กองทัพเมียนมาบุกรัฐกระเหรี่ยง?!? ขณะขังต่อซูจีและพวก กวาดจับแกนนำม็อบห้าวแต่ปล่อยผู้ประท้วง 682 ราย!

2013

เมียนมาเพื่อนบ้านของไทยกำลังอยู่ในสภาวะมิกสัญญี ในใจกลางประเทศ คือเมืองย่างกุ้งและมันฑะเลย์ที่ยังมีการประท้วงอย่างกว้างขวาง และการรุกรบไม่เว้นตามตะเข็บชายแดนช่วงติดกับรัฐชาติพันธุ์ที่ประกาศเป็นศัตรูกับรัฐบาลกลาง ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ท่ามกลางการระบาดโควิด-19 ที่คุกคามชีวิตประชาชนเมียนมาและไม่ได้ประท้วงหยุดงานไปด้วย ในตัวเมืองรัฐบาลกลางได้ปล่อยผู้ประท้วงกว่า 600 คนขณะประกาศจะกวาดจับแกนนำม็อบรุนแรงและดำเนินคดีทางกฎหมายกับผู้นำฝั่งต่อต้านอย่างต่อเนื่อง ต้องจับตาว่าผู้ที่ถูกปล่อยตัวจะกลับมาร่วมประท้วงต่อหรือไม่!

เช้าวันนี้ 25 มี.ค.2564 เวลาประมาณ 7:00 ในเมืองพะอาน รัฐกะเหรี่ยง กองกำลังปราบจลาจลเมียนมา ได้ใช้แก๊สน้ำตา ยิงปืนทั้งกระสุนยางและกระสุนจริงใส่กลุ่มผู้ชุมนุม มีผู้บาดเจ็บสาหัส 1 ราย หลังจากที่เมื่อกลางดึกของเมื่อวาน ทหารคะฉิ่นอิสระโจมตีค่ายทหารพม่า ที่เมืองพะโม รัฐคะฉิ่นรบกันดุเดือด 

เมื่อวันที่ 24 มี.ค.64 สำนักข่าวในคะฉิ่น ยืนยันว่า กองทัพเอกราชคะฉิ่น(KIA) กองพันที่ 20 ยึดฐานทัพของทหารพม่า(ห่างจากหล่ายจ่า 30 ไมล์)ได้ในช่วงค่ำคืน หลังสู้รบนานกว่า 5 ชั่วโมง 

ภายใต้กองพล(5)KIA กองพัน(24/19) ได้ซุ่มโจมตีทหารพม่าที่ตั้งฐานอยู่ที่ดอยแซ่งเต็ง รัฐกะฉิ่น ได้ชัยชนะยึดค่ายทหารพม่าไป 1 แห่ง ขนะเดียวกันหมู่บ้านในเมืองพะโม รัฐกะฉิ่น กองทัพแห่งชาติกะฉิ่นKIA ได้เข้าจู่โจม ค่ายทหารพม่าบนดอยAlaw/Lazau เช่นกัน จนถึงเวลา21:05 ทางพม่าได้เพิ่มกำลังพล  ทำให้กองทัพทั้งสองปะทะกันอย่างดุเดือดโดยไม่ยั้งมือ และที่สุดกองทัพคะฉิ่นประกาศยึดค่ายได้่ในที่สุด

ในวันเดียวกันในส่วนกลางเมียนมา  ศาลอำเภอซาบูติริ (ชมพูสิริ) กรุงเนปีดอว์ ได้เลื่อนการพิจารณาคดีทางออนไลน์ (VC) นางอองซาน ซูจี ไปเป็นวันที่ 1 เม.ย.2564 เนื่องจากไม่มีอินเทอร์เน็ต ปัจจุบันซูจีถูกฟ้อง 4 ข้อหา ได้แก่ 1.กม.นำเข้า ว.รับส่ง ผิดมาตรา 8 (วันที่ 2 กพ.2564) 2.กม.จัดการพัยภิบัติแห่งชาติ ผิด ม.25 ไปต้อนรับขบวนหาเสียง (16 ก.พ.2564) 3.กม.อาญา อ.505 (ข) ยุยงให้เกิดความไม่สงบ และกม.โทรคมนาคม ม.67 ครอบครองว.รับส่ง (1 มี.ค.2564)และจะถูกฟ้องคดีรับสินบนเพิ่มอีกด้วย ทั้งนี้โทษทางอาญาอาจทำให้นางซูจีไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อย่างถาวร 

