นายกฯ ย้ำเวทีเอเปคครั้งที่ 27 ไทยส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในภูมิภาคทุกมิติ พร้อมต่อยอดธุรกิจดิจิทัลในยุคหลังโควิด-19 ร่วมสร้างสังคมเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่น สามารถรับมือกับวิกฤตด้านต่างๆร่วมกันได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งนี้การผลักดันการค้าเสรีของเอเปคอยู่ในกรอบพหุภาคี โดยไทยมีลูกค้ารายใหญ่ที่เราส่งออกสินค้าไปในประเทศกลุ่มนี้เกินครึ่ง คือ สหรัฐ-จีน-ญี่ปุ่น เป็นต้น
วันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 เวลา 19.00 น. ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 27 (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ผ่านระบบประชุมทางไกล ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปผลการประชุมดังนี้
ตัน ซรี ดาโตะ ฮาจี มุฮ์ยิดดิน บิน ฮาจี โมฮัมมัด ยัซซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธาน กล่าวว่าการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งแรกผ่านระบบทางไกล เอเปคเป็นกรอบการประชุมที่ส่งผลให้เกิดความร่วมมือทางการค้าการลงทุน ด้านเศรษฐกิจ และสังคม และอื่นๆ บนพื้นฐานของฉันทามติร่วมกัน ภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ ผลกระทบที่เกิดจากความท้าทายต่าง ๆ เช่น โควิด-19 ได้มีผลลดลง นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือกันจะก้าวข้ามผ่านอุปสรรคไปได้
โดยการกำหนดหัวข้อหลักในปีนี้เพื่อ ย้ำให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจตระหนักถึงหน้าที่ในการสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชน และแบ่งปันให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจร่วมกัน ยกระดับคุณภาพชีวิตร่วมกัน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้นำเสนอ 3 เเนวคิด ได้แก่ 1.การค้าพหุภาคีที่ตั้งอยู่บนกฎระเบียบที่ชัดเจน 2. ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจเเละสร้างความเข้มเเข็งให้กับประชาชน 3. ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่ครอบคลุม เพื่อไม่ให้มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีไทยได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมว่าบริบทของโลกในวันนี้ได้แตกต่างจากเอเปคในอดีต ทั้งช่องว่างทางการค้า กระแสปกป้องทางการค้า และความท้าทายต่างๆ ในระบบพหุภาคี จึงต้องปรับตัวบนพื้นฐานของการค้าและการลงทุน ซึ่งถือเป็นหัวใจของเอเปคและเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวในภูมิภาค
นายกรัฐมนตรีย้ำว่า เอเปคต้องมีบทบาทผลักดันการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน การรวมตัวกันทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบการค้าพหุภาคี โดยได้นำเสนอ 3 ประเด็นหลักที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่
- ส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติ โดยเฉพาะในด้านดิจิทัลเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจ เช่น ส่งเสริม MSMEs พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และยกระดับขีดความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านดิจิทัลใหม่ๆ
- การเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน จะเป็นวาระเร่งด่วน และเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของเอเปคอย่างแท้จริงในยุคหลังโควิด-19 โดยทุกภาคส่วนของสังคมจะได้รับประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมจากการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน มีการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ทั่วถึงและเป็นธรรม
- สร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ยืดหยุ่นต่อ disruptions ต่าง ๆ โดยมองว่า วิกฤตของโควิด-19 ถือเป็นโอกาสที่แฝงอยู่ เปรียบเสมือนการสร้างความตระหนักรู้ถึงความเตรียมพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ซึ่งไทยยินดีแบ่งปันประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 กับประชาคมระหว่างประเทศ
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรียืนยันว่า จะผลักดันให้เอเปคสามารถเดินต่อไปได้อย่างไม่หยุดชะงัก ท่ามกลางอุปสรรคและความท้าทายในปีนี้ พร้อมเน้นย้ำว่า ไทยยินดีและพร้อมที่จะร่วมงานกับนิวซีแลนด์และทุกเขตเศรษฐกิจในปีหน้าเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565 โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกประเทศจะสานต่อความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์เพื่อถ่ายทอดเจตนารมณ์ไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมบนพื้นฐานของเอเปคที่ยึดมั่นมาตลอดระยะเวลา 3 ทศวรรษ และนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของภูมิภาคต่อไป
บทบาทลูกค้ารายใหญ่ของไทยด้านการส่งออก:จีน-สหรัฐ
การกล่าวถ้อยแถลงของประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน นายสี จิ้นผิง กล่าวถึงความสำคัญของการเปิดตัววิสัยทัศน์ภายหลังปี 2020 ซึ่งจีนพร้อมร่วมสร้างอนาคตร่วมกัน โดยมีข้อเสนอ 4 ประการ ดังนี้ 1. ต้องเปิดกว้างและทั่วถึง เพื่อส่งเสริมการค้าพหุภาคี ผลักดันความร่วมมือทางเศรษณบกิจ โดยจีนยินดีกับการลงนาม RCEP ที่ผ่านมา 2. ผลักดันการเติบโตบนพื้นฐานการพัฒนาทางดิจิทัล และนวัตกรรม เพื่อผลักดันเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมทั้งส่งเสริมการค้าอิเล็กทรอนิกส์ 3. ส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกันผ่าน APEC Connectivity Blueprint เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จ โดยเฉพาะการส่งเสริมการเดินทางของคน สินค้า เงินทุนและการส่งต่อข้อมูลอย่างปลอดภัย ซึ่งจีนยินดีที่จะให้ความร่วมมือผ่านโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 Belt and Road Initiative (BRI) กับทุกฝ่าย 4. ผลักดันความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย บนพื้นฐานของประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะความร่วมมือด้านสาธารณสุข วัคซีน MSMEs ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการรับมือกับโควิด-19 ได้
ส่วนสหรัฐอเมริกา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เน้นย้ำว่าโลกกำลังต่อสู้กับโรคระบาดในขณะนี้ ซึ่งสหรัฐฯ ได้สนับสนุนทางเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะการผลิตวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ และยืนยันที่จะวกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง โดยสหรัฐได้เน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อการกลับมาอย่างมั่งคั่งอีกครั้งในภูมิภาค ผ่านการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มการจ้างงาน ส่งเสริมการผลิตเพื่อแก้ไขปัญหา และลดผลกระทบ รวมถึงสร้างความมั่นใจในการบริโภค นอกจากนี้ยังได้เน้นนโยบายที่ส่งเสริมการเจริญเติบโต โดยได้ลดภาษีและตัดระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการทำธุรกรรม พร้อมทั้งเพิ่มรายได้ต่อครัวเรือนให้มากขึ้น ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำว่า ขอให้ทุกประเทศสนับสนุนนโยบายของสหรัฐฯ ที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและสร้างโอกาสร่วมกันมากขึ้น ทั้งสหรัฐฯ และทั่วโลก