“หมอจุฬา” เผย 2 ปัจจัยสำคัญ เสี่ยงเจออาการรุนแรงในผู้ป่วยโควิด “หมอยง” อธิบายชัด ภาพถอดรหัสไวรัสของอังกฤษที่กลายพันธุ์ หลังไทยเจอเชื้อแล้ว

4094

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้แถลงสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประจำวันที่ 5 ม.ค. 2564 ดังนี้

พบผู้ป่วยติดเชื้อใหม่ 527 ราย แบ่งเป็น ติดเชื้อในประเทศ 82 ราย , ติดเชื้อในแรงงานประเทศเพื่อนบ้านจากการค้นหาเชิงรุก 439 ราย , ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 6 ราย โดยผู้ติดเชื้อก้อนใหญ่อยู่ในกลุ่มแรงงานประเทศเพื่อนบ้านที่มีการตรวจค้นหาเชิงรุก

ยอดผู้ป่วยสะสม 8,966 ราย แบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 6,900 ราย, ติดเชื้อในแรงงานประเทศเพื่อนบ้านจากการค้นหาเชิงรุก 2,476 ราย, ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2,066 ราย, ติดเชื้อในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 1,532 ราย

– ผู้ป่วยรักษาหายเพิ่ม 45 ราย / ยอดสะสม 4,397 ราย

-ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม / ยอดเสียชีวิตคงที่ 65 คน

– ผู้ติดเชื้อทั่วประเทศเพิ่มเป็น 56 จังหวัด

ส่วนกรณีที่นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เสนอให้ ที่ประชุม ศบค. มีการล็อกดาวน์ 5 จังหวัดได้แก่ จ.สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด โดยระบุว่า นายกฯได้ให้ใช้มาตรการเข้มข้นขึ้นมากกว่าพื้นที่อื่น เรียกว่า เป็น “พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” เพื่อป้องกันการระบาด แต่ไม่ใช่การล็อกดาวน์โดยสิ้นเชิง ซึ่งต้องยอมรับว่า ประชาชนที่จะเดินทางไป 5 จังหวัดนี้ จะได้รับความไม่สะดวก แต่มาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้ง 5 จังหวัดดังกล่าวจะเข้มงวดมากขึ้นกว่า 23 จังหวัดที่เหลือ เพราะต้องตั้งจุดตรวจมากขึ้น ให้ทุกคนโหลดแอปพลิเคชั่นหมอชนะและไทยชนะไปใช้งาน


ล่าสุดทางด้านผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก รพ.จุฬาลงกรณ์ เปิดเผยข้อมูลทางการแพทย์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยยืนยันว่า ภาวะความเสี่ยงรุนแรงของผู้ติดเชื้อโควิค-19 นอกจากเรื่องของสูงอายุแล้ว เรื่องของน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ก็เป็นปัจจัยที่เพิ่มความรุนแรงของโรคอย่างมีนัยสำคัญด้วย ซึ่งข้อมูลระบุว่าน้ำหนักตัวทุกกิโลที่เพิ่มขึ้นเป็นการเพิ่มความเสี่ยง ของการเกิดโรคโควิดที่รุนแรง

ขณะที่ปัจจัยที่คนมักจะนึกถึงว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโควิดที่รุนแรงคือสูงอายุ มีโรคประจำตัว แต่ที่น้ำหนักเกินก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคที่รุนแรง มีการศึกษาพบว่าอัตราการนอนโรงพยาบาลสูงขึ้นตามน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น เหตุที่คนอ้วนอาจมีโอกาสที่เกิดโรคที่รุนแรงกว่าเป็นจากปอดทีทำงานลดลง ภูมิคุ้มกัน Tcell ทำงานน้อยกว่าปกติ เกิดลิ่มเลือดในปอดได้ง่ายขึ้น หรือบางคนเป็นเบาหวาน ปัจจัยทั้งหมดเพิ่มความรุนแรงของโรค ดังนั้นแม้ว่าจะอายุน้อย ๆ ถ้าอ้วนก็มีโอกาสเกิดโรคที่รุนแรงเสียชีวิตจากโควิดได้เท่าคนอายุมาก

