สหรัฐหน้าแหกเยอรมัน-รัสเซียดันนอร์ดสตรีม2 ไปต่อ!?!แม้แมร์เคิลต้องจ่ายสูงหนุนพลังงานยูเครน ตามแรงบีบไบเดน

1834

สหรัฐไม่พอใจ เยอรมนียังร่วมมือด้านพลังงานกับรัสเซีย แม้ปธน.ไบเดนแห่งสหรัฐจะกล่อม นายกฯแมร์เคิลแห่งเยอรมนีเกี่ยวกับการลงนามแถลงการณ์ร่วมเรื่อง “การคุกคามทางทหารของรัสเซีย” และ “ความไม่เป็นประชาธิปไตยของจีน”ได้ และกดดันให้ต้องจัดเงินอุดหนุนรัฐบาลเคียฟแห่งยูเครนด้านพลังงาน แต่ยังมีจุดยืนต่างกัน เกี่ยวกับโครงการท่อส่งก๊าซในทะเลบอลติก ซึ่งรัฐบาลเบอร์ลินยังยืนยันร่วมมือกับรัฐบาลมอสโก เสมือนหนึ่งยอมจ่ายเงินเพื่อให้โครงการสำคัญได้เดินหน้า เพราะการมีพลังงานใช้ในหน้าหนาวสำหรับชาวยุโรปหมายถึงชีวิตปกติสุขนั่นเอง

เมื่อวันที่ 16 ก.ค.สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ว่าปธน.โจ ไบเดน ให้การต้อนรับและพบหารือกับนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ผู้นำเยอรมนี ที่ทำเนียบขาว โดยผู้นำทั้งสองคนเห็นพ้องกันในหลายประเด็นสำคัญ ด้านความมั่นคงและ “การปกป้องพันธมิตรตะวันออก” ซึ่งพุ่งเป้าไปที่ยูเครนให้รอดพ้นจากการขยายอิทธิพลทางทหารของรัสเซีย และการเดินหน้ากดดันให้จีนให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบโลก ทั้งในด้านความมั่นคง พื้นฐานด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแบบสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ผู้นำเยอรมนีและสหรัฐยังคงมีจุดยืนแตกต่างกัน  เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายกดดันรัฐบาลปักกิ่ง โดยไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เยอรมนีและแทบทุกประเทศในทวีปยุโรปยินดีพึ่งพาเศรษฐกิจจีนมากขึ้น   ขณะเดียวกัน เยอรมนีเป็นประเทศผู้ร่วมลงทุนรายใหญ่ในโครงการท่อส่งก๊าซ “นอร์ด สตรีม”(Nord Stream) และ “นอร์ด สตรีม ทู” ( Nord Stream 2 ) เชื่อมจากรัสเซียลอดผ่านใต้ทะเลบอลติก และไปขึ้นฝั่งยุโรปที่เยอรมนี แม้สหรัฐผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรต่อโครงการนี้ ให้กับบริษัทบางแห่งของรัสเซีย แต่ยังคงกดดันบริษัทเอกชนอีกหลายแห่งที่เข้าร่วมโครงการ 

ทั้งนี้ ไบเดนกล่าวว่ารัฐบาลวอชิงตัน “มีความวิตกกังวล” ต่อโครงการนอร์ด สตรีม 2 ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือน ก.ย.นี้ หลังมีการเริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือน พ.ย. 2554 เนื่องจากเส้นทางของท่อก๊าซไม่ผ่านยูเครน เท่ากับเป็นการลดโอกาสในการสร้างรายได้ของประเทศแห่งนี้ไปโดยปริยาย และเตือนว่า รัฐบาลมอสโกไม่ควรใช้เรื่องนี้ “เป็นอาวุธโจมตีด้านภูมิศาสตร์การเมือง” 

อย่างไรก็ตามเท่ากับว่าสหรัฐฯไม่บรรลุเป้าหมาย ในการขัดขวางโครงการนอร์ดสตรีม2 ท่อส่งก๊าซมูลค่า 11 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งจะส่งก๊าซจากอาร์กติก-รัสเซียไปยังเยอรมนีผ่านทะเลบอลติก แต่ก็ทำให้เยอรมันต้องจัดงบฯให้ยูเครนในโครงการพัฒนาพลังงานและด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มด้วย

ไบเดนบอกกับผู้สื่อข่าวว่าเขาและแมร์เคิล “ต่างมีความเชื่อมั่นว่ารัสเซียจะต้องไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พลังงานเป็นอาวุธในการบีบบังคับหรือคุกคามเพื่อนบ้าน” ขณะที่แมร์เคิลกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เยอรมนีมีมุมมองที่แตกต่างจากสหรัฐเกี่ยวกับท่อส่งก๊าซ แต่เธอกล่าวว่ายูเครนควรยังคงเป็นประเทศทางผ่านและเบอร์ลินจะตอบโต้ “อย่างจริงจัง” หากรัสเซียไม่เคารพสิทธิอธิปไตยของยูเครน ทั้งนี้ ในด้านรัสเซียกล่าวว่าท่อส่งก๊าซที่นำโดยบริษัทพลังงานของรัฐบาลรัสเซียแกซพรอม( Gazprom) และพันธมิตรทางตะวันตกของรัสเซียจะเริ่มดำเนินการในปลายปีนี้อย่างแน่นอนแน่นอน

สหรัฐและเยอรมนีตกลงที่จะร่วมมือกันเพื่อเร่งดำเนินการเพื่อรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยให้คำมั่นที่จะระดมการลงทุนในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก แถลงการณ์ร่วมยังระบุถึงการลงทุนเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และความมั่นคงด้านพลังงานของยูเครนอีกด้วย

โครงการนอร์ดสตรีม 2 เป็นโครงการวางท่อก๊าซขนาดใหญ่ ความยาว 1,225 กิโลเมตร ใต้ทะเลบอลติก เชื่อมต่อพื้นที่ อัสต์ ลูกา (Ust Luga) ในแคว้นเลนินกราดของรัสเซียกับเมือง ไกรฟส์วาลด์ (Greifswald) ของเยอรมนี โดยมีมูลค่าการก่อสร้างราว 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