โหมไฟสงครามเมียนมา?!? USA-UN เล็งหนุนรัฐบาลปชต.หุ่นเชิด กองทัพปราบเดือดทำอาเซียนนั่งไม่ติด ระวังกวักมือต่างชาติเคลื่อนกำลังรบ

1743

พม่าตกอยู่ในภาวะวิกฤตนับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 และควบคุมตัวอองซานซูจี และผู้นำพรรคของซูจีอีกหลายคน หลังกองทัพร้องเรียนว่ามีการโกงการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย. ที่พรรคของซูจีเป็นฝ่ายชนะ และล่าสุดคณะกรรมการการเลือกตั้งระบุว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาถือเป็นโมฆะเนื่องจากพบว่ามีการทุจริตอย่างกว้างขวาง ก่อกระแสโกรธเกรี้ยวในหมู่ผู้ประท้วงที่ดำเนินมายาว นานกว่า 3 สัปดาห์ เมื่อคณะทำงานของพรรคเอ็นแอลดีของซูจี ประกาศเตรียมตั้งรัฐบาลคู่ขนาน พร้อมกับการแสดงท่าทีสนับสนุนของสหรัฐและสหประชาชาติ  การปราบปรามเริ่มดุเดือดขึ้น ท่ามกลางการประท้วงที่เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณคนและความตึงเครียดรุนแรงขึ้น แม้ว่าสื่อนานาชาติและเอ็นจีโอ ต่างป่าวประกาศว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบสันติ สลับภาพมาดูการชุมนุมในไทยโดยม็อบชังชาติทั้งหลายที่อ้างสงบสันติก็คงไม่ต่างกัน 

วันที่ 1 มี.ค.2564 สำนักข่าวเมียนมานาว (Myanmar Now)รายงานว่า นางอองซาน ซูจีถูกย้ายที่ควบคุมตัวในสัปดาห์นี้ จากการกักบริเวณในบ้านพักในกรุงเนปีดอว์ไปยังสถานที่ที่ไม่เปิดเผย ตามคำกล่าวของเจ้าหน้าที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD)

ทนายความของซูจีกล่าวว่า เขาได้รับการบอกกล่าวแบบเดียวกันกับเจ้าหน้าที่ของ NLD และเขาได้ร้องเรียนว่าเขาไม่สามารถเตรียมการได้อย่างเหมาะสมสำหรับการพิจารณาคดีครั้งถัดไปของซูจีในวันจันทร์ที่ 1 มี.ค.2564 เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงตัวซูจี

พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของซูจี มีแผนจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว (interim government) ขึ้นมาท้าทายอำนาจของกองทัพพม่า และจะขอการรับรองจากสหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร และองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)

ดร.ซาซา (Sa Sa) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนรัฐสภาพม่า หรือ ปยีดองซู ฮลุตตอ (Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw – CRPH) ในเวทียูเอ็น ได้แจกแจงแผนดังกล่าวขณะให้สัมภาษณ์ทางวิดีโอกับหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ส และได้ตำหนิประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ว่า “ไม่ยืนหยัดร่วมกับประชาชนชาวพม่า” หลังจากเจ้าหน้าที่ไทยและอินโดนีเซีย ได้มีการพบปะกับ “วันนา หม่อง ละวิน” รัฐมนตรีต่างประเทศของ รัฐบาลเฉพาะกาลคณะทหารพม่า ที่กรุงเทพมหานคร เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

“พวกเขาไม่ควรเปิดการเจรจาใดๆ ทั้งสิ้น จนกว่า อองซาน ซูจี ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งของเรา จะได้รับการปล่อยตัว”

คำพูดของ ซาซา สะท้อนความพยายามของผู้นำพลเรือนพม่าที่หวังจะสถาปนาโครงสร้างอำนาจใหม่ ขึ้นมาแข่งขันกับคณะผู้นำทหารของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เพื่อช่วงชิงการยอมรับจากนานาชาติ แต่ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากจะถูกกองทัพสกัดขัดขวางแล้ว เพื่อนบ้านบางประเทศก็เริ่มที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับรัฐบาลเฉพาะกาลของพม่า เนื่องจากกฎหมายรัฐธรรมนูญของพม่าให้สิทธิกองทัพดำเนินการได้ 

เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2564 ทางการพม่าได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พ.ย. ปีที่แล้ว “เป็นโมฆะ” เนื่องจากมีการทุจริตโกงการเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง

ขณะเดียวกัน กองกำลังความมั่นคงพม่าก็เริ่มที่จะยกระดับปราบปรามประชาชนที่ออกมาชุมนุมประท้วงและนัดหยุดงานทั่วประเทศ โดยมีรายงานผู้ประท้วงถูกยิงทั้งที่นครย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายผู้ประท้วงพม่าได้รับแรงหนุนที่สำคัญจากการเคลื่อนไหวในระดับสากล  เมื่อ จอ โม ตุน (Kyaw Moe Tun) เอกอัครราชทูตพม่าประจำองค์การสหประชาชาติ กล่าวสุนทรพจน์ประณามคณะรัฐประหารกลางเวทีสมัชชาใหญ่ยูเอ็นที่นครนิวยอร์กในวันเดียวกัน พร้อมทั้งประกาศตัวอยู่ข้างรัฐบาลพลเรือนของอองซาน ซูจี และเรียกร้องให้ประชาคมโลกใช้ทุกมาตรการที่จำเป็นกดดันกองทัพพม่าให้ยอมสละอำนาจ

