ทูตพม่าจ่อฟ้องศาลโลก!?!อาเซียนประชุมผบ.สูงสุดกล่อมเจรจา หวังหยุดสงครามคู่ขัดแย้ง ขณะหลายพื้นที่รบแตกหักกลุ่มชาติพันธุ์??

2725

สถานการณ์ตึงเครียดในเมียนมา ดำเนินมาต่อเนื่องถึงสัปดาห์นี้ ทั้งฝ่ายต่อต้านรัฐบาลกลางกับกองทัพมีศูนย์กลางการปะทะในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะย่างกุ้ง และการเคลื่อนไหวของสหประชาชาติ และมหาอำนาจตะวันตก พุ่งเป้าหมายขยายความให้เมียนมาเป็นรัฐล้มเหลว มีแต่ภาพตำรวจปราบจลาจลใช้อาวุธจับกุมกลุ่มต่อต้านหัวรุนแรง แต่ไม่มีภาพฝ่ายต่อต้านใช้อาวุธและรุนแรงตอบโต้ อ้างชุมนุมโดยสันติตลอด สภาพการปะทะในช่วงสองสามวันที่ผ่านมาไม่ได้มีเค้าสันติแม้แต่น้อย กลางเมืองย่างกุ้งอย่างน้อย 6 เขตมีสภาพเหมือนสนามรบ ทำให้สถานทูตไทยต้องออกคำเตือนคนไทยห้ามเข้าใกล้เขตอันตราย อาจเจอลูกหลงถึงแก่ชีวิต ส่วนชาวบ้านอพยพหนีกลับบ้านในชนบทกระเจิดกระเจิง บ้างหนีหลบภัยไปยังกลุ่มชาติพันธุ์ติดชายแดนไทย บ้างอพยพหนีภัยข้ามชายแดนอินเดียนับพันคน และตอนนี้สถานีตำรวจจังหวัดชายแดนไทยติดกับพม่า ก็มีสภาพสถานที่ไม่พอกักตัวคนมุดรั้วข้ามแดน อีกไม่นานคาดจะทะลักล้นยิ่งกว่านี้

สถานการณ์สงครามขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่าฝ่ายหนึ่งและกลุ่มชาติพันธุ์ที่นำโดยเจ้ายอดศึกจับมือกับพรรคNLD ของอองซาน ซูจีอีกฝ่ายหนึ่งยากหลีกเลี่ยงการสู้รบแตกหัก เพราะต่างฝ่ายมั่นใจมี มหาอำนาจหนุนหลัง ขณะที่ในทางสากล ชาติตะวันตกผ่านบทบาทของสหประชาชาติบีบรุกเข้ามาด้วยข้ออ้างละเมิดสิทธิมนุษยชน ก่อการร้าย อาชญากรสงคราม และผู้รับลูกตามเกมส์บีบนี้ก็คือคนเมียนมาที่นั่งอยู่ในสหประชาชาติ อ้างเพื่อประชาธิปไตยแต่ไม่สนใจว่าหลังจากได้ประชาธิปไตยแล้วชาติจะแตกเป็นเสี่ยงๆไหม? เล็งฟ้องศาลโลก คณะทหารเป็นอาชญากรสงคราม

ล่าสุดถึงคิวอาเซียนที่ถูกจับตาจากรอบด้าน ว่าจะมีบทบาทอย่างไร ทั้งนี้ที่ผ่านมาอาเซียนยืนยัน ยึดถือกฎบัตรอาเซียนไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน

การประชุมผู้บัญชาการทหารสูงสุดอาเซียนครั้งที่ 18 เมื่อวันที่ 18 มี.ค.2564 พลเอก มิน อ่อง หล่าย ร่วมวงหารือผบ.ทสส.อาเซียนด้วยตนเอง   หลายประเทศในอาเซียนแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ในเมียนมา ส่วนปธน.อินโดนีเซียจี้ให้อาเซียนจัดถกวิกฤตเมียนมาอย่างเป็นทางการด้วย

การประชุมทางไกล (Video Teleconference : VTC) มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผบ.ทสส. กำหนดวาระประชุมในประเด็น การเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาค การแพร่ระบาดของโควิด 19 และ บทบาทของกองทัพ ในการรับมือภัยคุกคามรูปแบบใหม่ อาทิ อาชญากรรมข้ามชาติ ก่อการร้าย และโจรสลัด ซึ่งบรูไน เป็นประธานการประชุมในฐานะประธานอาเซียน  และสำหรับประเทศไทย พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) เข้าร่วมประชุม ด้วย

สำนักข่าวThe Straits Times รายงานถึงผลการประชุมผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) อาเซียน ครั้งที่ 18 (ACDFM -18)  ซึ่งบรูไนในฐานะประธานอาเซียนจัดการประชุมผ่านระบบ Video Conference ว่า ที่ประชุมเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือทางทหาร เพื่อพร้อมจะเผชิญกับความท้าทายด้านความมั่นคงในระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมถึงการซ้อมรบร่วม โดย ผบ.ทสส.สิงคโปร์และอินโดนีเซีย แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ในเมียนมาและเรียกร้องให้กองทัพเมียนมายับยั้งชั่งใจในการใช้อาวุธต่อพลเรือน นอกจากนี้ ผบ.ทสส.อินโดนีเซีย เสนอความช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยต่อ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่ายผบ.ทสส.เมียนมา ซึ่งเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย ในระหว่างการหารือ นายฮาดี ยายันโต ผู้บัญชาการกองทัพอินโดนีเซีย ได้แสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ในเมียนมา 

สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งได้รายงานเมื่อ 19 มี.ค.2564 ว่า ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย แถลงในวันเดียวกันหลังจากประชุมร่วม เรียกร้องให้อาเซียนแสดงบทบาท ในการแก้ไขสถานการณ์รุนแรงในเมียนมาอย่างเป็นทางการน โดยเตรียมเสนอให้บรูไนในฐานะประธานอาเซียนจัดการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูง วาระพิเศษเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาโดยเฉพาะ เพื่อยุติการใช้ความรุนแรงและฟื้นฟูประชาธิปไตย ในเมียนมา นอกจากนี้ ประธานาธิบดีวิโดโดยังแสดงความเสียใจต่อผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามสลายการชุมนุม ในเมียนมา และเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมายุติการใช้ความรุนแรง

นอกจากนี้สิงคโปร์ก็แสดงท่าทีสอดคล้องกับอินโดนีเซีย โดย เฟซบุ๊ก ของ กระทรวงกลาโหมของสิงคโปร์ ได้เผยแพร่ว่า พลโท เมลวิน อง ผบ.ทสส.ของสิงคโปร์ ได้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้และได้แสดงความกังวลเป็นอย่างมาก ต่อสถานการณ์ในพม่า และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทหาร ยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่ และละเว้นการใช้กำลังร้ายแรงต่อพลเรือนที่ไม่มีอาวุธ

ขณะที่สำนักข่าว ดิ อิระวดี ของเมียนมา รายงานว่า ไม่มีการรายงานที่ชัดเจนว่า ผู้นำเมียนมานั้น ได้กล่าวตอบในประเด็นดังกล่าวอย่างไร ซึ่งในสื่อโทรทัศน์เปิดเผยเพียงขณะกำลังประชุม ปรึกษากันในเรื่องของโควิด 19 ที่กระทบไปทั่วโลก

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อ.ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ ม.รังสิต วิเคราะห์บทบาททางทหารว่า หากสถานการณ์ในเมียนมารุนแรงขึ้น เชื่อว่า บทบาทของทหารไทยในด้านมนุษยธรรมเพื่อรับมือกับชาวเมียนมาที่อาจจะหลบหนีเข้ามาในฝั่งไทยน่าจะปรากฎชัดขึ้น สะท้อนจากท่าทีของกองทัพไทยที่คงไม่ปฏิเสธในการแสดงบทบาทลักษณะนี้

สำหรับสถานการณ์ในเมียนมาขณะนี้ ล่าสุดทางเมียนมาได้ใช้เทคโนโลยีติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มชุมนุมต่อต้าน พร้อมกับตัดสายเคเบิลอินเตอร์เน็ตเพื่อยับยั้งการสื่อสารข่าวบิดเบือนและปลุกระดมจากฝ่ายต่อต้านเรื่องนี้ องค์กรสิทธิมนุษยชนรับไม่ได้

จากเว็บไซต์องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนในเมียนมา Human Rights Watch (HRW) แถลงแสดงความกังวลต่อ กรณีรัฐบาลทหารเมียนมาภายใต้สภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council-SAC) ติดตั้งกล้องวงจรปิด ที่มีระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence-AI) เพื่อเก็บข้อมูลกลุ่มเคลื่อนไหวที่ประกาศใช้แนวทางขัดขืนอย่างสงบ (Civil Disobedience Movement-CDM) แต่ มีการใช้ความรุนแรงในบางส่วนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการตอบโต้ตำรวจด้วยอาวุธทำเอง การจัดกลุ่มทำลายสิ่งของ วางเพลิง ปล้นทรัพย์ในหลายๆที่  ทำให้ทางการเมียนมาใช้เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าและป้ายทะเบียนรถ  กลุ่มสิทธิฯถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพและทำให้ประชาชนกลัวว่า รัฐบาล SAC จะนำข้อมูลไปใช้ในการจับกุมและดำเนินคดีต่อกลุ่ม CDM อีกทั้งยังทำให้กระแสต่อต้านจีน ในเมียนมาขยายตัว เพราะกลุ่ม CDM เชื่อว่า บริษัทหัวเว่ยของจีนสนับสนุนเทคโนโลยี AI ให้กับรัฐบาล SAC

 

และการสูญเสียนองเลือดยังดำเนินต่อไป ล่าสุดมีประชาชนเมียนมาเสียชีวิตจากการปะทะกับทหารในรัฐฉานเพิ่มอีก 8 คน เรื่องนี้สำนักข่าว  Myanmar Now และ ABC รายงานเมื่อ 19 มี.ค.64 ว่าทหารเมียนมาปราบปรามและใช้กระสุนจริงที่เมืองอองบัน รัฐฉาน ทำให้มีผู้เสียชีวิต จำนวน 8 คน และจับกุมอูจี โท โฆษกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) เมื่อ 18 มี.ค.64 หลังจากทางการเพิ่มการสกัดกั้นการเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมามากขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลจำกัดการใช้ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้วยการปิดกั้นแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ รวมทั้งการระงับสัญญาณการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค.2564 เป็นต้นมา