ผงะ!!! เปิด9ปมทุจริตการบินไทย ทำเจ๊งแสนล้าน พบเอื้อพวกพ้อง จ่ายสินบน?!? ถาวรยื่นปปช.เชือดทีมโกง ยันฟ้องได้ความผิดสำเร็จแล้ว

3234

เปิด 9 สาเหตุการบินไทยขาดทุน 3 ปี 2.5 หมื่นล้าน สอบพบปัญหาการทุจริตในองค์กรอย่างต่อเนื่อง-การบริหารงานผิดพลาด ทำบริษัทเจ๊งกว่า 1 แสนล้าน การจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส A-340 จำนวน 10 ลำ เสียหายกว่า 6 หมื่นล้าน พบจ่ายสินบนให้นักการเมือง 2,652 ล้าน สายงานพาณิชย์ตั้งกองทุนผิดกฎหมาย ผู้บริหารโยกเงินบริษัทฯเข้ากระเป๋าตัวเอง จน ‘ร่ำรวยผิดปกติ’ พนักงานเบิก ‘โอที’ เกินจริงและอื่นๆอีกมากมาย “ถาวร”ยันอัยการฟ้องได้เพราะความผิดเกิดช่วงเป็นรัฐวิสาหกิจ ยื่นคลัง-ปชช.ฟันไม่เว้น ทำหนาวกันเป็นแถบ จันทร์ที่ 31 ส.ค.นี้ถึงศาล

การขาดทุนสะสมต่อเนื่องของบริษัทการบินไทย จำกัด นำมาสู่การยื่นศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ ในขณะที่กระทรวงคมนาคมได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบสาเหตุปัญหาการขาดทุนของการบินไทย

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงการบริหารการบินไทย โดยระบุว่า ภายหลังได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลการบินไทย ได้ตรวจสอบเต็มที่เพื่อคลายข้อสงสัยของสังคมถึงการขาดทุนของการบินไทยที่เรื้อรังตั้งแต่ปี 2551 โดยตั้งคณะทำงานตรวจสอบและตรวจสอบบัญชีย้อนหลัง 3 ปี (2560–2562)

ทั้งนี้ หลังได้รับข้อมูล หลักฐานและผู้มาให้ข้อมูลทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผยไม่น้อยกว่า 100 คน พบว่าสาเหตุสำคัญของการขาดทุนสะสมหลักมาจากการซื้อเครื่องบิน A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ เพราะเมื่อนำมาทำการบินก็เกิดปัญหาขาดทุนทุกเส้นตั้งแต่เที่ยวบินปฐมฤกษ์ กรุงเทพฯ-นิวยอร์ก ในเดือน ก.ค.2548 จนปลดระวางลำสุดท้ายในปี 2556 และเป็นภาระในการดูแลถึงปัจจุบัน

“จุดเริ่มต้นการขาดทุนย้อนไปปี 2551 หลังจากเที่ยวบิน A340 ทำการบิน 3 ปี ซึ่งการบินไทยขาดทุนครั้งแรกในประวัติศาสตร์การตั้งบริษัทมา 60 ปี เป็นมูลค่า 21,450 ล้านบาท ต้องแก้ปัญหาด้วยการออกหุ้นกู้ครั้งแรก ซึ่งคณะทำงานฯ พบว่าปัญหาการขาดทุนของการบินไทยไม่ต่ำกว่า 62,803 ล้านบาท มาจากการจัดซื้อเครื่องบินรุ่น A340 จำนวน 10 ลำ”

นายถาวร กล่าวว่า ข้อมูลที่ตรวจสอบทั้งหมดจะถูกเสนอให้กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของการบินไทย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภายในวันที่ 31 ส.ค.นี้ เพื่อสอบสวนเอาผิดผู้ทุจริตตามอำนาจที่มี และจะเสนอนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจดำเนินการอย่างเด็ดขาด

ทั้งนี้ ยืนยันว่าเอกสารที่ตรวจสอบทั้งหมดเป็นของแท้แน่จริง ได้ข้อมูลมาจากคนในการบินไทยที่เชื่อถือได้ มั่นใจว่าข้อมูลเหล่านี้จะเอาผิดได้ ดังนั้นหวังว่าเมื่อส่งมอบข้อมูลให้ผู้มีอำนาจ เช่น ป.ป.ช.จะเป็นการวัดใจว่าจะจริงจังจริงใจที่จะทำต่อหรือไม่ รวมทั้งขอฝากถึงผู้ทำแผนและบริหารแผนฟื้นฟูการบินไทย ซึ่งคาดหวังว่าการบินไทยจะเดินไปข้างหน้า แต่ต้องกวาดบ้านให้ได้เพราะเจ้าหนี้เชื่อใจแผนฟื้นฟูแล้ว

