ไบเดนแบนทับทิมเมียนมา!?! ห้ามนำเข้า 3 บริษัทอัญมณีเอี่ยวกองทัพ ทำไทยหนาวส่อโดนด้วย หวั่นสูญ 1,103 ล้านบาท

1820

การที่ปธน.ไบเดนแห่งสหรัฐประกาศคว่ำบาตร ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนายทหารแกนนำการยึดอำนาจของเมียนมาเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งอุตสาหกรรมอัญมณีเป็นธุรกิจที่ทำเงินเข้าเมียนมาไม่น้อย และโดยเฉพาะทับทิมซึ่งมีค่าสูงได้รับการยอมรับถูกแบน ห้ามนำเข้าสหรัฐ ย่อมกระทบกับอุตสากรรมอัญมณีไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐอันดับ 1 อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง สหรัฐนำเข้าทับทิมกว่า 3,500 ล้านบาทสั่งซื้อจากไทยปีละกว่า 1,103 ล้านบาท ไทยโดนหางเลขเพราะนำเข้าทับทิม พลอยและหยกจากเมียนมาจำนวนมาก ไทยเป็นศูนย์กลางการส่งออกอัญมณีที่มีเครดิตกับสหรัฐมานาน อาจเสียโอกาสและสูญรายได้บางส่วนต้องเร่งปรับตัว

การยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา เมื่อวันที่ 1 ก.พ.64 ตามมาด้วยนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามคำสั่งพิเศษบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรกับผู้นำรัฐประหารเมียนมาในวันที่ 11 ก.พ. 2564 โดยมุ่งเป้าไปที่ผู้นำกองทัพ, ครอบครัว และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา และยึดกองทุนมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 29,888 ล้านบาท) ที่ฝากไว้ในสหรัฐ

ล่าสุด เว็บไซต์ข่าว JCK Online ในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่นำเสนอข่าวเกี่ยวกับแวดวงเพชรพลอยทั่วโลก ซึ่งเสนอรายงานความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเพชรพลอยกับกลุ่มกองทัพเมียนมา

เมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา สำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างประเทศ ในกำกับดูแลของกระทรวงการคลังหรือ OFAC ได้ออกมาตรการลงโทษบริษัทอัญมณีและหยกจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.Myanmar Ruby Enterprise 2. Myanmar Imperial Jade Co.และ 3.Cancri (Gems and Jewellery) Co

แถลงการณ์ของ OFAC ระบุว่าทั้ง 3 บริษัทนั้นจะไม่สามารถทำธุรกิจในสหรัฐอเมริกา หรือกับบริษัทสัญชาติสหรัฐฯได้ แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการใช้กฎเกณฑ์ใดมาบังคับ และบทบาทของอุตสาหกรรมอัญมณีจะดำเนินไปอย่างไร  

นายดั๊ก ฮัคเกอร์ ผู้บริหารสมาคมแลกเปลี่ยนอัญมณีสหรัฐอเมริกาหรือ AGTA กล่าวว่า “เรา พร้อมด้วยคนอื่นๆกำลังพยายามคิดว่านี่มันหมายความว่าอย่างไร การรัฐประหารนั้นแน่นอนว่าไม่เป็นสิ่งที่ดีสำหรับเมียนมา หรือสำหรับอุตสาหกรรมของเรา แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการลงโทษประเทศเมียนมาที่ว่ามานั้นก็คงส่งผลร้ายต่ออุตสาหกรรมของเราด้วยเช่นกัน ซึ่งประเด็นที่จะต้องตัดสินใจกันต่อไปหลังจากนี้ ก็คืออะไรที่จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้คนหมู่มาก

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า สมาคมผู้ประกอบการหลายรายเริ่มจะประเมินกันแล้วว่าถ้าหากสถานการณ์ในเมียนมายังคงไม่ได้เกิดขึ้น ก็คงจะต้องมีการใช้มาตรการบางอย่าง อาทิ การแบนการนำเข้าอัญมณีจากประเทศเมียนมา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตทั้งทับทับทิมและอัญมณีต่างๆมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อนึ่ง ก่อนหน้านี้นั้นเคยมีกรณีการแบนอัญมณีจากเมียนมามาก่อนแล้ว  

