เปิดนโยบายปธ.ศาลฎีกา กับคำถามสะเทือน! หรือเสียงขู่พวกทำผิดกม.ดังกว่าเสียงปชช.?

9082

จากคำถามของม.จ.จุลเจิม ยุคล ถึงวันนี้ต้องบอกว่า เรียกเสียงให้สังคมตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับศาลเกี่ยวเนื่องจากคดีม็อบที่หมิ่นสถาบันรวมทั้งกรณีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ไลฟ์สดวัคซีนพระราชทานและการจาบจ้วงต่อหน้าบัลลังก์ศาล

ทั้งนี้ประชาชนอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไม มีเหตุผลอะไรที่ศาลให้ประกันตัวผู้ถูกกล่าวหาตามความผิดมาตรา 112 ครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยคำวิพากษ์วิจารณ์ที่สังคมตั้งข้อสงสัยว่าตำรวจจับ – ศาลปล่อย??? เช่นนี้เองที่วันนี้อยากจะพาไปทำความรู้จักกับประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวทางนโยบายการให้ความยุติธรรมว่ามีแนวคิดวิธีการอย่างไร เพราะในห้วงเวลาเดียวกันก็มีเสียงข่มขู่จากแกนนำม็อบและแนวร่วมดังอยู่เกือบตลอดเวลาด้วย

24 ธันวาคม 2563 นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกาคนใหม่ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงการทำงานของศาลฎีกากับสื่อมวลชน โดยตอนหนึ่งผู้สื่อข่าวสอบถามนางเมทินี

กรณีมีกระแสทางการเมืองวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเป็นกลางของศาล นางเมทินี กล่าวว่า การทำงานของศาลเราพยายามอยู่ตรงจุดที่เป็นกลางที่สุดแล้ว จะไม่ให้การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอะไร แต่เวลาที่มีการกล่าวถึงอ้างอิงถึง ก็สุดแท้แต่คนจะมอง คือทำอะไรไปอย่างหนึ่ง เป็นศาลก็จะโดนว่าทั้งคู่ไม่ว่าจะมีคำสั่งหรือมีแนวทางอะไรก็ตาม เป็นธรรมชาติการทำงานของศาลว่าจะต้องมีฝ่ายหนึ่งพอใจ ฝ่ายหนึ่งไม่พอใจ หรือไม่พอใจทั้งสองฝ่าย แต่ว่าอยากให้ทุกคนได้ดูสิ่งที่เราทำออกไปว่าให้ความเป็นธรรมอยู่แล้วหรือยัง ดูดีหรือยัง

“ทุกครั้งจะเรียนท่านผู้พิพากษาว่าการสั่ง หรือมีคำพิพากษา หรือมีคำสั่งในเรื่องใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ถ้าเรามีเหตุผลในคำสั่งนั้นอย่างชัดเจน คำสั่งที่แตกต่างกัน ผลที่แตกต่างกัน ต้องให้เหตุผลให้เห็นว่าแต่ละเคสมันต่างกันอย่างไร ผลออกไปถึงต่างกัน เพราะฉะนั้นเวลาที่คนดู จะไปดูผลอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูสาเหตุว่าฟ้องข้อหาอะไร มีปัจจัยอะไร ในคำสั่งมีเหตุผลห้อยประกอบอย่างไร ส่วนเหตุผลจะชอบใจหรือไม่ชอบใจ อันนี้ก็แล้วแต่คนแล้ว แต่เชื่อว่าเราวางตัว เท่าที่ผ่านมาก็พอใจในการทำงานของท่านผู้พิพากษาในแต่ละศาล ท่านก็ได้รักษาจุดยืนที่มั่นคงพอสมควรในการให้เหตุผลประกอบในการมีคำสั่ง ถือว่าชัดเจน” นางเมทินี กล่าว