“อัยการสอบเอาผิดได้เพราะสอบย้อนหลังขณะเป็นรัฐวิสาหกิจ ส่วนผู้ทำผิดที่มีส่วนทำให้บริษัทขาดทุนมีทั้งผู้บริหารที่พ้นสภาพแล้ว และมีบางส่วนอยู่ในตำแหน่งปัจจุบัน”

พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะหัวหน้าคณะทำงาน เผยว่า การตรวจสอบครั้งนี้มีเวลาเพียง 43 วัน โดยแต่งตั้งคณะทำงานชุดย่อย 6 คณะ ประชุมแล้ว 3 ครั้ง มีผู้มาให้ข้อมูลทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผยไม่น้อยกว่า 100 คน และตรวจสอบรายงานการประชุมคณะกรรมการชุดต่างๆ ของการบินไทยย้อนหลัง 3 ปี (2560-2562)

ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ได้ตรวจสอบช่วงปี 2560-2562 ซึ่งการบินไทยขาดทุนรวม 2.56 หมื่นล้านบาท พบว่าสาเหตุที่ทำให้การบินไทยขาดทุนมี 9 สาเหตุ ได้แก่

1.การจัดหาเครื่องบินรุ่น B787-800 จำนวน 6 ลำ (มีมูลค่ารวม 28,266.9 ล้านบาท) และ B787-900 จำนวน 2 ลำ แบบเช่าดำเนินงาน โดยพบว่า เครื่องบินรุ่น B787-800 แต่ละลำที่เช่าดำเนินงาน มีราคาไม่เท่ากัน เริ่มต้นที่ 4,475.3–5,064 ล้านบาท มีส่วนต่างของราคาต่างกันอยู่ถึง 589 ล้านบาท โดยทั้ง 8 ลำ มีสัญญาซ่อมบำรุงเครื่องยนต์แบบเหมาจ่าย (TCA) เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ จำนวน 19 เครื่องยนต์ เป็นเงินกว่า 14,342 ล้านบาท และค่าเครื่องยนต์อะไหล่จำนวน 3 เครื่องยนต์ จัดหาด้วยวิธีการเช่า มีค่าใช้จ่ายอีก 1,920.51 ล้านบาท

ต่อมาเมื่อเครื่องบินรุ่นดังกล่าวใช้งานไปได้ประมาณ 5 ปี ผู้ให้เช่าแจ้งเปลี่ยนเครื่องยนต์ ทำให้บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก 386.67 ล้านบาท ประกอบกับในเครื่องบินรุ่น B787-800 ทั้ง 6 ลำ ไม่มีการวางแผนติดตั้งที่นอนของลูกเรือและนักบิน (Crew Rest) ทำให้บริษัทฯ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก 1,652 ล้านบาท เมื่อนำค่าใช้จ่ายเครื่องบินทั้ง 8 ลำ มาคิดค่าเฉลี่ยที่บริษัทต้องจ่ายเป็นรายวัน เท่ากับบริษัทต้องจ่ายวันละประมาณ 13 ล้านบาท

ปัจจุบันบริษัทฯ ได้รับความเสียหายจากเครื่องบินรุ่น B787 วงเงินไม่ต่ำกว่า 1,300 ล้านบาท ในสัญญา TCA ของเครื่องยนต์ RR ที่ชำรุด บกพร่อง และไม่มีเครื่องยนต์เปลี่ยน ทำให้เครื่องบินจอดซ่อมเป็นเวลานาน

จากกรณีดังกล่าว เป็นตัวอย่างการจัดหาเครื่องบินเพียงแค่รุ่นเดียว และมีจำนวนเครื่องบินเพียง 8 ลำ มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และไม่มีการวางแผนการบินที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้ง การทำสัญญาแบบเช่าดำเนินงาน ก็มีความหละหลวมทำให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหายรวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 3,927.67 ล้านบาท และไม่มีการรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือผลการสอบสวนหาผู้กระทำผิดให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด

