นายกฯเล็งไฟเขียว!?! “คนละครึ่งภาคเอสเอ็มอี” สั่งหนุนจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท 

1945

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศยังคงยืดเยื้อ นายกฯเป็นห่วงเอสเอ็มอีย้ำให้เร่งเปิดช่องทางจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐ เพื่อเสริมสภาพคล่องมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาทโดยด่วน เห็นชอบแนวคิด “คนละครึ่งภาคเอส   เอ็มอีของสสว.”คาดเสนอแผนต้นปีหน้า ขณะเดียวกัน ธปทปรับปรุงเกณฑ์ซอฟต์โลนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงง่ายขึ้น ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 2564 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ด สสว.) ว่า เป็นการประชุมเพื่อขับเคลื่อนแผนงานและงบประมาณในปี 2564-2566

“วันนี้ต้องคำนึงถึงการไม่ให้ล้ม ล้มแล้วต้องพยุงกันไว้ ถ้าแข็งแรงอยู่ก็ต้องให้วิ่งได้ต่อไป หรือต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบของการลงทุน การประกอบธุรกิจให้มีนวัตกรรม เพิ่มรายได้ เพิ่ม Valuated ในระบบเพื่อให้มีรายได้เข้าประเทศด้วย ใช้สินค้าไทย และผลิตภัณฑ์เพื่อการวิจัยและพัฒนาต้องนำขับเคลื่อนสู่ตลาดให้ได้ โดยเฉพาะการใช้งบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในวันนี้ได้เร่งรัดการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนไปด้วย ต้องการให้สามารถจัดซื้อจากหน่วยราชการได้ แต่ต้องขึ้นทะเบียน ซึ่งตนได้ปลดล็อกไปให้แล้ว

ริเริ่มคนละครึ่งภาคเอสเอ็มอี

ด้านนายวีรพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สสว. กล่าวว่า ได้มีการปรับแผนการอุดหนุนของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อค้ำประกันให้กับเอสเอ็มอีเพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ สำหรับเป้าหมายในการส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ เพิ่งเข้า หรือ รายย่อย ขนากลาง และขนาดย่อม โดยเป้าหมายเพื่อให้สอดรับกับโลกปัจจุบัน รวมสถานการณ์หลังโควิด-19 เรื่องการปรับตัว

นายวีรพงศ์กล่าวว่า สสว.มีแนวทางดำเนินการ ผ่านระบบผู้ให้บริการทางธุรกิจ (Business Development Service : BDS) หรือการจ่ายคนละครึ่งภาคเอสเอ็มอี เช่น การตรวจรับรองมาตรฐาน การพัฒนาสินค้า เป็นกลไกอุดหนุนให้กับเอสเอ็มอีสามารถประหยัดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนที่จะใช้ในการพัฒนาเอสเอ็มอีได้ ซึ่งมีงบเตรียมไว้สำหรับปี 64 ประมาณ 80 ล้านบาท

“ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการให้ความช่วยเหลืออุดหนุนจากเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผ่านระบบผู้ให้บริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจ พ.ศ. …. และคาดว่าจะนำเสนอบอร์ด สสว. ได้ภายในเดือนมีนาคม 2564

นายวีรพงศ์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้พูดถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐปกติ ซึ่งอยู่ระหว่างเปิดขึ้นทะเบียนของผู้ประกอบการ ปัจจุบันขึ้นทะเบียนแล้ว 1,000 กิจการ ตั้งเป้าปี 2564 ประมาณ 100,000 กิจการ

 

ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางมีฐานข้อมูลตัวเลขเอสเอ็มอีจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐประมาณ 300,000 ราย ในส่วนของสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ 126,000 ราย โดย สสว.ตั้งเป้าจัดซื้อจัดจ้าง 10% ของงบประมาณหน่วยต่าง ๆ คาดว่าปี 64 จะนำขึ้นระบบจัดซื้อจัดจ้างประมาณ 100,000 ราย หรือคิดเป็นแต่ละปี 1.3 ล้านล้าน โดยแบ่งออกเป็นสองกรณี

กรณีแรกซื้อแบบคัดเลือกเอสเอ็มอีในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 30% ของวงเงินงบประมาณ อี-บิดดิ้ง เอสเอ็มอีจะได้แต้มต่อ 10% หรือขายแพงได้นิดหน่อย ถ้าเท่ากันไปประกวดราคากัน ถ้าหน่วยงานรัฐซื้อเอสเอ็ม 30% หรือคิดเป็น วงเงิน 4 แสนล้าน จะสร้างเศรษฐกิจให้เอสเอ็มอีก 400,000 ล้านบาท และสามารถขยายฐานให้มากกว่านั้นด้วยและยกระดับมาตรฐานสินค้าให้ตรงและสอดรับความต้องการของภาครัฐ

นายวีระพงศ์กล่าวว่าการสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐแบบกำหนดโจทย์ล่วงหน้า ซึ่งเป็นการทำงานของผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เอสเอ็มอีรับความความต้องการ เตรียมความพร้อมและสามารถวางแผนการผลิตสินค้าได้ตามความต้องการของผู้ซื้อ เช่น กองทัพอากาศ และบริษัทอุตสาหกรรมการบิน จำกัด ซึ่งในระยะแรกจะมุ่งเน้นการดำเนินการในอุตสาหกรรมอากาศยานและซ่อมบำรุง

ธปท.อุ้มเอสเอ็มอีต่อ

วันที่ 28 ธันวาคม นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าธปท.ได้ปรับปรุงเกณฑ์ การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 (ซอฟต์โลน) ให้มีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1.ปรับนิยามคำว่า ‘กลุ่มธุรกิจ’ ที่เป็นหนึ่งในเกณฑ์การพิจารณาให้สินเชื่อโดยแยกพิจารณาความสัมพันธ์ของบุคคลธรรมดาออกจากนิติบุคคล พร้อมทั้งนับความสัมพันธ์ให้เหลือเพียงลำดับเดียว ส่งผลให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อซอฟต์โลนได้ง่ายขึ้น

2.เปลี่ยนวิธีปฏิบัติเรื่องจำนวนครั้งในการขอสินเชื่อ โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอียื่นขอกู้ซอฟต์โลนได้ไม่เกิน 2 ครั้ง จากเดิมที่กำหนดให้ยื่นขอกู้ได้เพียงครั้งเดียว ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ยังมีวงเงินกู้ซอฟต์โลนเหลืออยู่ สามารถกลับมายื่นขอสินเชื่อได้อีกครั้ง

ทั้งนี้ เกณฑ์ดังกล่าวได้ผ่อนปรนเพิ่มเติมหลังจากที่ได้ขยายให้รองรับบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาด MAI และขยายเวลาขอสินเชื่ออีก 6 เดือนไปในช่วงก่อนหน้า ซึ่งผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีสามารถยื่นขอสินเชื่อซอฟต์โลนจากสถาบันการเงินได้แล้ว โดยสถาบันการเงินต้องยื่นขอสินเชื่อซอฟต์โลนให้ ธปท. อนุมัติก่อนวันที่ 18 เมษายน 2564