ผ่าทีเด็ดแผนฟื้นฟูทำเจ้าหนี้โหวตอุ้ม!?!ส่องโอกาสบินไทยสยายปีกได้อีกครั้ง รัฐบาล-เจ้าหนี้-คนการบินไทยดันสุดแรง

1780

ก่อนหน้านี้มีวิวาทะเรื่องควรหรือไม่นำ การบินไทยกลับคืนสู่รัฐวิสาหกิจอีกครั้ง ซึ่งมีทั้งกองเชียร์และกองแช่ง เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2564การประชุมเจ้าหนี้ของการบินไทย ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) หลังเลื่อนการประชุมจากวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา ผลที่ประชุมเจ้าหนี้ ลงมติโหวตผ่านแผนฟื้นฟูกิจการ เผยแผนแก้ไข 3 ฉบับผ่านฉลุย โดยตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟู 5 คน รอกรมบังคับคดีเตรียมส่งศาลล้มละลายกลาง 28 พ.ค.นี้ แน่นอนว่า ผู้บริหารและพนักงานการบินไทยย่อมมีกำลังใจไปขั้นหนึ่ง แม้สื่อหลายสำนักพยายามคาดคั้นนายกฯว่าจะใส่เงินอีกไหม? เพื่อจะได้มาขยี้ต่อ นายกฯก็ตอบแบบหงายไพ่แต่หลายคนหงายเงิบว่า “ไม่มีใครอยากให้การบินไทยล้มละลาย”

วันรุ่งขึ้น “หุ้นการบินไทย” ปิดขึ้นไปที่ 40% นักการเมืองจอมเพ้อ ของกลุ่มชิงชังบ้านเกิดเมืองนอนพยายามยกตัวเองเทียบนายกฯ พยายามแสดงวิสัยทัศน์แบบนายทุนมอง การบินไทย ก็คะแนนติดลบเพราะสวนทางกระแสทุนเหมือนกัน ปฏิเสธคุณค่าของ “แบรนด์ไทย” ที่สร้างมานับสิบปี ว่าเป็นสินทรัพย์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้มหาศาล ทั้งตลาดหลักทรัพย์ สถาบันการเงิน กลุ่มเจ้าหนี้ของการบินไทย รวมทั้งทีมเศรษฐกิจรัฐบาล มองเห็นจุดนี้ ไม่ต้องพูดถึงคุณค่าของทีมงานการบินไทย ที่ล้วนแล้วเป็นยอดฝีมือในธุรกิจสายการบิน ที่พร่อมฟันฝ่า พาสายการบินแห่งชาติไทยผงาดเหนือท้องฟ้าอีกครั้ง ที่สำคัญนับจากนี้การบริหารจัดการและผลประกอบการจะอยู่ในสายตาของเจ้าหนี้อย่างเคร่งครัด

ก่อนที่จะส่งศาลปลายเดือนนี้มาพิจารณาดูจุดแข็ง-จุดอ่อนของแผนฟื้นฟูกันว่ามีความเป็นไปได้ที่จะพาการบินไทยฟื้นคืนชีพได้แบบไหน อย่างไร?

แผนฟื้นฟู 3 ฉบับได้แก่ แผนฟื้นฟูของการบินไทย,แผนฟื้นฟูของชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย และแผนฟื้นฟูของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

โดยแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย เป็นการแก้ไขหลังจากผู้ทำแผนได้หารือกับเจ้าหนี้สถาบันการเงินหลัก ทั้งเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูและเจ้าหนี้ที่มีโอกาสให้การสนับสนุนทางการเงิน เห็นพ้องต้องกันว่า เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เจ้าหนี้มีความเชื่อมั่นในแผนฟื้นฟู จนเพียงพอที่เจ้าหนี้จะให้การสนับสนุนแผนฟื้นฟูตลอดจนเม็ดเงินได้คือ การที่การบินไทยจะยังคงได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและได้รับสิทธิประโยชน์ในการประกอบธุรกิจการบินและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ไม่ด้อยกว่าก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ 

โดยเจ้าหนี้ยอมรับรวม 28 กลุ่มจาก  36 กลุ่ม จำนวนหนี้รวม 1.16 แสนล้านบาท คิดเป็น 91.56%  นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูการบินไทย จำนวน 5 คนได้แก่ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายพรชัย ฐีระเวช นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ และนายไกรสร บารมีอวยชัย 

ปัจจุบันการบินไทยมีเจ้าหนี้รวม 1.3 หมื่นราย มีมูลหนี้ที่ขอรับการชำระหนี้กว่า 4 แสนล้านบาท และเป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิในการโหวตแผนฟื้นฟู มูลค่าหนี้ราว 1.8 หมื่นล้านบาท เจ้าหนี้หลักที่จะโหวต จะเป็นเจ้าหนี้หุ้นกู้ 7 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 40% เจ้าหนี้สถาบันการเงินเอกชน 3.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 17% เจ้าหนี้การค้าราว 10% เจ้าหนี้กระทรวงการคลัง 13,000 ล้านบาท คิดเป็น 7-8% นอกนั้นอีก 4-5% เป็นเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าเครื่องบินจากต่างประเทศ