  1. การทำสัญญาซ่อมบำรุงเครื่องยนต์แบบเหมาจ่ายในช่วงปี 2560–2562 คณะทำงานฯ พบความเสียหายทั้งสัญญาที่ทำไปแล้ว การส่งซ่อม และการต่อสัญญาซ่อมบำรุงแบบเหมาจ่าย ทำให้บริษัทเสียหายไม่ต่ำกว่า 12,792 ล้านบาท เช่น การทำสัญญาการบินแบบ Stage Length ไม่เป็นไปตามชั่วโมงบิน (สัญญาเฉลี่ย 8 ชั่วโมง บินได้จริง 5.5 ชั่วโมง) การไม่ต่อสัญญาซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ Trent800 ความเสียหายจากการส่งซ่อมเครื่องยนต์ GE90 ที่ประเทศจีน และกรณีเครื่องยนต์ Trent900 และ Trent1000 เกิดชำรุดบกพร่อง ซึ่งอยู่ระหว่างการเรียกร้องความเสียหายกับบริษัท โรลส์-รอยซ์

3.ช่วงปี 2561-2562 บริษัทยังมีแผนการจัดหาเครื่องบินปี 2562-2569 อีกถึง 38 ลำ วงเงิน 156,169 ล้านบาท แต่บริษัทได้ทบทวนใหม่จากการทักท้วงของนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีฯซึ่งกำกับดูแล ทำให้ต้องทบทวนโครงการใหม่ ประกอบกับการขาดทุนสะสมต่อเนื่องกว่า 28,000 ล้านบาท ทำให้บริษัทประสบปัญหาสถานะทางการเงินอย่างรุนแรง แต่บริษัทยังคงไม่ดำเนินการแก้ไข

ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าว การบินไทยได้จัดหาเครื่องบินใหม่แบบเช่าดำเนินงานจำนวน 3 ลำ ส่งมอบปี 2563 วงเงินกว่า 16,604 ล้านบาท ซึ่งหากพิจารณาจากสถานะทางการเงินของบริษัท ปี 2561 บริษัทมีหนี้เพิ่มจากสัญญาเช่าเครื่องบิน A350-900 จำนวน 2 ลำอยู่ถึง 23,302 ล้านบาท ปี 2562 มีภาระผูกพันจากสัญญาเช่าดำเนินงานเครื่องบิน 42 ลำสูง ถึง 108,818.64 ล้านบาท มีหนี้หุ้นกู้ถึง 65,023 ล้านบาท มีดอกเบี้ยจ่ายเฉลี่ยอยู่แล้วปีละ 4,555 ล้านบาท และหากจัดหาเครื่องบินด้วยวิธีการเช่าดำเนินงานจะมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าวิธีเช่าซื้อถึง 5% นั่นหมายถึงหากกู้เงิน 100,000 ล้านบาท บริษัทจะมีภาระดอกเบี้ยสูงถึงปีละ 5,000 ล้านบาท

4.การจ่ายค่าชดเชยการคืนสภาพเครื่องบินแบบเช่าดำเนินงานรุ่น A330-300 จำนวน 2 ลำ มีค่าใช้จ่ายถึง 1,458.96 ล้านบาท ซึ่งหากพิจารณาจากข้อมูลปี 2562 บริษัทฯ มีภาระผูกพันตามสัญญาเช่าดำเนินงานเครื่องบิน 42 ลำ ช่วงปี 2563-2573 จำนวนเงินกว่า 108,818.64 ล้านบาท จะมีค่าใช้จ่ายในการชดเชยการคืนสภาพเครื่องบินช่วง 10 ปีสูงถึงประมาณ 30,638.16 ล้านบาท

5.ผลประกอบการของบริษัทช่วงปี 2560-2562 ขาดทุนรวมไม่ต่ำกว่า 25,659 ล้านบาท ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีจำนวนพนักงานลดลง ทั้งฝ่ายช่าง พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน แต่บริษัทมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในเกือบทุกด้าน เช่น หนี้หุ้นกู้เพิ่มขึ้น 13,173 ล้านบาท ค่าล่วงเวลานักบินและลูกเรือเพิ่มขึ้น 638 ล้านบาท ค่าล่วงเวลาฝ่ายช่างเพิ่มขึ้น 530.66 ล้านบาท แต่มีรายได้จากตั๋วโดยสารเฉลี่ยเพียง 6,361 บาท/ใบ

