เรื่องนี้ผบ.คุกต้องแจง สาวปมลึก กางกฎเรือนจำชัด ๆ เข้าเยี่ยมห้ามถึงตัวนักโทษ จม.อานนท์ออกมาได้ไง?

5818

จากที่วันนี้ บนเฟซบุ๊ก “อานนท์ นำภา” ได้โพสต์ข้อความเผยแพร่จดหมายเขียนด้วยลายมือและลงชื่อผู้เขียน “อานนท์ นำภา” เนื้อหาระบุว่า “ด่วนที่สุด ข้อความจากศาล 16 มี.ค. 64 ข้อความเป็นคำร้องที่เขียนต่อศาลเพื่อแจ้งให้ทราบถึงเรื่องที่เกิดขึ้นอาจจะรีบเขียนจึงลงวันที่ผิด”

“เมื่อคืนนี้เวลาประมาณ 21.30 น. ได้มีเจ้าหน้าที่เรือนจำพยายามนำตัวไผ่และไมค์ไปควบคุมนอกแดน พวกเราไม่ยอมเพราะเป็นเวลาวิกาล จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้กลับออกไปจากห้องขัง แล้วกลับมามากกว่าเดิมพร้อมกระบอง เวลา 23.45 น. 00.15 น. และ 02.30 น. โดยสองครั้งหลังเจ้าหน้าที่มาพร้อมเจ้าหน้าที่อีกชุดสีน้ำเงินเข้มแต่ไม่ติดป้ายชื่อและแจ้งว่าจะพาทั้งหมดไปตรวจโควิด พวกเราไม่ยอม เพราะผิดวิสัยที่จะนำผู้ต้องหาออกนอกแดนในเวลาหลังเที่ยงคืน ภายใต้ข่าวลือว่าจะมีการส่งคนเข้าไปทำร้ายหมายเอาชีวิตพวกเราในเรือนจำ และเกรงจะเสียชีวิตในเรือนจำเหมือนหมอหยองและคนอื่น ๆ ผมไม่ได้นอนทั้งคืนเพราะเกรงอันตราย ได้โปรดช่วยชีวิตพวกเราด้วย ลงชื่ออานนท์” เนื้อความในจดหมายของนายอานนท์

ขณะที่ต่อมา มีข้อความถูกแก้ไขโพสต์ระบุว่า “ด่วนที่สุด” ข้อความจากศาล 16 มี.ค. 64 (ข้อความเป็นคำร้องที่เขียนส่งต่อศาลเพื่อแจ้งให้ทราบถึงเรื่องที่เกิดขึ้น อาจจะรีบเขียนจึงลงวันที่ผิด) ได้โปรดอย่าเถียงกันว่าเขียนในเรือนจำหรือไม่เนื่องจากวันนี้อานนท์มาศาลเพื่อสืบพยาน ไม่ได้เขียนในเรือนจำ

ซึ่งเรื่องนี้เองทางกลุ่มมวลชนฝั่งม็อบสามนิ้วต่างออกมาเคลื่อนไหวในโซเชียลฯ อย่างมากมาย รวมถึง ทราย เจริญปุระ ก็ออกมาเคลื่อนไหวโหนเรื่องนี้ด้วยว่า จดหมายจากอานนท์ นำภา, ได้โปรดจับตามองกรณีนี้กันอย่างใกล้ชิด ทั้งพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจและความรุนแรงที่อาจเกิดจากการควบคุมตัวเพื่อนของเรา

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุด นายกฤช กระแสร์ทิพย์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯได้รับตัว นายจตุภัทร์ และนายภาณุพงศ์ มาจากเรือนจำพิเศษธนบุรีช่วงกลางคืนตามขั้นตอนระเบียบของเรือนจำ จะต้องกักตัวในห้องกักโรคแดน 2 ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เป็นเวลา 14 วัน