ในช่วงปี 2551 เคยมีการออกกฎหมายที่ชื่อว่า กฎหมาย Tom Lantos Block Burmese JADE ซึ่งในรายละเอียดของกฎหมายเป็นการออกมาตรการห้ามไม่ให้สหรัฐอเมริกานำเข้าทับทิมและหยกของจากประเทศเมียนมาในทุกกรณี   และกฎหมายดังกล่าวนั้นก็ผ่านรัฐสภาไปด้วยความเห็นชอบอย่างท่วมท้นทั้งจากสภาผู้แทนราษฎรและจากวุฒิสภา และในปี 2556 ประธานาธิบดีบารัก โอบามา  ก็ได้มีการเซ็นคำสั่งผู้บริหารเพื่อที่จะขยายเวลาสำหรับมาตรการแบนที่ว่านี้ออกไปอีก  

อย่างไรก็ตาม ผู้ทำงานในวงการอุตสาหกรรมอัญมณีหลายแห่งก็ได้ออกมาวิจารณ์กฎหมาย Jade Act ว่าไม่ได้ส่งผลกระทบกับธุรกิจรายใหญ่อันเกี่ยวข้องกับเผด็จการทหารเมียนมาแต่อย่างใด  แต่กลับทำร้ายคนงานเหมืองรายเล็กรายน้อยเสียมากกว่า   

 

“การแบนอัญมณี จะทำร้ายผู้ที่เป็นคนงานเหมือง และชุมชนของพวกเขา แต่จะไม่ทำร้ายบริษัทเลยแม้แต่น้อย” นายเอ็ดเวิร์ด โบห์ม เจ้าของร้านรับซื้ออัญมณี Rare Source ในรัฐเทนเนสซี่กล่าว

นายเคนเนดี้ โฮ ประธานสถาบันอัญมณีศาสตร์แห่งเอเซีย (AIGS) ซึ่งเคยคลุกคลีผู้คนในเมียนมากล่าวว่า “กฎหมายของประเทศเมียนมานั้นห้ามการส่งออกอัญมณีที่เจียระไนแล้ว ดังนั้นอัญมณีส่วนมากของเมียนมาจะถูกลักลอบนำเข้ามาจากทางชายแดนเข้าสู่ประเทศไทยแทน” 

สำนักงานส่งเสริมการค้าไทยในต่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง เรียกอีกอย่างว่า สคต.หรือทูตพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตลาดสหรัฐฯมีความต้องการทับทิมเป็นจำนวนมาก หากคว่ำบาตรอย่างกว้างขวาง กระทบตลาดไทยแน่ เพราะไทยเราเป็นศูนย์กลางส่งออกอัญมณีที่สหรัฐไว้วางใจมาโดยตลอด อาจถูกลดระดับตามคำสั่งประธานาธิบดีไบเดนในอีกไม่ช้า  เนื่องจากทับทิมไทยมีแหล่งกำเนิดมาจากเมียนมา  ในปี 2563 สหรัฐนำเข้าทับทิมจากทั่วโลกจำนวน 119.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3,598.42 ล้านบาท) โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 1 มูลค่า 36.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,103.69 ล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนนำเข้าทับทิมทั้งหมด 30.67%

นายสมชาย พรจินดารักษ์ ประธานสมาพันธ์อัญมณี เครื่องประดับและโลหะมีค่าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ไทยนำเข้าทับทิม พลอย และหยกจากเมียนมาจำนวนมาก ตอนหลังน้อยลง เพราะของมีน้อยและราคาสูง จึงเปลี่ยนไปนำเข้าจากโมแซมบิกแทน นำมาเจียระไนและส่งออก ทำให้อาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากนัก

นายกิตติศักดิ์ อุดมแดงอร่าม รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมส่งออกเครื่องประดับเงินไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากที่สหรัฐประกาศแบบนำเข้าทับทิมอีกครั้ง เป็นเรื่องน่ากังวล และทางสมาคมจะติดตามขอข้อมูลรายละเอียดเพื่อประเมินผลกระทบตามสถานการณ์ที่เป็นจริงต่อไป