เปิดคำวินิจฉัย ยกอุทธรณ์ “ทักษิณ” คัดค้านการประเมินของกรมสรรพากรไม่ยอมเสียภาษี ขายหุ้นชินคอร์ป ฟันชัด ต้องจ่าย 1.7 หมื่นล้าน มีเจตนาไม่สุจริตหวังเลี่ยงภาษี
จากกรณีที่ พรรคเพื่อไทย กำลังเจอวิกฤตทางการเมือง สืบเนื่องจากนายทักษิณ ชินวัตร ได้ออกมาช่วยผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ หาเสียง จนเกิดประเด็นข้อกฎหมาย ต่อมาทางด้าน กกต.ก็ได้ออกมาเปิดเผยอย่างชัดเจนว่า นายทักษิณช่วยหาเสียงไม่ได้ ซึ่งนั่นอาจส่งผลให้พรรคเพื่อไทยถูกยุบได้ และต่อมานายทักษิณ ก็ได้ออกมาประกาศวางมือการเมืองอย่างถาวร อยากกลับบ้านมาเลี้ยงหลาน ยันรักและเคารพสถาบัน แต่พฤติกรรมก่อนหน้านี้ก็มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาโดยตลอด
ล่าสุดก็มีประเด็นที่น่าสนใจขึ้นอีกครั้ง เมื่อศาลฎีกามีคำวินิจฉัย ถึงกรณีการซื้อขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในปี 2549 ได้แจ้งถึงเอกสารเลขที่ สภ.3 (อธ.3)/309/2563 เป็นผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ที่ได้พิจารณาอุทธรณ์ของนายทักษิณ ชินวัตร ฉบับลงวันที่ 25 เม.ย.2560 เกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2549
โดยคำวินิจฉัยนี้แยกย่อยออกมาเป็นหลายประเด็น โดยมีนายพงษ์ศักดิ์ เมธาพิพัฒน์ ผู้แทนอธิบดีกรมสรรพากร นายประภาส สนั่นศิลป์ ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด นายพิสิทธิ์ ศรีวรานันท์ ผู้แทนกรมการปกครอง ร่วมลงนามในคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2563 โดยคำวินิจฉัย ระบุว่า
ให้ยกอุทธรณ์ซึ่งคัดค้านการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามแบบ ภงด.12-03025250-25600328-001-00005 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2560 เป็นเงินทั้งสิ้น 17,629,585,191.00(หนึ่งหมื่นเจ็ดพันหกร้อยยี่สิบเก้าล้านห้าแสนแปดหมื่นห้าพันหนึ่งร้อยเก้าสิบเอ็ดบาทถ้วน) ให้ผู้อุทธรณ์นำเงิน ภาษีเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ไปชำระ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาบางพลัด กรุงเทพมหานครเป็นเงิน 17,629,585,191.00 บาท 00 สตางค์(หนึ่งหมื่นเจ็ดพันหกร้อยยี่สิบเก้าล้านห้าแสนแปดหมื่นห้าพันหนึ่งร้อยเก้าสิบเอ็ดบาทถ้วน) ภายใน30วัน นับแต่วันได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์นี้ พร้อมทั้งเงินเพิ่มตามกฎหมาย โดยคำวินิจฉัยอุทธรณ์นี้ทำไว้สองฉบับ เก็บไว้ที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หนึ่งฉบับ ส่งให้ผู้อุทธรณ์หนึ่งฉบับ ลงวันที่ 1 กันยายน 2563
ที่น่าสนใจ ประเด็น 8.3 ผู้อุทธรณ์กล่าวอ้างว่า หนังสือแจ้งการประเมินดังกล่าไม่มีข้อเท็จจริง ผู้อุทธรณ์และคุณหญิงพจมานฯ ยังคงถือหุ้นชินคอร์ป ฯลฯ ในเวลานั้น พิจารณาในประเด็นดังกล่าวไว้แล้วข้างต้น ประกอบกับได้พิจารณาตามประเด็นที่1 และประเด็นที่2 จึงไม่พิจารณาในประเด็นนี้อีก
ข้อ9 ผู้อุทธรณ์กล่าวอ้างว่า หนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา(ภ.ง.ด.12) ลงวันที่28มีนาคม 2560 ไม่มีการระบุเลขที่ใบแจ้งภาษีอากร ทำให้การยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษี ไม่สามารถระบุเลขที่ใบแจ้งภาษีอากร ในแบบคำอุทธรณ์(ภ.ส.6) ได้ครบถ้วนถูกต้อง หนังสือแจ้งภาษีฯดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น
พิจารณาแล้วเห็นว่าในคำอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์ได้มีการระบุเลขที่หนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้ถูกต้องครบถ้วนแล้ว จึงไม่มีประเด็นต้องพิจารณา
ข้อ10 ผู้อุทธรณ์กล่าวอ้างว่า การประเมินภาษีผู้อุทธรณ์เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายระเบียบ การจัดเก็บภาษีไม่เป็นไปตามบทบัญญัติประมวลรัษฎากรและไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม
พิจารณาแล้วเห็นว่า การประเมินภาษีผู้อุทธรณ์ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายระเบียบ เป็นไปตามบทบัญญัติประมวลรัษฎากรและเป็นธรรมแล้ว ข้อกล่าวอ้างของผู้อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น
กรณีข้อเท็จจริงที่ผู้อุทธรณ์กล่าวอ้างเพิ่มเติมได้พิจารณาในประเด็นดังกล่าวไว้แล้วตามประเด็นที่1 ถึงประเด็นที่3 จึงไม่พิจารณาประเด็นดังกล่าวอีก สรุปการประเมินภาษีชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงมีมติให้ยกอุทธรณ์เสียทั้งสิ้น
ในคำวินิจฉัยยังระบุอีกว่า ประเด็นของดหรือลดเบี้ยปรับตามมาตรา22 แห่งประมวลรัษฎากร พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามพฤติการณ์ผู้อุทธรณ์เป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปที่แท้จริงที่ต้องเสียภาษีอากร แต่ให้นายพานทองแท้ฯ และนางสาวพินทองทาฯ เป็นตัวแทนเชิดในการซื้อหุ้นชินคอร์ปจากแอมเพิลริชฯ นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด จึงมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีอากรและทำให้รัฐเสียประโยชน์ จึงไม่งดหรือลดเบี้ยปรับ
ประเด็นของดหรือลดเงินเพิ่มตามมาตรา27 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินเพิ่มตามมาตรา27 แห่งประมวลรัษฎากรนั้น ไม่มีบทบัญญัติใดที่ให้อำนาจงดหรือลดเงินเพิ่มได้ จึงไม่งดหรือลดเงินเพิ่ม