ฝรั่งเศสเอาจริง!?! ปรับหนักกูเกิล-อเมซอนเกือบ 5,000 ล้านบาท ฐานปล่อยคุกกี้โฆษณาโดยผู้ใช้ไม่ยินยอม

1744

ฝรั่งเศสปรับเงิน “กูเกิล – อเมซอน” 135 ล้านยูโร (ประมาณ 4,912 ล้านบาท) ปล่อยคุกกี้โฆษณา แสดงบนจอคอมพิวเตอร์ผู้ใช้ โดยไม่ได้รับความยินยอม ขณะที่สหภาพยุโรปเตรียมออกกม.เข้มคุมบริษัทเทคฯยักษ์ ด้านภาษี-กฎระเบียบการแข่งขันการค้า เป็นกม.ควบคุมอำนาจแพลตฟอร์มเหนือตลาดผู้บริโภค ยุโรปขยับจริงจัง ไม่ปล่อยบริษัทเทคฯหาประโยชน์ไร้ความรับผิดชอบ รัฐบาลไทยน่าศึกษากรณีตัวอย่าง ควรทำอย่างยิ่ง ทำช้าดีกว่าไม่ทำ แต่ดีที่สุดควรมีแพลตฟอร์มของไทยเอง พึ่งตนเองรวยเอง

วันที่ 10 ธ.ค.2563 หน่วยงานด้านการกำกับดูแลข้อมูลความเป็นส่วนตัวของฝรั่งเศส (CNIL) เปิดเผยว่า ได้เรียกเก็บเงินค่าปรับจากบริษัท 2 แห่งอยู่ภายใต้กูเกิล เป็นมูลค่ารวม 100 ล้านยูโร(3,639 ล้านบาท) และบริษัทย่อยของอเมซอน ที่อยู่ในฝรั่งเศสอีก 35 ล้านยูโร (1,273.65 ล้านบาท) เนื่องจากปล่อยให้แสดงคุกกี้โฆษณาบนคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ โดยไม่ได้รับการยินยอมล่วงหน้า และไม่ได้ให้ข้อมูลที่เพียงพอกับผู้ใช้

อย่างไรก็ตาม คุกกี้ คือไฟล์ที่เว็บไซต์ต่างๆ เกี่ยวข้องกับผู้ใช้คอมพิวเตอร์สนใจ ซึ่งช่วยให้การเปิดดูสิ่งต่างๆ ทางออนไลน์ได้ง่ายขึ้นด้วยการบันทึกข้อมูลการท่องเว็บ ขณะเดียวกันเว็บไซต์ใช้คุกกี้เพื่อให้คุณลงชื่อเข้าใช้อยู่เสมอ จดจำค่ากำหนดเว็บไซต์ และจัดหาเนื้อหาเกี่ยวข้องที่ผู้ใช้สนใจ

ใช้เสรีภาพเบียดเบียนรายย่อย-ผูกขาดค้า?

สหภาพยุโรปเตรียมร่างลิสต์รายชื่อบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่มากกว่า 20 แห่ง (Hit List) ทั่วโลก ซึ่งอาจจะรวมถึง Facebook และ Apple เพื่อเตรียมผ่านร่างกฎหมายการให้บริการที่เข้มงวดมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อควบคุมอำนาจในตลาดของบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ และเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินธุรกิจของบิ๊กเทคฯ ให้เป็นไปตามวิธีปฏิบัติของตลาดที่เป็นธรรมและไม่ผูกขาดตลาดโดยไม่ต้องดำเนินการตรวจสอบแต่อย่างใด

The Financial Times รายงานว่า เมื่อบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายพบว่าตัวเองมีชื่อปรากฏอยู่ในรายชื่อที่ผู้ออกกฎหมาย (Regulators) ของสหภาพยุโรปได้ลิสต์เอาไว้ บริษัทเทคโนโลยีเหล่านั้นก็จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและกฎหมายที่เข้มงวดกว่าบริษัทคู่แข่งรายเล็กๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน 

เกณฑ์การประเมินรายชื่อบริษัทเทคโนโลยีที่จะเข้ามาอยู่ในลิสต์นี้จะประกอบด้วยหลายปัจจัย เช่น ส่วนแบ่งการตลาดด้านรายได้ ไปจนถึงฐานผู้ใช้งาน และบริษัทเทคโนโลยีที่ดูแข็งแกร่งมากๆ จนแทบจะผูกขาดตลาดและบริษัทเล็กๆ ไม่สามารถต่อกรได้ จึงเป็นไปได้ที่บริษัทอย่าง Facebook, Google, Amazon หรือ Apple จะมีรายชื่อในลิสต์ดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 แหล่งข่าวใกล้ชิดยังเปิดเผยอีกด้วยว่า กฎหมายใหม่ฉบับนี้ยังมีข้อกำหนดที่บีบให้ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในลิสต์รายชื่อ จะต้องแชร์ข้อมูลกับคู่แข่งอีกด้วย รวมถึงจะต้องเปิดเผยอย่างโปร่งใสถึงวิธีการที่พวกเขาได้รับข้อมูลเหล่านั้นมา

อย่างไรก็ดี แนวคิดของร่างกฎหมาย Hit List ฉบับนี้ยังต้องถูกนำเข้าที่ประชุมท่ามกลางการพิจารณาของสมาชิกอาวุโสของสหภาพยุโรปอีกครั้ง เพื่อบรรจุข้อบังคับนี้ลงไปในกฎหมายการควบคุมอำนาจของบรรดาแพลตฟอร์มดิจิทัลในฐานะที่พวกเขาต้องปฏิบัติตัวไม่ต่างจาก Gatekeepers คัดกรองและแสดงผลข้อมูลต่างๆ

บริษัทเทคฯยักษ์โดนมาตรการภาษี

บรูโน เลอ แมร์ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของฝรั่งเศส ได้เปิดเผยว่า(พ.ย.2563) บริษัท Google (GOOGL), Facebook (FB) และ Amazon (AMZN) เป็นกลุ่มบริษัทที่ได้รับการแจ้งเตือนว่าจะต้องชำระภาษีให้รัฐบาลฝรั่งเศส ในปี 2020  จำนวน 3% เนื่องจากถือเป็นบริษัทสหรัฐฯ ที่มีรายได้ทั่วโลกมากกว่าราว 750 ล้านยูโร หรือกว่า 27,140 ล้านบาท

อังกฤษนำร่องไม่รอสหภาพยุโรป ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2019 ล่าสุดได้มีการเผยแพร่ร่างกฎหมายการเก็บภาษีดิจิทัล ซึ่งจะเรียกเก็บภาษีในอัตรา 2% จากรายได้รวมของบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับแฟลตฟอร์มโซเชี่ยลมีเดีย บริการค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต และตลาดออนไลน์ที่มีชาวอังกฤษเป็นผู้บริโภค โดยบริษัทนั้นจะต้องมีรายได้รวมทั่วโลกมากกว่า 500 ล้านปอนด์ และ 25 ล้านปอนด์สำหรับในอังกฤษ ซึ่งการดำเนินการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว ไม่วุ่นวายและยุ่งยากเท่ากับกรณี Brexit เพราะได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากสมาชิกรัฐสภา ทั้งนี้ การเก็บภาษีเริ่มใช้ในเดือนเม.ย. 2020 และคาดว่าจะได้รับรายได้กว่า 400 ล้านปอนด์ในปี 2022