อี-คอมเมิร์ซไทยมาแรง!?!อังก์ถัดยกให้ไทยอันดับที่ 3 ในอาเซียน โตเฉลี่ย 81% มูลค่าแตะ 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

1911

ข่าวดีที่น่าภูมิใจของคนไทยมีอีกแล้ว ในการจัดอันดับ B2C e-Commerce Index 2020 อังค์ถัดยกให้ไทยครองอันดับ 3 อาเซียน คว้าอันดับ 42 ของโลก ก่อนหน้านี้ผลวิจัยด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ไทยมาอันดับ 1 ในอาเซียนด้านอี-คอมเมิร์ซแบบ C2C และอันดับ 1 ของโลกด้านทำธุรกรรมการเงินผ่านโมบายแบงก์กิ้ง  รัฐบาลจึงเชื่อมั่นว่าไทยเดินหน้ามาถูกทาง และมีทิศทางพัฒนา e-Commerce ที่ดีขึ้นชัดเจน พร้อมนำประเทศเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลเต็มที่

ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจกับการจัดกลุ่มแบ่งประเภทของอี-คอมเมิร์ซหรือการค้าออนไลน์กันว่าเขาใช้แบ่งกลุ่มหลายประเภท

แบบBusiness to Consumer – B2C หมายถึงผู้ประกอบการ กับ ผู้บริโภค คือการค้าระหว่างผู้ค้าโดยตรงถึงลูกค้าซึ่งก็คือผู้บริโภค เช่น การขายหนังสือ ขายวีดีโอ ขายซีดีเพลงเป็นต้น

แบบConsumer to Consumer – C2C หมายถึงผู้บริโภค กับ ผู้บริโภค คือการติดต่อระหว่างผู้บริโภคกับผู้บริโภคนั้น มีหลายรูปแบบและวัตถุประสงค์ เช่นเพื่อการติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร ในกลุ่มคนที่มีการบริโภคเหมือนกัน หรืออาจจะทำการแลกเปลี่ยนสินค้ากันเอง ขายของมือสอง ขายของในกลุ่มเป็นต้น

มาดูผลการศึกษาถึงคนไทยกับชีวิตดิจิทัลกัน

อ้างอิงจากผลวิจัยด้านเศรษฐกิจดิจิทัล  “เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปี 2563 (e-Conomy SEA 2020)” โดยทีมวิจัย Google, Temasek และ Bain & Company เผยแพร่ผลประเมินมูลค่าเศรษฐกิจการเติบโตในอีก 5 ปีข้างหน้า ระบุว่า อี-คอมเมิร์ซ (E-commerce) ในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุด

โดยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 81% จากปีที่ผ่านมา มีมูลค่าแตะ 9 พันล้านดอลลาร์ในปี 2563 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2568 แม้วิกฤตการณ์โควิด-19 จะส่งผลกระทบ แต่การขยายตัวของอีคอมเมิร์ซได้ช่วยชดเชยการชะลอตัวของการท่องเที่ยวและการขนส่งออนไลน์ 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวไทยซื้อสินค้าออนไลน์กันมากขึ้น ตามข้อมูลแสดงว่า คนไทยใช้เวลาออนไลน์สำหรับเรื่องส่วนตัว เฉลี่ย 3.7 ชั่วโมงต่อวันในช่วงก่อนโควิด และพุ่งขึ้นถึง 4.6 ชั่วโมง ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ และปัจจุบันคงที่อยู่ที่ 4.3 ชั่วโมงต่อวัน

และสำหรับอังก์ถัด(UNCTAD) คือการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ United Nations Conference on Trade and Development ได้ยืนยันอีกครั้งถึงการตื่นตัวของสังคมไทยต่อการค้าออนไลน์อย่างเห็นได้ชัด

เมื่อวานนี้ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันที่ 17 ก.พ.2564 ที่ผ่านมา ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด (UNCTAD) ได้ประกาศผลการจัดอันดับ B2C หรือ Business-to-Customer/e-Commerce ประจำปี 2563 ซึ่งเป็นการวัดความพร้อมทางเศรษฐกิจเพื่อตอบโจทย์การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จาก 152 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความพร้อมทาง e-Commerce สูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง คือ สวิตเซอร์แลนด์ ขณะที่ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 42 ของโลก ติด Top 10 ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และ มาเลเซีย 

ความสำเร็จในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก้าวต่อไปนับจากนี้ รัฐบาลจะนำผลการจัดอันดับดังกล่าวไปออกแบบนโยบาย เพื่อรองรับประเทศไปสู่การเปลี่ยนผ่านเป็นสังคมเศรษฐกิจดิจิทัล ที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับทุกภาคส่วน และจะพัฒนากฎระเบียบ แพลตฟอร์ม ให้รองรับ e-Commerce และระบบต่าง ๆ เพื่อรองรับธุรกรรม e-Commerce  อีกทั้งจะผลักดันสินค้าชุมชนเข้าสู่ตลาดออนไลน์ สร้างการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตอย่างเต็มที่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่น และความไว้วางใจให้กับผู้ประกอบการและประชาชน เพื่อก้าวเข้าสู่การใช้ e-Commerce อย่างสมบูรณ์ 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ท่านนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าประเทศไทยเดินหน้ามาถูกทางแล้ว และมีทิศทางการพัฒนา e-Commerce ที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน พร้อมแสดงความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าในปีหน้าประเทศไทยจะได้รับคะแนนที่ดีขึ้นทั้งในเชิงมูลค่าและประสิทธิภาพของ e-Commerce ไทย” 

นอกจากนี้จากการจัดอันดับของประเทศไทย พบว่า ประเทศไทยโดดเด่นในด้านความเชื่อมั่นการขนส่งไปรษณีย์ (Postal Reliability Index) โดยได้คะแนนสูงถึง 97 คะแนน เท่ากับคะแนนของสวิตเซอร์แลนด์ที่ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีความพร้อมทาง e-Commerce สูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง นอกจากนี้ ประเทศไทยยังโดดเด่นในด้านจำนวนการเปิดบัญชีธนาคาร หรือมีบัญชีธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ  ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญพื้นฐานของการเติบโตของการค้าออนไลน์หรือ e-Commerce ด้วย