ผ่าแผนลงทุนรัฐวิสาหกิจปี’65!?! วงเงิน 5 แสนลบ. สร้างงาน 1.63 แสนคนสร้างรายได้ 1.24 แสนลบ.

1212

เพื่อเตรียมการรองรับแผนงานการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการสร้างรายได้เข้ารัฐฯภายใต้งบประมาณปี 2564 ที่จะเริ่มประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ที่ประชุมครม.ได้ไฟเขียวกรอบงบลงทุนรัฐวิสาหกิจปี 65 ทั้ง 49 แห่ง วงเงินดำเนินการ 1.51 ล้านล้านบาท วงเงินเบิกจ่ายลงทุนทั้งหมดเกือบ 5 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นงบฯของรัฐวิสาหกิจทั่วไป 44 แห่ง และงบฯของรัฐวิสาหกิจที่มีฐานะเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์และบริษัทในเครืออีกรวม 5 แห่ง เป้าหมายเพื่อสร้างรายได้ถึง 1.24 แสนล้านบาท คาดสร้างงาน 1.63 ตำแหน่ง

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบกรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 44 แห่ง ภายใต้สังกัด 15 กระทรวง ประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงินดำเนินการ (วงเงินสำหรับให้รัฐวิสาหกิจใช้เป็นกรอบลงนามในสัญญาเพื่อลงทุน) จำนวน 1.48 ล้านล้านบาท (1,485,456 ล้านบาท) และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน (วงเงินที่มีการเบิกจ่ายจริงเพื่อใช้ดำเนินการตามสัญญา) จำนวน 3.07 แสนล้านบาท (307,479 ล้านบาท) ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ 

ทั้งนี้ได้มีการทบทวนและปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ความจำเป็น และความพร้อมในการลงทุน เมื่อรวมการลงทุนของรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทมหาชนจำกัดและบริษัทในเครือ จำนวน 5 แห่ง รวมรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 49 แห่ง แล้ว ทำให้ในภาพรวมจะมีการลงทุนตามภารกิจปกติและโครงการต่อเนื่องในปี 2565 มีวงเงินดำเนินการจำนวน 1.51 ล้านล้านบาท (1,512,726 ล้านบาท) และวงเงินเบิกจ่ายลงทุนจำนวน 4.68 แสนล้านบาท (468,833 ล้านบาท)

รองโฆษกฯ รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า เงินลงทุนของรัฐวิสากิจทั้ง 44 แห่งนี้ จะทำให้ เกิดการขยายตัว GDP ของประเทศไทยได้ร้อยละ 0.17 % หากรวมรัฐวิสาหกิจอีก 5 แห่ง GDP จะเกิดการขยายตัว 0.31% ช่วยให้เกิดการจ้างงานในระบบกว่า 1.63 แสนคน และนำเงินส่งรายได้ให้แก่รัฐ 1.24 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ครม.รับทราบประมาณการงบทำการรัฐวิสาหกิจประจำปี

งบประมาณ 2565 ซึ่งคาดว่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 65,171 ล้านบาท และรับทราบประมาณการแนวโน้มการดำเนินงานช่วงปี 2566–2568 ของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าจะมีการลงทุนเฉลี่ยประมาณปีละ 428,953 ล้านบาท และผลประกอบการจะมีกำไรสุทธิเฉลี่ยประมาณปีละ 82,722 ล้านบาท

ล่าสุด รัฐวิสาหกิจนำเงินส่งเข้ารัฐในเดือนมิถุนายน 2564 จำนวน 134,553.313 ล้านบาท รวมสะสมตั้งแต่ต้นปีงบประมาณถึงเดือนกันยายน จำนวน 105,568.963 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) โดยนางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 ได้พิจารณาในเรื่องต่างๆ คือ

  1. ที่ประชุมเห็นชอบหลักเกณฑ์การเสนอกรอบนโยบายการพัฒนาและทิศทางการลงทุนของรัฐวิสาหกิจในกำกับ เพื่อให้กระทรวงเจ้าสังกัดใช้ในการจัดทำกรอบนโยบายฯ สำหรับประกอบการจัดทำแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2566 – 2570
  2. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาองค์กรของรัฐวิสาหกิจทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (บมจ. เอ็นที) บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) (อสมท) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ตามการนำเงินส่งรายได้แผ่นดินของรัฐวิสาหกิจและกิจการที่กระทรวงการคลัง ถือหุ้นต่ำกว่า 50 % ในช่วง 9 เดือน ปีงบประมาณ 2564 ตั้งแต่เดือนต.ค.63-มิ.ย. 64นั้น มีการนำเงินส่งเป็นรายได้แผ่นดินรวม 105,568.96 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าประมาณไว้ 28,984.35 ล้านบาท โดยประมาณไว้ที่ 134,553.31 ล้านบาท 

สาเหตุที่การนำส่งรายได้ไม่เป็นตามเป้าหมายนั้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้รัฐวิสาหกิจมีรายได้และกำไรลดลง จึงจำเป็นต้องส่งรายได้ให้แผ่นดินน้อยลงตามไปด้วย เช่น 

-บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ปี 2563 มีกำไรสุทธิ 238 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าประมาณการที่กำหนดว่าจะมีกำไร1,312 ล้านบาท ทำให้ต้องนำเงินส่งรายได้แผ่นดินน้อยลงตามไปด้วย 

-ธนาคารออมสิน นำส่ง 10,664 ล้านบาท 

-ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) นำส่ง 3,661 ล้านบาท 

-การท่าเรือแห่งประเทศไทย 1,973 ล้านบาท เป็นต้น

น.ส.รัชดา ยังกล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ภายใต้มาตรการพิเศษเพื่อขับเคลื่อน SMEs สู่ยุค 4.0 (มาตรการด้านการเงิน) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นหน่วยงานดำเนินการหลัก  สำหรับหลักเกณฑ์ที่ขอปรับปรุง ได้แก่

1.ปรับระยะเวลากู้ยืมเป็นสูงสุดไม่เกิน 10 ปี และระยะเวลาปลอดชำระคืนเงินต้น สูงสุดไม่เกิน 2 ปี จากเดิมกำหนดระยะเวลากู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 7 ปี และระยะเวลาปลอดชำระคืนเงินต้น สูงสุดไม่เกิน 12 เดือน

2.อัตราดอกเบี้ยคงเดิม แต่ปรับระยะเวลาให้เป็นไปตามที่ขยายถึง 10 ปี กรณีผู้กู้เป็นบุคคลธรรมดา ปีที่ 1 – 3 คิดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ MLR – 1.875 ต่อปี ปีที่ 4 – 10 ให้เป็นไปตามอัตราดอกเบี้ยที่ ธพว. กำหนด กรณีผู้กู้เป็นนิติบุคคล ปีที่ 1 – 3 คิดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ MLR – 3.875 ต่อปี ปีที่ 4 – 10 ให้เป็นไปตามอัตราดอกเบี้ยที่ ธพว. กำหนด

3.หลักประกัน ปรับให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน หรือ ใช้หลักประกันตามที่ธนาคารกำหนดได้

สำหรับโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนฯดังกล่าว มีกรอบวงเงิน 50,000 ล้านบาท โดยข้อมูล ณ 30 มิถุนายน 2564 ธพว.อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 25,566 ราย วงเงิน 43,110 ล้านบาท คิดเป็น 86.22% ของวงเงินสินเชื่อรวมโครงการ คงเหลือวงเงินสินเชื่อ 6,889 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ 4,100 ราย รักษาการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 20,500 คน และสร้างเงินหมุนเวียนในระบบ 31,551 ล้านบาท