ภายหลังการรัฐประหาร ส.ส.พรรคเอ็นแอลดี ที่รอดจากการถูกจับกุมได้ร่วมกันก่อตั้งคณะกรรมการตัวแทน CRPH ขึ้น และจัดพิธีสาบานตนขึ้นมาเอง พร้อมทั้งมีการแต่งตั้ง ดร.ซาซา ซึ่งเป็นแพทย์และผู้ทำงานด้านการกุศลเป็นตัวแทน CRPH ประจำยูเอ็น และให้ ติน ลิน ออง (Htin Lin Aung) อดีตนักโทษการเมือง ซึ่งอาศัยอยู่ที่รัฐแมริแลนด์ เป็นผู้แทนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ซาซา ยืนยันว่า CRPH มีความมุ่งมั่นที่จะตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นในประเทศเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวเมียนมา “เราพร้อมจะทำงานร่วมกับประชาคมโลกอย่างใกล้ชิด รวมถึงกับจีนและอินเดียด้วย” เขายังกล่าวอีกว่า “การมีประเทศเพื่อนบ้านที่มีเสถียรภาพย่อมจะเป็นประโยชน์มากกว่าสำหรับอาเซียน”

นายวันนา หม่อง ละวิน รัฐมนตรีต่างประเทศของคณะรัฐประหารพม่า ได้บินมายังประเทศไทย เมื่อวันพุธที่ 24 ก.พ.2564 เพื่อร่วมหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ นางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งได้กล่าวแสดงความกังวลเรื่องความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาชนชาวพม่า

ข่าวการพบปะหารือทางการทูตครั้งนี้ สร้างความโกรธแค้นต่อผู้ประท้วงในนครย่างกุ้ง ซึ่งพากันไปประท้วงที่ด้านนอกสถานทูตอินโดนีเซีย “เราไม่ต้องการให้เพื่อนบ้านในอาเซียน หรือรัฐบาลของชาติใดๆ เข้าไปติดต่อพูดคุยกับคณะรัฐประหารในตอนนี้” ซาซา กล่าว และย้ำว่า “พวกเขาควรจะทำงานร่วมกับเรามากกว่า”

วันเสาร์ที่ 27 ก.พ.2564 หลังจากข่าวทางการพม่าปราบดุเดือดม็อบถึงขั้นเสียชีวิตถึง 18 ราย ทำให้อินโดนีเซียได้แสดงความห่วงกังวลสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมามากยิ่งขึ้น และข่าวการชูสามนิ้วของทูตประจำUN ของพม่าที่แต่งตั้งโดยอองซาน ซูจีสร้างความฮือฮาไปทั่วโลก และทั้งสหรัฐและUNรับลูกทันควัน

สำนักข่าวเดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ (The NewYork Times) รายงานว่า จอ โม ตุน (Kyaw Moe Tun) เอกอัครราชทูตพม่าประจำสหประชาชาติ  ปิดท้ายสุนทรพจน์ที่สหประชาชาติด้วยการชูสามนิ้วแสดงท่าทางจากภาพยนตร์เรื่อง Hunger Games ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านประชาธิปไตยของกลุ่มผู้ประท้วงในเมียนมา ฮ่องกง และประเทศไทย

ขณะที่ทางการพม่าประกาศว่าเขา “ทรยศประเทศและพูดแทนองค์กรที่ไม่เป็นทางการซึ่งไม่ได้เป็นตัวแทนของประเทศและใช้อำนาจและความรับผิดชอบของทูตในทางมิชอบ”

คริสตีน ชราเนอร์ เบิร์เกอเนอร์ (Christine Schraner Burgener) ทูตพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติประจำเมียนมาได้เตือนที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่มีสมาชิก 193 คนเมื่อวันศุกร์ว่าไม่ควรมีประเทศใดที่ควรยอมรับหรือให้ความชอบธรรมกับรัฐบาลทหารเมียนมา

สถานการณ์ความรุนแรงปะทุเดือด  เมื่อตำรวจปราบจลาจลเมียนมาปราบหนักทำให้มีผู้เสียชีวิต 18 ราย และจับกุมผู้ชุมนุมกว่า 470 คน

วันที่ 1 มีนาคม 2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) ออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมประท้วงในเมียนมาเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

แถลงการณ์ระบุว่า ตำรวจยิงปืนด้วยกระสุนจริง ใส่ผู้ประท้วงเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 18 คนเมื่อวันอาทิตย์ และบาดเจ็บอีกมากกว่า 30 คน ซึ่งนับเป็นการปราบปรามนองเลือดที่สุดนับแต่ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา มีรายงานผู้เสียชีวิต ในเมืองย่างกุ้ง, ทวาย, มัณฑะเลย์, มะริด, พะโค และปะโกะกู และมีรายงานการใช้แก๊สน้ำตาในหลายพื้นที่ รวมถึงการใช้ระเบิดแสงวาบและระเบิดเสียงด้วย

ก่อนหน้านี้ นายโจ ไบเดนประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา สั่งคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับผู้นำทหารพม่า และครอบครัวทั้งหมด แบนธุรกิจที่กองทัพพม่ามีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมทั้งยึดทรัพย์กองทุนมูลค่าพันล้านเหรียญดอลลาร์ของเมียนมาที่ฝากอยู่ในสหรัฐฯไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ได้เปิดเผยแผนการใหญ่ในการจัดประชุมผู้นำประชาธิปไตยระดับโลก ในการประชุม G7 เพื่อสร้างรัฐบาลตัวแทนประชาธิปไตยแบบสหรัฐในทุกภูมิภาคของโลกอย่างเปิดเผย