ในกราฟเป็นรูปจากการศึกษาวารสาร PNAS ผู้ป่วยในประเทศอังกฤษที่พบว่าอัตราการนอนโรงพยาบาลในผู้ที่ติดเชื้อโควิดสูงขึ้นตามดัชนีมวลกาย ถ้าดัชนีมวลกายมากกว่า 35 อัตราการนอนโรงพยาบาลสูงกว่าคนปกติเกือบสองเท่า


คนไข้โควิด-19 รายหนึ่งที่มีอาการหนักส่งมารักษาต่อเป็นปอดอักเสบรุนแรง อาการของปอดอักเสบเกิดขึ้นเร็วมาก ทั้งที่ได้ยาต้านไวรัสตั้งแต่เนิ่น ๆ สุดท้ายก็ต้องใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องพยุงการทำงานของปอดและหัวใจ เนื่องจากปอดอักเสบรุนแรงแทบจะไม่ทำงานเลย

ขณะที่ทางด้านนพ.ยง ภู่วรวรรณ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก อธิบายให้เห็นถึงความอันตรายของเชื้อโควิดที่กลายพันธุ์ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่อังกฤษกำลังรับมืออยู่ในตอนนี้ ว่า โควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษกลายพันธุ์ พบในประเทศไทยแล้ว


ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ ได้ถอดรหัสสายพันธุ์ พบเป็นสายพันธุ์อังกฤษหรือที่เรียกว่า “สายพันธุ์อังกฤษที่กลายพันธุ์ B.1.1.7” ได้ในประเทศไทย เป็นครอบครัวชาวอังกฤษ 4 คน พ่อ แม่ ลูก 2 คน ติดเชื้อทั้ง 4 คน โดยที่แม่และลูกเป็นก่อน พ่อเป็นทีหลัง มาจากเมือง Kent ประเทศอังกฤษและอยู่ใน ASQ (Alternative State Quarantine)โรงพยาบาลเอกชนและเราควบคุมอย่างดีไม่ให้แพร่กระจายออกไป


การถอดรหัสพันธุกรรมทำให้ทราบว่าสายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ของอังกฤษกลายพันธุ์ ที่ทั่วโลกเฝ้าระวังกันมากและมีการระงับเที่ยวบินจากอังกฤษ ได้ทำการถอดรหัสพันธุกรรม 2 ราย มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งเกาะจับตัวรับของเซลล์มนุษย์ (N501Y) การกลายพันธุ์ที่จุดตัดของสไปค์โปรตีน (P681H) ตำแหน่งอื่น ๆ ที่ขาดหายไป (Spike 69-70 Deletion) และตำแหน่งอื่น ๆ อีกดังในรูป

สายพันธุ์นี้ทำให้การแพร่ระบาดได้ง่ายและกระจายอย่างรวดเร็ว ในครอบครัวนี้ก็ติดหมดทั้ง 4 คน อย่างไรก็ตามสำหรับประเทศไทย สายพันธุ์นี้ไม่ได้ทำให้โรครุนแรงขึ้นและไม่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของวัคซีน ขอให้สบายใจได้ ผู้ป่วยทั้ง 4 รายนี้อยู่ในความควบคุมและระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ให้เชื้อหลุดรอดออกมาได้ ผู้ป่วยยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาลในห้องความดันลบและต้องมั่นใจว่าไม่มีเชื้อแล้ว จึงจะออกมา ดังนั้นโอกาสที่จะแพร่ขยายในประเทศไทยจึงไม่มี

ผู้ที่มาจากประเทศอังกฤษมาประเทศไทยจะต้องเฝ้าระวัง ในรายที่มาจากต่างประเทศการถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อเป็นฐานข้อมูลจะเป็นประโยชน์ในการเปรียบเทียบกับสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทยหาแหล่งที่มาของโรค