หลังจากเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านรายการโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจว่า ประเทศไทยจะ “เปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ โดยไม่ต้องกักตัว”
โดยระบุว่าด้วยว่าประชาชนที่เคารพรักทุกท่าน หนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา เราได้ผ่านความท้าทายที่หากไม่นับช่วงเวลาศึกสงคราม นี่ถือเป็นความท้าทาย ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นวิกฤตการณ์ที่ไม่มีใครในประเทศ ไม่ได้รับผลกระทบ
เช่นเดียวกันก็ไม่มีประเทศไหนในโลก ที่ไม่ได้รับผลกระทบที่ผ่านมา เป็นความหนักใจที่สุดในชีวิตของตนด้วย ที่ต้องตัดสินใจเลือก ระหว่างปกป้องชีวิตคน กับปกป้องการทํามาหากิน เป็น 2 ทางเลือกที่ไม่สามารถแยกขาดออกจากกันได้
และยังมีบางช่วง บางตอนที่น่าสนใจ ว่าวันนี้ความเสี่ยงในเรื่องการสูญเสียชีวิตที่จะเกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19ในประเทศไทย กําลังค่อยๆ ลดลง ถึงแม้ว่าความเสี่ยงนั้นจะยังมีอยู่ และเรายังต้องระวังรักษาความสามารถของระบบสาธารณสุข โรงพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ของเราอยู่ก็ตาม
ตอนนี้ถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องค่อยๆ เตรียมตัว กล้าที่จะเผชิญหน้ากับโควิด-19 โดยมีความพร้อมเรื่องยารักษาและวัคซีนป้องกันมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปอีกไม่นาน เราก็จะต้องเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่กับมันเหมือนกับโรคภัยอื่นๆ ที่กลายเป็นโรคประจําถิ่นวันนี้ ผมอยากประกาศ หนึ่งก้าวเล็ก ๆ แต่เป็นก้าวที่สําคัญ ที่เรากําลังจะเดินหน้า บนเส้นทางที่จะช่วยให้พี่น้องประชาชน สามารถกลับมาทํามาหาเลี้ยงตัวเองกันได้อีกครั้ง
ทั้งนี้การเปิดประเทศ หากนับจากวันที่ 16 มิ.ย.2564 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้คำมั่นกับประชาชนเอาไว้ว่าจะเปิดประเทศใน 120 วัน ซึ่งจะครบกำหนด 120 วัน ในวันที่ 14 ต.ค.2564 และพล.อ.ประยุทธ์ได้แถลงในวันที่ 11 ต.ค. 2564 ก่อนถึงกำหนด 3 วัน
ขณะที่ทางด้านนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล ได้ทวิตข้อความ ก่อนที่นายกฯจะแถลง ในทำนองทวงสัญญา ว่าใกล้จะครบกำหนดเปิดประเทศแล้ว โดยระบุว่า “14 ต.ค. นี้ จะครบ 120 วัน ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้คำมั่นเปิดประเทศ การระบาดที่แพร่กระจายไปยังต่างจังหวัด การทยอยเปิดประเทศ จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ และเกณฑ์ที่ชัด รัฐบาลต้องทำให้โควิดเป็น Normality ให้ได้เสียก่อน และนี่คือการบ้าน 6 ข้อ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องทำ”
และยังได้เผยแพร่เอกสารถ้อยแถลง โดยอ้างว่ามีคนส่งสคริปต์มาให้ จะรอดูว่าพล.อ.ประยุทธ์ พูดตรงตามนี้หรือไม่ แต่ทั้งนี้ทันทีที่พล.อ.ประยุทธ์ แถลงเปิดประเทศ นายวิโรจน์ก็ได้เคลื่อนไหว ให้สัมภาษณ์สื่ออีกว่า “เปิดประเทศไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ คิดจะเปิดก็เปิด คิดจะปิดก็ปิด พอไม่กล้าปิด ก็ฝืนเปิด แล้วก็มาปิดแบบกะทันหัน จนสร้างความสูญเสียให้กับประชาชน” จนทำให้กลุ่มกองหนุนได้เข้ามาคอมเม้นต์ว่า เปิดประเทศได้ แต่อีกวันก็ต้องปิด
รวมทั้งนายวิโรจน์ยังเสนอแนวทาง 6 ข้อ ให้รัฐบาลทำเป็นรูปธรรม พร้อมบอกว่า รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม และมีการสื่อสารให้กับประชาชนทราบอย่างโปร่งใส เพราะการเปิดการท่องเที่ยว เปิดเศรษฐกิจ จำเป็นต้องทำให้ประชาชนมีความมั่นใจ และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ร่วมกันกับรัฐบาล แต่หากไม่ได้ทำการบ้านทั้ง 6 ข้อ การเปิดการท่องเที่ยว และการเปิดเศรษฐกิจ ก็จะเป็นการ “ฝืนเปิด” แทนที่ประชาชนจะได้รับผลประโยชน์ กลับกลายเป็นการลวงให้ประชาชนเดินทางมาพบกับความสูญเสียครั้งใหญ่ เพราะประชาชนจำนวนไม่น้อย ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน หรือนำเอาเงินก้อนสุดท้ายในชีวิต มาใช้ในการลงทุนฟื้นฟูกิจการ หากเปิดได้สักพัก ก็ต้องปิดอีก เพราะไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ ประชาชนก็มีแต่จะสิ้นเนื้อประดาตัว
อย่างไรก็ตามการโพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ของนายวิโรจน์ ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า นายกฯ เพียงอยากรีบเปิดประเทศเพราะกลัวเสียหน้า หากไม่ทำตามสัญญา แต่ในอีกมุมหนึ่งคือรัฐบาลได้เตรียมเงื่อนไขรองรับ และมีมาตรการที่รัดกุม รอบคอบ และก็มีกระแสโต้กลับนายวิโรจน์เช่นกันว่า ในฐานะที่เป็นส.ส. ต้องทำประโยชน์ให้สังคม ไม่ใช่ทำเหมือนไม่อยากเห็นประเทศกลับมาคึกคัก หาแสงได้ทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องที่ดีต่อประเทศชาติไม่เคยทำ