ผู้ทำแผนจึงได้ขอแก้ไขแผนฟื้นฟูในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการชำระหนี้ ลำดับการจัดสรรกระแสเงินสด การจัดหาประโยชน์ทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดหาแหล่งเงินทุน โดยการกู้ยืมเงินใหม่เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน รวมถึงการเพิ่มคณะกรรมการกำกับสินเชื่อใหม่ เพื่อให้เจ้าหนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีโอกาสพิจารณาให้การสนับสนุนทางการเงินแก้ลูกหนี้ และเพื่อให้แน่ใจว่าผู้บริหารแผนดำเนินการตามแผนและนำสินเชื่อใหม่ใช้ดำเนินธุรกิจอย่างเหมาะสมและรัดกุมตามแผนฟื้นฟูกิจการ

ส่วนแผนแก้ไขของธนาคารกรุงเทพ ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูในส่วน “ผู้บริหารแผน” โดยได้เสนอรายชื่อผู้บริหารแผนเพิ่ม 2 ราย คือ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายไกรสร บารมีอวยชัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการประนอมหนี้และกฎหมาย ธนาคารกรุงเทพ และเป็นอดีตอธิบดีกรมบังคับคดี เข้าเป็นผู้บริหารแผน

สำหรับแผนแก้ไขของชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย (ชสอ.) ได้ยื่นแก้ไขแผน ดังนี้ การแปลงหนี้เป็นทุน การให้เจ้าหนี้ใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนได้ หลังปีที่ 7 หุ้นละ 2.5452 บาท ครอบคลุมเจ้าหนี้หุ้นกู้ ตั้งแต่กลุ่ม 18-31 ขณะที่เจ้าหนี้กลุ่ม 4-6 จะสามารถใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนได้ เพราะมีหนี้คงเหลือหลังปี 7 จัดการหาประโยชน์ทรัพย์สินทรัพย์ตามการเรียกร้องลูกหนี้ ครอบคลุมและมีความเหมาะสม การแต่งตั้งผู้ทำแผน โดยได้เสนอผู้ทำแผน 3 ราย คือ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายพรชัย ฐีระเวช และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร และให้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเจ้าหนี้ ขอให้ผู้บริหารแผนชี้แจงการดำเนินการ ความคืบหน้า การขายทรัพย์สินในแผน เป็นต้น

กระบวนการหลังจากนี้ กรมบังคับคดีจะรวมรวมแผนฟื้นฟูกิจการให้ศาลศาลล้มละลายกลางให้ความเห็นชอบภายในวันที่ 28 พ.ค.นี้ หลังจากนั้นภายใน60 วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบแผน การบินไทยจะปรับโครงสร้างทุน โดยลดทุนจดทะเบียนจาก 26,989.01 ล้านบาทเหลือ 21,827.72 ล้านบาท ด้วยการตัดหุ้นที่ยังไม่ได้ออกและจำหน่าย 516.13 ล้านหุ้น จากนั้นจะเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 218,277.19 ล้านบาท ด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ 19,644.95 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 10 บาท รวมมูลค่า 196,449.47 ล้านบาท

โดยจะจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 9,822.47 ล้านหุ้นให้เจ้าหนี้กระทรวงการคลังและหรือผู้รับโอนสิทธิในการซื้อหุ้นในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้นและจัดสรรหุ้นไม่เกิน 9,822.47 ล้านหุ้น ให้เจ้าหนี้สินเชื่อใหม่ภาคเอกชน (เจ้าหนี้สถาบันการเงิน)และหรือผู้รับโอนสิทธิในการซื้อหุ้นในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น

แนวทางการจัดหาแหล่งเงินทุนใหม่ เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจจำนวน 5 หมื่นล้านบาท โดยจะเป็นสินเชื่อใหม่ทั้งหมด มาจาก 2 ส่วนคือ 2.5 หมื่นล้านบาท มาจากการสนับสนุนของภาครัฐ หรือบุคคลใดๆ ที่ภาครัฐและผู้บริหารแผนได้ร่วมกันจัดหา ซึ่งอาจอยู่ในรูปของเงินให้กู้ยืม และ/หรือ การคํ้าประกัน ซึ่งมีเวลาชำระคืนสินเชื่อใหม่ไม่เกิน 6 ปี เริ่มชำระเงินต้นตั้งแต่ปีที่ 3 นับจากวันที่เริ่มเบิกใช้สินเชื่อ ขณะที่ภาครัฐ หรือบุคคลใดๆที่สนับสนุนสินเชื่อใหม่ มีสิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของการบินไทยในราคาหุ้นละ 2.5452 บาท

ส่วนอีก 2.5 หมื่นล้านบาท มาจากการสนับสนุนจากเอกชนและเจ้าหนี้สถาบันการเงิน ซึ่งมีเวลาชำระคืนสินเชื่อใหม่ไม่เกิน 6 ปี เริ่มชำระเงินต้นตั้งแต่ปีที่ 3 นับจากวันที่เริ่มเบิกใช้สินเชื่อ ขณะที่ภาครัฐหรือบุคคลใดๆที่สนับสนุนสินเชื่อใหม่ มีสิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของการบินไทยในราคาหุ้นละ 2.5452 บาท

ต้องติดตามกันต่อไปว่าเมื่อผ่านศาลล้มละลายกลางแล้ว เพิ่มทุนหมุนเวียนแล้ว ทีมบริหารแผนจะสร้างผลงานได้ดีมากน้อยอย่างไร? ทั้งกองเชียร์กองแช่งไม่ปล่อยให้ทำอะไรตามใจชอบเป็นแน่!!