรัฐว่าการกระทำของตนถูกต้องตามกฎหมาย เป็นสิทธิและอธิปไตยของตน และทำเช่นนี้มาตลอดไม่ได้เพิ่งมาทำ
ตั้งแต่กลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา สหรัฐยั่วยุจีนด้วยการส่งเรือรบเข้ามาในทะเลจีนใต้ และช่องแคบไต้หวันที่เป็นพื้นที่อ่อนไหว ทั้งยังส่งเครื่องบินสอดแนมหนึ่งลำบินเหนือท้องฟ้าขณะจีนซ้อมรบด้วยกระสุนจริงอีกทั้งขายอาวุธยุทโธปกรณ์ล็อตใหญ่แก่ไต้หวัน พร้อมแสดงเจตจำนงก์สนับสนุนท่าทีแยกตัวของไต้หวันกับจีนอย่างออกนอกหน้า
ล่าสุดสหรัฐประกาศขึ้นบัญชีดำบริษัทจีน 24 แห่งที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างและทำกิจกรรมทางทหารบนเกาะเทียมในทะเลจีนใต้
นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี ก่อนการประชุมว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนรังแกเพื่อนบ้านอย่างรุนแรงเห็นได้ชัด และถือเป็นครั้งแรกที่นายปอมเปโอ และนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนเข้าร่วมประชุมเวทีเดียวกันด้วย แต่ประชุมกับสมาชิกอาเซียนคนละวันกัน
–ฝั่งรัฐบาลปักกิ่ง: นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรับประชาชนจีน กล่าวในการประชุมคอนเฟอร์เร้นซ์ว่า “สหรัฐเป็นตัวกระตุ้นทางการทหารที่สำคัญ” ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้เกิดจากสหรัฐ เข้ามาแสดงบทบาททางทหารนอย่างโจ้งแจ้ง และมีท่าทียั่วยุอย่างเปิดเผย นอกจากนี้ยังชี้ว่าสหรัฐเข้ามาสค้างควาตึงเครียดเพื่อมาแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเอง ไม่ได้มาปกป้องผลประโยชน์อาเซียนแต่อย่างใด
นักวิเคราะห์จับตาพันธมิตรอาเซียนต่อสหรัฐ-จีน
นายแซคคารี อาบูซา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วิทยาลัยสงครามแห่งชาติในกรุงวอชิงตันมองว่า การเจรจาเรื่องน่านน้ำข้อพิพาทไม่น่าจะมีความคืบหน้า “จีนใช้ความช่วยเหลือโควิด-19 คำสัญญาเรื่องวัคซีน และการทดลองในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย แสวงหาข้อได้เปรียบทางการทูตในการหารือเรื่องทะเลจีนใต้”
นายคอลลิน โก๊ะห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงจากวิทยาลัยการระหว่างประเทศศึกษา,สิงคโปร์ นายเอส ราชรัตนัมกล่าวว่า อาเซียนไม่อยากเลือกข้างหรือถูกมองว่ากำลังเลือกข้าง แต่จะใช้วิธีหารือกับจีนเรื่องความคืบหน้าของแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ที่ล่าช้ามานาน รวมถึงการพัฒนาและเข้าถึงวัคซีนโควิด-19แทน ส่วนกับสหรัฐ อาเซียนจะเร่งเร้าให้อดทนอดกลั้นไม่ทำกิจกรรมทางทหาร แล้วให้บริษัทสหรัฐเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยที่ทั้งสองประเทศควรลดความเป็นปฏิปักษ์อย่างเข้มข้นลง
ไทยยืนหยัดเป็นกลางร่วมจับมืออาเซียนฝ่าโควิด-เน้นพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันอย่างยั่งยืน
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 53 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง เสนอให้จัดตั้งกองทุน Asean SMEs Recovery Facility เพื่อสนับสนุนให้เอสเอ็มอีในภูมิภาคอาเซียนฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19
“ไทยจะให้ความสำคัญกับการค้าพหุภาคีและภูมิภาคนิยมในการรับมือกับความท้าทายซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่มีความสำคัญในการแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19” นายดอนกล่าว
นอกจากนี้ นายดอนและรัฐมนตรีต่างประเทศสมาชิกอาเซียน รวม 10 ชาติได้หารือถึงการเตรียมการประชุมระดับผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 37 และการจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนหลังปี 2025 ตลอดจนอนุมัติการแต่งตั้งรองเลขาธิการอาเซียนด้านประชาคมและบริหารอีกด้วย
ตามประวัติศาสตร์ ประเทศอาเซียนสร้างมิตรภาพกับทั้งจีนและอเมริกาอย่างรักษาสมดุล เพราะการเลือกให้ความสำคัญต่อประเทศมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวอย่างเปิดเผย ก็จะทำให้อีกมหาอำนาจหนึ่งไม่พอใจ หากพิจารณาถึง ข้อเท็จจริงที่ว่า จีนและสหรัฐฯกำลังเผชิญหน้ากันเรื่องการค้า เทคโนโลยี และบทบาทผู้นำบนโลกอินเตอร์เน็ต ประเทศสมาชิกอาเซียนคงเลี่ยงที่จะเเสดงจุดยืนเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในประเด็นร้อนเหล่านั้น