“ไทยคม” ปิดฉากสัมปทาน 30 ปี ย้อนรอยความเป็นมาที่เนิ่นนานมาถึุง 20 ปี จุดเปลี่ยนสำคัญ ของการทุจริตเชิงนโยบายที่ชัดเจนและศาลฎีกาฯตัดสินว่าผิดแล้วคือเหตุการณ์การอนุมัติแก้ไขสัญญา ฉบับที่ 5 เเละ ลำดับเหตุการณ์การอนุมัติโครงการดาวเทียมไทยคม 4 ไอพีสตาร์ อ้างเป็นดาวเทียมสำรองเพื่อจะเบี้ยวไม่ต้องจ่ายแม้แต่บาทเดียว เอามาทำมาหากินรวยอู้ฟู่ 2 ทศวรรษ เมื่อรัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการรื้อฟื้นเบื้องหลังก็ต้องดำเนินการให้ถึงที่สุด ว่าการยกเว้นภาษี 16,000 ล้านบาทตั้งแต่ไอพีสตาร์เกิดในสมัยทักษิณ ใครจะต้องจ่ายเงินคืนส่วนนี้ให้รัฐ จะซุกไว้ใต้พรมอีกต่อไปไม่ได้คราวนี้ ประชาชนคงไม่ยอม??
วันที่ 10 ก.ย.2564 สัมปทานดาวเทียมไทยคม อายุ 30 ปีได้สิ้นสุดลง บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับสัมปทานจากกระทรวงคมนาคม เมื่อปี2534 ต้องส่งมอบทรัพย์สินคืนให้กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส โดยกระทรวงมอบหมายให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT รับมอบดาวเทียมไทยคม 4 และ 6 ไปบริหารต่อ
โดย NT ได้เจรจากับไทยคมให้เป็นผู้บริหารจัดการดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 6 ต่อ ในรูปแบบของหุ้นส่วนหรือความร่วมมือทางธุรกิจ ประเด็นนี้ยังถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการประเคนให้ไทยคมกลับไปผูกขาดโดย กลุ่มผูกขาดเดิมแปลงร่างเชื่อมสัมพันธ์กับกลุ่มพลังงานรายใหม่หรือไม่??
ย้อนรอยอดีตเพื่อเข้าใจความจริงในปัจจุบันกันว่ามันเกิดอะไรขึ้น กิจการดาวเทียมไทยจึงถูกผูกขาดด้วยธุรกิจของตระกูลเดียว ประหนึ่งว่าประเทศไทยไร้คนมีความสามารถ
มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2534 และ 6 สิงหาคม 2534 ที่อนุมัติให้ บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น) และปัจจุบันคือ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ เป็นผู้ได้รับสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี
ต่อมาได้มีการลงนามสัญญา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2534 กับกระทรวงคมนาคม (คค.) ซึ่งได้โอนงานมายังกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) โดยสัญญาดังกล่าวจะสิ้นสุดในวันที่ 10 กันยายน 2564
มติ ครม. เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ได้รับทราบการดำเนินการ หลังคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงดำแหน่งทางการเมือง กรณีการดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญาตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) เสนอ กรณีการลดสัดส่วนการถือหุ้นของ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ที่ต้องถือใน บมจ.ไทยคม จากไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เป็นไม่น้อยว่าร้อยละ 40
โดยเห็นควรให้ดำเนินการยกเลิกการแก้ไขสัญญาครั้งที่ 5 เพื่อให้คงสัดส่วนการถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ดังเดิม โดยให้ผู้รับสัมปทานจะต้องยังคงสภาพเป็นนิติบุคคลไทยตามที่กฎหมายกำหนด โดยให้ ทก.ดำเนินการโดยเร็วเพื่อให้ผู้รับสัมปทานปฎิบัติตามสัญญาฯ
การอนุมัติดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) โดยมิชอบ เห็นควรให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินงานให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของราชการ และรายงานผลความคืบหน้า
โดย ทก.(กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร)ได้มีคำสั่งลงวันที่ 7 ธันวาคม 2555 แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินงานกรณีดาวเทียมไอพีสตาร์ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ร่วมเป็นกรรมการ แต่พบว่าไม่มีการดำเนินการของคณะกรรมการดังกล่าวแต่อย่างใด จนกระทั่งมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556
ความจริงคือ ดาวเทียมไอพีสตาร์ ซึ่งสวมสิทธิ์ในนามไทยคม 4 นับเป็นดาวเทียมเถื่อนตั้งแต่ วันที่ 11 สิงหาคม 2548 ที่ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรตำแหน่งที่ 118.5 องศาตะวันออกแล้ว ภายใต้คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 โดยองค์คณะผู้พิพากษามีมติคะแนนเสียงข้างมากว่ากรณีการอนุมัติโครงการดาวเทียมไทยคม4 ไอพีสตาร์ เป็นการกระทำโดยมิชอบเอื้อประโยชน์ให้บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่นและ บมจ.ไทยคม
แต่ทุกอย่างก็ยืดเยื้อ ถูกกลบฝังมายาวนาน 20 ปี จนถึงวันที่หมดสัมปทาน 10 ก.ย.2564 ที่ผ่านมา
สาระสำคัญหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณากรณีไทยคมหมดสัมปทานคือ เห็นควรให้ ทก.ปัจจุบันคือ ดีอีเอสดำเนินการให้ดาวเทียมไทยคม 4 เป็นดาวเทียมตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐพ.ศ. 2556 เนื่องจากเป็นการใช้ตำแหน่งวงโคจรของรัฐและเห็นควรให้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา โดยกำหนดให้ดาวเทียมผนวกเข้ามาเป็นเข้ามาอยู่ในสัญญาเดิมด้วย
และการแก้ไขสัญญาดังกล่าวจะต้องพิจารณากำหนดอัตราผลประโยชน์ตอบแทนใหม่ตามความเหมาะสมกับคุณลักษณะและการให้บริการของดาวเทียมไทยคม 4 ไอพีสตาร์ ที่มิใช่ดาวเทียมสำรอง เพื่อไม่ให้รัฐต้องเสียประโยชน์และประชาชนได้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการตรวจสอบย้อนหลัง ในนาม “คณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ” ประกอบไปด้วย
-นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษา
-พลเอกวิทวัส รชตะนันทน์ อดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานกรรมการ
-นายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ
คณะกรรมการ ฯ มีอำนาจในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ความเป็นมา และการดำเนินการต่าง ๆ ตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ระหว่างกระทรวงคมนาคม และบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด
รวมถึงนิติสัมพันธ์อื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญาดังกล่าวในสมัยรัฐบาลต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบัน การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ เสนอมายังคณะรัฐมนตรีในเรื่องนี้ต่อไป
ต้องจับตาคณะกรรมการชุดนี้ว่าจะขุดไปถึงความเสียหาย 16,000 ล้านบาทจากการทุจริตยกเว้นภาษีมิชอบ ที่ไอพีสตาร์จะต้องจ่ายคืนแก่รัฐว่าจะดำเนินการอย่างไร???