ตามมาตรการจะต้องตรวจหาเชื้อและนำตัวไปกักโรคที่บริเวณชั้น 2 ของสถานพยาบาลเรือนจำในแดน 2 เช่นกัน ซึ่งต้องเดินออกจากห้องกักโรคขึ้นไปยังชั้น 2 ของสถานพยาบาล เป็นขั้นตอนปกติ แต่ทางเรือนจำพยายามที่จะแยกผู้ต้องขังกลุ่มนี้เพื่อตรวจคัดกรองตามมาตรการของกรมราชทัณฑ์ แต่มีการปฏิเสธไม่ยอมแยกไปห้องกักโรคเสี่ยงสูงบริเวณชั้น 2 สุดท้ายเรือนจำก็ยอมไม่ย้ายก็ไม่ย้าย เพราะไม่อยากให้กลายเป็นประเด็นปัญหา แต่เป็นห่วงเพื่อนที่อยู่ร่วมห้อง เหตุการณ์ก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษหรือลึกลับอะไรเจ้าหน้าที่ที่เห็นก็เป็นผู้คุมเรือนจำ

ด้าน นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายอานนท์ นำภา แกนนำราษฎร เขียนจดหมายเล่าเหตุการณ์เกรงจะถูกทำร้ายในเรือนจำ ว่า นายอานนท์เขียนจดหมายที่ศาลอาญาวันนี้ตอนเช้า เนื่องจากมาว่าความและเป็นจำเลยคดีคนอยากเลือกตั้ง ศาลเบิกตัวมา นายอานนท์ก็เล่าข้อเท็จจริงเมื่อคืนว่า เวลาประมาณ 21.30 น. มีเจ้าหน้าที่เรือนจำพยายามนำตัวนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ และนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ซึ่งเพิ่งได้รับการย้ายจากเรือนจำธนบุรีมาเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แต่ 2 คนไม่ยอม เพราะเป็นเวลาวิกาล เจ้าหน้าที่ออกไปแล้วกลับมามีกระบองติดตัวมาด้วย เวลาประมาณ 23.45 น., 0.15 น. และ 2.30 น. โดยมาพร้อมกับเจ้าหน้าที่ชุดสีน้ำเงิน ไม่ติดป้ายชื่อ มีการพาผู้ต้องขังรายอื่นออกไปหมด เหลือแต่กลุ่มราษฎร แจ้งว่าจะพาไปตรวจโควิด-19ตอนตีสองครึ่ง ทั้งหมดไม่ยอม ยืนยันไม่ไป เจ้าหน้าที่พยายามบังคับก็ไม่ไป ในที่สุดเจ้าหน้าที่จึงยอมล่าถอยออกไป เนื่องจากในห้องมีกล้องวงจรปิด

นายกฤษฎางค์ กล่าวอีกว่า นายอานนท์จะยื่นคำร้องขอประกันตัวอีกครั้งหนึ่ง โดยเอาเหตุผลนี้มาประกอบ เเละขอให้ศาลไต่สวนในคำร้องขอประกันเนื่องจากเกรงว่าจะได้รับอันตรายถึงชีวิต เราอยู่ในความคุ้มครองตามอำนาจของศาลจึงต้องแจ้งให้ศาลทราบ นายอานนท์ก็ยื่นคำร้องแจ้งให้ศาลทราบกรณีนี้ตามจดหมาย ซึ่งทุกคนไม่ได้นอนทั้งคืน ขอให้ศาลช่วยชีวิตด้วย ตนปรึกษากับญาติพ่อแม่พี่น้องของนายอานนท์ ได้ยื่นขอศาลปล่อยชั่วคราวแล้ว และขอให้ศาลนัดไต่สวนคำร้องของนายอานนท์ตอนบ่ายนี้ ศาลอาจจะต้องเรียกพยานหลักฐานจากกรมราชทัณฑ์ กล้องวงจรปิดเป็นอย่างไร มีใครเข้าไปจริงหรือไม่ เข้าไปเพราะอะไรยามวิกาล ต้องการให้ศาลไต่สวนคุ้มครองชีวิต อีกทั้งทางพ่อแม่จะไปยื่นจดหมายถึง รมว.ยุติธรรม ที่ดูแลกรมราชทัณฑ์, กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และอธิบดีศาลอาญา ต่อไป