3 กุมภาพันธ์ 2564  นางเมทินี และคณะผู้บริหารศาลยุติธรรม ร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เพื่อหารือข้อราชการเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ โดยในการหารือดังกล่าว ได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นในปัญหา ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า กระบวนการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องของศาลยุติธรรมเป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนซึ่งเป็นลูกหนี้ เพื่อมิให้ต้องสูญเสียทรัพย์สินจากกระบวนการบังคับคดี โดยศาลมีบทบาทเชิงรุกตั้งแต่ต้นในการแก้ปัญหาหนี้ช่วงภาวะโควิดที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม

โดยนายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวภายหลังการประชุมว่า เรื่องนี้ได้มีดำริของ นางเมทินี ประธานศาลฎีกา ว่าศาลจะต้องทำงานเชิงรุกเพื่อช่วยเหลือให้ความเป็นธรรมกับประชาชน จากคำกล่าวสมัยก่อนที่ว่าศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน แต่ในสมัยนี้จากนโยบายของท่านประธานศาลฎีกา จะต้องเปลี่ยนแนวคิดเป็นว่าศาลจะต้องเป็นที่พึ่งแรกของประชาชน ซึ่งการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องคดีเป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า แม้ยังไม่มีคดีในศาล ศาลก็สามารถเป็นที่พึ่งแรกของประชาชนได้

นั่นคือแนวทางนโยบายเบื้องต้นที่ประธานศาลฎีกา ได้มีออกมาปรากฏต่อสาธารณะ ให้รับทราบถึงการทำงานภายใต้กระบวนการยุติธรรม ซึ่งท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่เข้มข้นเมื่อบรรดาแกนนำม็อบคณะราษฎร แนวร่วม กระทั่งนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ที่ถูกดำเนินคดี โดยเหตุการณ์ดังกล่าวที่สังคมมักได้ยินเสียงข่มขู่ออกมาเสมอเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของตำรวจหรือตุลาการศาล เช่น

5 กุมภาพันธ์ 2564  นายอานนท์  นำภา  แกนนำกลุ่ม “ราษฎร”  หรือ “ม็อบ 3 นิ้ว”  ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า “ลือกันไปถึงขนาดส่งเสี่ยโบ้เข้าคุกไปรอจัดการนักศึกษา นี่มันจะนิยายเกินไปมั้ง

ตำรวจอาจฝากขังนักศึกษา ลองจับตากันครับว่าจะยังไง” “ถ้าตำรวจฝากขังเพื่อนเราแล้วศาลไม่ให้ประกัน ก็เริ่มต้นม็อบอย่างเป็นทางการ  สถานที่ และเวลา ติดตามที่เพจเครือข่ายราษฎร

หรือหากจะย้อนไปก่อนั้น  8 สิงหาคม 2563 หลังจากพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ คุมตัวนายอานนท์ นำภา ทนายความ และนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ “ไมค์ ระยอง” แกนนำเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย ผู้ต้องหาคดียุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จากการร่วมชุมนุมปราศรัยกับกลุ่มเยาวชนปลดแอก ไปขออำนาจศาลอาญาฝากขัง หลังจากพาตัวไปฝากขังแต่ศาลไม่รับคำร้อง เนื่องจากพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องหลังเวลาราชการ ทำให้ต้องพาตัวผู้ต้องหาทั้ง  2  คนไปควบคุมที่ สน.ห้วยขวาง เพื่อรอการฝากขังในช่วงเช้า ท่ามกลางกลุ่มผู้สนับสนุนที่ปักหลักให้กำลังใจต่อเนื่องตลอดทั้งคืนรวมทั้งมีการระดมมวลชนไปรวมตัวที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษ

ต่อมา สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย – Student Union of Thailand ประกาศผ่านเฟชบุ๊กว่า “ถ้าอานนท์ และไมค์ต้องติดคุก เราจะยกระดับการชุมนุม และตั้งเวทีที่ศาลอาญารัชดา ขอให้ทุกคนมารวมกันที่นี่ เวลานี้”

นอกจากนี้สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ยังออกแถลงการณ์เรื่อง ขอประณามการออกหมายจับแกนนำ และเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมจากกรณีดังกล่าวโดยทันทีด้วย