นอกจากนี้ทางการเมียนมาได้ประกาศว่าผู้นำ CRPH 15 รายเป็นผู้ต้องหา ศาลออกหมายจับ เนื่องจากเป็นองค์กรที่ก่อตั้งโดยผิดกฎหมาย

ในวันเดียวกันนั้น (24 มี.ค.2564) รัฐบาลเฉพาะการเมียนมาได้จัดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ รายงานสถานการณ์การประท้วงและ ประกาศภารกิจของสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC)ที่วางไว้ 5 ประการ คือ:

1.ดำเนินการจัดตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งขึ้นมาอีกครั้ง และตรวจสอบบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง และจะดำเนินการตามกฎหมายที่มีความเหมาะสมต่อไป

2.ดำเนินมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบันอย่างถึงที่สุด เพื่อไม่ให้การแพร่กระจายพุ่งทะยาน

3.เพราะโรคโควิด-19 จึงต้องดำเนินการด้วยวิธีต่างๆอย่างเร็วที่สุด เพื่อทำให้การประกอบอาชีพและเศรษฐกิจต่างๆสามารถดำเนินต่อไปและมีความมั่นคงแข็งแรง

4.เพื่อให้เกิดความสงบอย่างถาวรขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ก็จะให้ความสำคัญเท่าที่เป็นไปได้ กับทุกข้อตกลงในสนธิสัญญาข้อตกลงหยุดยิง (NCA)

5.เมื่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2008 ได้กลับมาใช้ตามปกติ หลังจากที่ได้มีการดำเนินการตามข้อบัญญัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ฉุกเฉิน จะได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปที่เป็นธรรม และจะดำเนินการส่งมอบหน้าที่ของประเทศเพื่อให้เป็นแบบอย่าง สำหรับพรรคการเมืองที่ได้ชัยชนะจากการเลือกตั้ง

และที่เซอร์ไพรซ์ ก็คงเป็นกรณีที่รัฐบาลเมียนมาปล่อยตัวประชาชนจำนวน 628 คน ออกจากเรือนจำอินเส่งในกรุงย่างกุ้ง ที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้และตั้งข้อหาต่อต้านรัฐบาล

สำนักข่าว Deutsche Welle และ แชนเนลนิวส์เอเชีย รายงานโดยอ้างสถานีโทรทัศน์แห่งเมียนมา เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2564 อีกเช่นกันเผยแพร่ภาพการปล่อยตัวนักโทษจำนวน 628 คน เป็นนักโทษชายจำนวน 360 คน และนักโทษหญิงอีก 268 คน ที่ถูกตั้งข้อหาต่อต้านรัฐประหาร เมื่อ 1 ก.พ.64 โดยปรากฏภาพรถบัสโดยสารนำนักโทษออกจากเรือนจำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและสื่อมวลชนประมาณ 40 คน จากเรือนจำ Insein ในเมืองย่างกุ้ง อนึ่ง กลุ่ม The Assistance Association for Political Prisoners-AAPP เผยว่ามีประชาชนอย่างน้อย 2,000 คน ถูกจับกุมหลังการรัฐประหารดังกล่าว

ขณะที่ตามรายงานของสำนักข่าวดิอิรวดี ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวประกอบด้วย อาสาสมัครองค์กรการกุศล ‘Mon Myat Sate Htar’ 4 คน ซึ่งคอยช่วยเหลือผู้ชุมนุมและประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่ในนครย่างกุ้ง, นาย เต็ง ซอ ช่างภาพของสำนักข่าว เอพี และกลุ่มนักศึกษา แต่ยังไม่รวมนักข่าวอีกราว 20 คนและนักศึกษาจำนวนมากที่ยังถูกควบคุมตัวไว้

ปฏิบัติการแยกปลาจากน้ำของกองทัพเมียนมา โดยเน้นกวาดจับแกนนำทุกระดับแต่ผ่อนคลายกับประชาชนที่เป็นผู้ประท้วง ขณะที่ใช้การทหารตอบโต้กลุ่มชาติพันธุ์ที่ประกาศยืนข้างฝ่ายต่อต้านอย่างเด็ดขาด จะได้ผลแค่ไหน อาเซียนเพื่อนบ้านหลักของเมียนมา จะยืนหยัดเป็นกลางไม่แทรกแซงได้นานแค่ไหน คงต้องจับตาอย่างกระชั้นชิดเพราะไม่ว่าผลจะจบแบบไหน ย่อมกระทบประเทศไทยและคนไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง!!