อย่างไรก็ตาม จากประเด็นนี้เองเกิดการตั้งคำถามตามมาว่า เหตุการณ์ดังกล่าวนั้นนับเป็นเรื่องที่ผิดปกติ เพราะจดหมายดังกล่าวนั้นสามารถนำออกมาจากคุก และเผยแพร่ต่อสาธารณะได้อย่างไร หรือก่อนหน้านั้นมีผู้เข้าเยี่ยมนายอานนท์หรือไม่ แต่ถ้าหากกรณีการเข้าเยี่ยมนั้นก็มีกฎชัดเจนว่าไม่ได้เข้าเยี่ยมถึงตัวนักโทษ ผู้ต้องขัง หรือว่ามีเจ้าหน้าที่ช่วยส่งจดหมายออกมา เรื่องนี้ทางผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต้องชี้แจง

ทั้งนี้ ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการเยี่ยม การติดต่อของบุคคลภายนอกกับผู้ต้องขัง และการเข้าดูกิจการหรือติดต่อการงานกับเรือนจำ พ.ศ. 2561 อธิบดีกรมราชทัณฑ์จึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

บุคคลภายนอกจะเข้าเยี่ยมหรือติดต่อกับผู้ต้องขังได้ ดังนี้

(1) เมื่อได้รับอนุญาตจากผู้บัญชาการเรือนจำหรือผู้ได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการเรือนจำในการเข้าเยี่ยมหรือติดต่อกับผู้ต้องขังต้องนำบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรที่ออกโดยทางราชการ ที่ปรากฏภาพถ่ายไปแสดงต่อเจ้าพนักงานเรือนจำ และให้เจ้าพนักงานเรือนจำจดบันทึกข้อมูล บุคคลภายนอกผู้เข้าเยี่ยมหรือติดต่อไว้เป็นหลักฐาน โดยเฉพาะความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้ต้องขัง กิจธุระ หรือประโยชน์ในการเข้าเยี่ยมหรือติดต่อกับผู้ต้องขังนั้น
(2) เฉพาะผู้ต้องขังที่ได้รับโอกาสให้ได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อจากบุคคลภายนอก
(3) ต้องเข้าเยี่ยมหรือติดต่อในวันและเวลาตามที่เรือนจำได้กำหนดไว้

หากมีเหตุพิเศษจำเป็นต้องพบผู้ต้องขังนอกวันและเวลาที่กำหนด ให้ขออนุญาตต่อผู้บัญชาการเรือนจำ แต่ต้องไม่ใช่ระหว่างเวลาที่เรือนจำได้นำผู้ต้องขังเข้าห้องขังแล้ว และยังมิได้นำ ออกจากห้องขัง เว้นแต่ผู้บัญชาการเรือนจำเห็นเป็นการจำเป็นที่สมควรจะอนุญาต

เพื่อประโยชน์ด้านการควบคุมหรือความมั่นคงของเรือนจำ ให้ผู้บัญชาการเรือนจำกำหนดให้ผู้ต้องขังแจ้งรายชื่อบุคคลภายนอกที่จะให้เข้ามาพบหรือติดต่อกับตนภายในเรือนจำไว้ล่วงหน้า รายชื่อบุคคลภายนอกนั้นให้มีจำนวนไม่เกิน 10 คน และหากจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็ให้สามารถ ดำเนินการได้ โดยต้องแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ในกรณีมีเหตุพิเศษ ผู้บัญชาการเรือนจำอาจพิจารณาอนุญาตให้บุคคลภายนอกนอกเหนือจาก ที่ได้แจ้งไว้ตามวรรคก่อน เข้าเยี่ยมหรือติดต่อกับผู้ต้องขังก็ได้

