การเดิมพันของรุ้งกับรอยยิ้มอย่างสะใจของปวิน

3915

สืบเนื่องจากกรณีสารคดี “The student protest leader challenging the Thai King”  ที่จัดทำขึ้นโดย SBS Dateline ซึ่งเป็นรายการโทรทัศน์สาธารณะของออสเตรเลียที่ออกอากาศทาง SBS

เนื้อหาของสารคดีดังกล่าวได้ถ่ายทอดเหตุการณ์การเมืองปัจจุบันของประเทศไทย ผ่าน นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง หนึ่งในแกนนำคนสำคัญของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เรียกตัวเองว่าคณะราษฎร :ซึ่งได้เผยแพร่ทางช่องทางออนไลน์ ในวันที่ 28 ตุลาคม 2563 โดยส่วนหนึ่งของคลิปวิดีโอได้มีบทสัมภาษณ์ของ นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ 

ล่าสุด อาจารย์ สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับสารคดีดังกล่าว โดยโพสต์ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

การเดิมพันของรุ้งกับรอยยิ้มอย่างสะใจของปวิน / สุวินัย ภรณวลัย
/////
ผมเพิ่งได้ดูสารคดี “The student protest leader challenging the Thai King” จบเมื่อครู่นี้เอง มันเป็นสารคดีของ SBS Dateline จากออสเตรเลีย
สารคดีนี้ทำขึ้นอย่างมืออาชีพ วางตัวเป็นการอย่างล้วงลึก จนแทบเรียกได้ว่านำเสนอจากมุมมองของ “ผู้สังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม”
เพราะเข้าไปถ่ายทำแบบสารคดี “คนค้นคน” คือเป็นงานที่ถ่ายทำกันจริงจังมากๆ จนสามารถเข้าไปถ่ายบ้านพักของกลุ่มคณะราษฎร์ 63 และรวบรวมเก็บฟุตเทจอย่างละเอียดตั้งแต่ 18 กรกฎาคม จนถึง 20 ตุลาคม 2563

ต้องยอมรับว่าคนทำสารคดีนี้เข้าใจการเมืองไทยเป็นอย่างดี ราวกับมีคนไทยมาช่วยกำกับด้วยตัวเอง
แถมสารคดีนี้ยังถ่อไปสัมภาษณ์ปวินถึงมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่นด้วย
สารคดีนี้ เดินเรื่องโดยใช้ รุ้งเป็นคนนำเรื่องตั้งแต่ต้นจนเธอถูกจับ
ผมมีข้อสังเกตส่วนตัวเกี่ยวกับรุ้งในสารคดีนี้ดังต่อไปนี้

(1) ในบ้านเช่าที่แกนนำม็อบคณะราษฏร63 สุมหัวกันอยู่ด้วยกัน โดยรุ้งเป็นหัวหน้านั้น  มี #ลักษณะคล้ายชมรมในมหาวิยาลัยมากกว่า
องค์กรจัดตั้งอย่างจริงจังของนักปฏิวัติมืออาชีพ
#เยาวชนกลุ่มนี้คลั่งไคล้หลงไหลในตำนานการปฏิวัติไทย พวกเขาเล่นกีต้าร์ร้องเพลงปฏิวัติไทยที่แต่งโดยนักปฏิวัติไทยรุ่นก่อนเมื่อ 50-60 ปีก่อน
วาทกรรมที่รุ้งใช้ แว่นสีที่รุ้งใช้มองความเป็นจริง เป็นภาษาฝ่ายซ้ายล้วนๆ จนรุ้งและพวกหมกมุ่นความคิดใน “โลกของนักปฏิวัติ” อย่างถลำลึกชนิดถอนตัวไม่ได้แล้ว

(2) ในตอนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์กับคนทำสารคดีนี้ รุ้งพูดออกมาเองว่า เธอวางเดิมพันชีวิตของเธอไว้ที่ “การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” โดยเธอเลือกข้างเดิมพันว่า คนรุ่นเธอสามารถชนะเดิมพันนี้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้สำเร็จ

(3)  การเกิดม็อบคณะราษฏร์63 ที่มีผู้มาชุมนุมในช่วงพีคสุดราวๆสองหมื่นห้าพันคน  …จริงๆแล้วเกิดจากการทุ่มเทเดิมพันของเหล่าแกนนำคณะราษฏร63 อย่างรุ้ง  เพนกวิ้น ไมค์ และทนายอานนท์นั่นเอง  ซึ่งแน่นอนว่า #พวกเขาประเมินสถานการณ์ผิดพลาดมากๆ
ชัดเจนว่าพวกเขาต้องการ “เปลี่ยนโลก เปลี่ยนความจริงตรงหน้าให้ตามใจพวกตน”  ทำได้หรือไม่นั่นเป็นอีกเรื่อง  แต่ที่แน่ๆพวกเขาได้ลงมือทำจริงๆ

(4) แปลกแต่จริง ภาพที่ติดตาผมในสารคดีนี้มากที่สุดกลับไม่ใช่ภาพของรุ้งนะ แต่คือภาพแสยะยิ้มของปวินอย่างสะใจตอนเขาให้สัมภาษณ์คนทำสารคดีนี้มากกว่า

(5)  ถ้าเรามองย้อนเหตุการณ์ลุกฮือ (uprising) ของม็อบคณะราษฏร์63 นี้ ด้วยสายตาที่เยือกเย็นและยาวไกลของนกอินทรีที่มองการก่อความวุ่นวายของผู้คนลงมาจากท้องฟ้า แบบในภาพยนต์เรื่อง 乱 (ran อ่านว่า รัน ในภาษาญี่ปุ่น) ของผู้กำกับคุโรซะวะ อาคิระ

เราน่าจะได้ข้อสรุปตรงกันว่า  … #การลุกฮือแบบนี้มันไม่คู่ควรและไม่คุ้มค่าที่จะเอาชีวิตทั้งชีวิตของตัวเองไปแลกเลย  … โลกมันก็เป็นเช่นนี้ของมันอย่างนี้แหละ
เราเปลี่ยนโลกไม่ได้หรอก เพราะแค่เร่าร้อนที่อยากจะเปลี่ยนโลก ดุจเอาศีรษะไปพุ่งชนกำแพงเหล็ก
#แต่เราเปลี่ยนแปลงตัวเองได้แน่นอน
นี่คือสัจธรรมชีวิตที่คนรุ่นนี้ควรได้เรียนจากประสบการณ์โดยตรงของพวกเขาเอง
เราเปลี่ยนโลกไม่ได้หรอก เพราะแค่เร่าร้อนที่อยากจะเปลี่ยนโลก ดุจเอาศีรษะไปพุ่งชนกำแพงเหล็ก
#แต่เราเปลี่ยนแปลงตัวเองได้แน่นอน
นี่คือสัจธรรมชีวิตที่คนรุ่นนี้ควรได้เรียนจากประสบการณ์โดยตรงของพวกเขา”