จากกรณีที่ศบค.ประกาศล็อกดาวน์กรุงเทพฯ และปริมณฑล 6 จังหวัด พร้อมยกระดับมาตรการควบคุมโรครวม 10 จังหวัดที่มีการระบาดรุนแรงของโควิด-19 มีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. 2564 รวมทั้งมีมติเห็นชอบให้ขยายการประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกไปอีก 2 เดือนไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2564
ทั้งนี้ทางด้านพล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ได้เปิดเผยถึงการตั้งจุดตรวจ จุดสกัดใต้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสราชเทวี ขาเข้า ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของพื้นที่ สน.พญาไท และแยกนานา ถนนสุขุมวิท พื้นที่รับผิดชอบของ สน.ลุมพินี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ 88 ด่านตรวจชั้นในกรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งระหว่างเวลา 21.00 น.จนถึงเวลา 04.00 น. ที่ตั้งเพิ่มเติมนอกเหนือจากด่านคัดกรองโควิด-19 ขาเข้ารอบกรุงเทพมหานคร 6 จุดหลัก ซึ่งตั้งตลอด 24 ชั่วโมง
โดยตำรวจนครบาลมีความพร้อมปฏิบัติหน้าที่ทุกจุดตรวจ โดยกำชับให้มีการป้องกันการแพร่ระบาดระหว่างการตรวจสอบบุคคลและยานพาหนะ โดยตำรวจจะต้องสวมหน้ากากอนามัย และฉีดพ่นเจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดตลอดเวลา โดยตำรวจที่มาปฎิบัติหน้าที่ยังด่านตรวจจะต้องฉีดวัคซีนครบโดส เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นและปลอดภัย
นอกจากนี้ยังมีมาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร อันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเสนอข่าวหรือการทำให้เกิดการเผยแพร่ ซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือมีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความเรียบร้อย ถือเป็นความผิดตามมาตรา 9 (3) แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรการข้อห้ามและข้อปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน จนถึงวันที่ 25 ก.ค. เว้นแต่จะมีการประเมินความเหมาะสมสถานการณ์ต่อไป ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.เป็นต้นไป
ล่าสุดในเพจเฟซบุ๊ก iLaw ได้โพสต์ถึงประเด็นนี้ ระบุว่า “ใช้วันนี้! ข้อกำหนดใหม่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามโพสต์สร้างความหวาดกลัวแม้เป็นความจริง โทษ 2 ปี ปรับ 40,000 บาท”
ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 27 ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แก้ไขฉบับที่ 1 ในเรื่องข้อห้ามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ขยายองค์ประกอบความผิดให้กว้างออก ห้ามการโพสต์ข้อความให้ประชาชนหวาดกลัวแม้จะเป็นความจริงก็ผิด เพิ่มไปห้ามข้อความบิดเบือนที่ “กระทบความมั่นคงของรัฐ” และไม่ต้องให้เจ้าหน้าที่เตือนให้แก้ไขก่อน
12 กรกฎาคม 2564 เป็นวันแรกของการบังคับใช้ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 27 ซึ่งเป็นฉบับที่เพิ่มความเข้มงวดของข้อห้ามต่าง ๆ ท่ามกลางสถานการณ์ที่พบผู้ติดเชื้อโควิดรายวันหลัก 9,000 คน และระบบสาธารณสุขของประเทศไม่อาจรองรับสถานการณ์ได้ มาตรการห้ามออกนอกเคหสถานในเวลากลางคืนถูกนำมาใช้อีกครั้ง พร้อมกับการสั่งปิดตลาด ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ในเวลา 20.00 น.
ข้อกำหนดฉบับที่ 27 ที่ลงนามประกาศใช้โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ยังเขียนไว้ในข้อ 11. เป็นข้อจำกัดการแสดงความคิดเห็น ภายใต้สถานการณ์ที่อ่อนไหวของโรคระบาด ดังนี้
“ข้อ 11 มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเสนอข่าวหรือการทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักรนั้น เป็นความผิดตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548”
การกระทำที่จะเป็นความผิดตามข้อ 11 ต้องมีองค์ประกอบทุกข้อรวมกัน ดังนี้
1. การเสนอข่าว หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด (เข้าใจได้ว่ารวมถึงสื่อออนไลน์)
2. ที่มีข้อความอันอาจ
2.1 ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือ
2.2 เจตนาบิดเบือนทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
3. การกระทำเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งในราชอาณาจักรไทย ไม่จำกัดเฉพาะพื้นที่ควบคุมสูงสุดเท่านั้น
การฝ่าฝืนข้อ 11 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท ซึ่งเป็นโทษที่กำหนดไว้ในมาตรา 18 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การฝ่าฝืนข้อกำหนดไม่ว่าเรื่องใด ๆ เช่น การออกนอกเคหสถานเกินเวลาที่กำหนด การรมกลุ่มเกินห้าคนโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็มีอัตราโทษเช่นเดียวกันหมด
ก่อนหน้าการประกาศใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 27 ก็มีข้อกำหนดฉบับที่ 1 ที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 26 มีนาคม 2563 กำหนดข้อห้ามการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนในทำนองเดียวกัน และใช้มาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี 4 เดือน โดยระหว่างช่วงเวลาที่ผ่านมาก็มีการออกข้อกำหนดเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมหรือผ่อนคลายข้อห้ามต่างๆ มาแล้วอีก 25 ฉบับ แต่ข้อห้ามเรื่องการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ไม่เคยถูกแก้ไขใด ๆ จนกระทั่งข้อกำหนดฉบับที่ 27 ออกมาบังคับใช้ใหม่ เท่ากับเป็นการยกเลิกข้อห้ามเดิมในข้อกำหนดฉบับที่ 1 แล้วใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 27 นี้แทน
อย่างไรก็ตาม ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องนี้ ว่ารัฐบาล กำลังปิดหูปิดตาประชาชน บางคนก็ยังพาดพิงว่า กฎหมายแบบนี้เหมือนม.112 พูดความจริงไม่ได้ แล้วอะไรที่เข้าข่ายสร้างความหวาดกลัวบ้าง ทำไมถึงโพสต์ไม่ได้ แต่ยังไงก็ตาม ที่ผ่านมา จะพบว่ากลุ่มของม็อบ 3 นิ้ว มักจะโพสต์ข้อความที่ปลุกระดม มีการบิดเบือนข้อมูล บางเรื่องก็โพสต์ให้คนโจมตีรัฐบาล ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องจริง ซึ่งกฎหมายตามมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 27
นี้ ทำให้เห็นชัดว่า เริ่มกลุ่มของม็อบแสดงความไม่พอใจ และโวยว่าให้ปิดสื่อไปเลย จะได้ไม่ต้องนำเสนอข้อมูลอะไรอีกแล้ว