ห้ามมิให้บุคคลภายนอกที่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ เยี่ยมหรือติดต่อกับผู้ต้องขัง

(1) มีอาการมึนเมาหรือเมาสุราน่าจะก่อความเดือดร้อนรำคาญหรือความไม่เรียบร้อย
(2) มีเหตุอันควรเชื่อว่าถ้าอนุญาตให้เยี่ยมหรือติดต่อกับผู้ต้องขังแล้วจะก่อการร้ายหรือกระทำผิดกฎหมายขึ้น
(3) มีพฤติการณ์ที่อาจกระทบต่อความมั่นคงของเรือนจำ
(4) แต่งกายผิดปกตินิยมในท้องถิ่น หรือไม่สุภาพ หรือสกปรกอย่างร้ายแรง
(5) มีกิริยาวาจาไม่สุภาพ
(6) เป็นโรคติดต่อร้ายแรง
(7) ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานเรือนจำซึ่งปฏิบัติการโดยชอบด้วยหน้าที่

บุคคลภายนอกที่ได้รับอนุญาตให้เยี่ยมหรือติดต่อกับผู้ต้องขังจะต้องปฏิบัติตน ดังนี้

(1) อยู่ในเขตที่เรือนจำกำหนดให้เป็นที่เยี่ยมหรือติดต่อกับผู้ต้องขัง
(2) ไม่กระทำด้วยประการใด ๆ ให้สิ่งของเข้ามาหรือให้ออกไปจากเรือนจำ หรือรับจากหรือส่งมอบแก่ผู้ต้องขัง โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเรือนจำกรณีที่ประสงค์จะมอบเงินตราให้กับผู้ต้องขัง ให้นำฝากไว้กับเจ้าพนักงานเรือนจำที่ทางเรือนจำจัดไว้ให้เพื่อการนั้น หรือวิธีการอื่น ที่กรมราชทัณฑ์กำหนด
(3) ไม่แนะนำชักชวนแสดงกิริยาหรือให้อาณัติสัญญาณอย่างใด ๆ แก่ผู้ต้องขังเพื่อกระทำผิด กฎหมายหรือวินัยผู้ต้องขัง และไม่เป็นสื่อกลางในการติดต่อกับผู้ต้องขังเกี่ยวกับสิ่งของต้องห้าม ตามกฎหมายว่าด้วยการราชทัณฑ์
(4) พูดภาษาไทยและออกเสียงให้ดังพอที่เจ้าพนักงานเรือนจำผู้ควบคุมอยู่ ณ ที่นั้นได้ยิน จะพูดภาษาอื่นได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเรือนจำ
(5) ยินยอมให้เจ้าพนักงานเรือนจำฟังการสนทนา บันทึกภาพหรือเสียงและตัดการสื่อสาร หากเห็นว่าข้อความที่สนทนาเป็นไปโดยไม่เหมาะสมในกรณีที่เรือนจำจัดให้เยี่ยมหรือติดต่อกับผู้ต้องขัง โดยการพูดคุยผ่านเครื่องมือสื่อสาร

(6) ไม่ถ่ายภาพหรือเขียนภาพเกี่ยวกับผู้ต้องขังหรือเรือนจำหรือเขียนแบบแปลนหรือแผนที่เรือนจำเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากกรมราชทัณฑ์และแจ้งให้ผู้บัญชาการเรือนจำทราบก่อนแล้ว
(7) ไม่ใช้โทรศัพท์ หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นใด ในขณะเยี่ยมหรือติดต่อกับผู้ต้องขัง
(8) ปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับเรือนจำ และคำสั่งของเจ้าพนักงานเรือนจำซึ่งปฏิบัติการ โดยชอบด้วยหน้าที่