ค่าตอบแทนเฉลี่ยพนักงานที่เป็นตัวเงินต่อคนต่อเดือน 129,134 บาท ทรัพย์สิน ประเภทที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ลดลง 20,985 ล้านบาท มีภาระจ่ายดอกเบี้ยเฉลี่ยปีละ 4,555 ล้านบาท มีการขายหุ้น บมจ.โรงแรมรอยัลออคิด (ประเทศไทย) สำนักงานในต่างประเทศ เช่น ซิดนีย์ มาดริด โคเปนเฮเก้นได้เงินรวม 1,434 ล้านบาท โดยอ้างว่าเพื่อลดการขาดทุนของบริษัทและเส้นทางบินที่ขาดทุน โดยขายสำนักงานในต่างประเทศไปแล้วก็จัดหาพื้นที่เช่าใหม่ทดแทน โดยในปี 2562 ประสบปัญหาขาดทุนสุทธิมากที่สุดถึง 12,017 ล้านบาท แต่มีรายได้จากตั๋วโดยสารเฉลี่ยเพียง 6,081 บาท/ใบ ค่าใช้จ่ายแรงงานภายนอก 2,125 ล้านบาท มีค่าล่วงเวลาฝ่ายช่างสูงถึง 2,022.56 ล้านบาท

อีกทั้งมีข้อมูลพบว่าค่าล่วงเวลา OT ฝ่ายช่างที่สูงมาก เนื่องจากมีการส่อทุจริต ทำ OT เกินกว่าจำนวนวันที่มีอยู่จริง โดยมีผู้ทำ OT สูงสุดได้ถึง 3,354 ชั่วโมง เป็นเงินค่า OT ถึงปีละ 2,958,035 บาทหรือเดือนละ 246,503 บาท/เดือน ซึ่งพนักงานคนดังกล่าวมีรายได้ต่อปีเพียง 878,436 บาทหรือเดือนละ 73,203 บาท แต่ได้รับ OT มากกว่าเงินเดือนถึง 3 เท่ากว่า (หากนำชั่วโมง OT ซึ่งกำหนดไว้วันละไม่เกิน 8 ชั่วโมง หารด้วย 3,354 ชั่วโมงจะได้วันทำ OT ถึง 419 วัน ใน 1 ปี แต่ว่า 1 ปีมีเพียง 365 วัน) โดยเกณฑ์มาตรฐานคนหนึ่งไม่ควรทำ OT เกิน 1,500 ชั่วโมง ในปี 2562 ฝ่ายช่างมีพนักงานทำ OT เกิน 1,500 ชั่วโมง ถึง 567 คน วงเงินค่าใช้จ่ายมากถึง 603.123 ล้านบาท

6.ช่วง 3 ปีคือ 2560 ถึง 2562 สายการพาณิชย์ไม่มีการจัดทำงบประมาณประมาณการแต่ใช้วิธีการกำหนดเปลี่ยนแปลงงบประมาณเองโดยผ่านคณะกรรมการบริหารนโยบายของบริษัทเท่านั้น และมีการขายตั๋วโดยสารในราคาที่ต่ำมาก โดยในปี 2562 มีราคาเฉลี่ยใบละ 6,081 บาทเท่านั้น แต่บริษัทฯ มี Cabin Factor เกือบ 80% และมีผู้โดยสารถึง 24.51 ล้านคน มีรายได้ค่าตั๋วโดยสารฯ 149,000 ล้านบาท ในปีดังกล่าว

สาเหตุสำคัญที่ได้จากผลการสอบสวน มีการเอื้อประโยชน์ให้กับตัวแทนจำหน่ายตั๋วโดยสาร (Agent) ทั้งในรูปของค่าคอมมิชชั่น ค่า Tier และค่า Incentive และมีการกำหนดราคา Flash Sale (ราคาต่ำสุด) ทำให้ Agent เพียง 3-4 รายได้รับประโยชน์ กอปรกับผู้บริหารในสายงานพาณิชย์ได้แต่งตั้ง โยกย้ายบุคคลใกล้ชิดให้ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายทั่วไป (AA) ในต่างประเทศ และกำหนดเป้าหมายรายได้จากการขายเพื่อให้ได้ค่า Incentive ตามที่ต้องการ เพื่อให้ AA จัดส่งรายได้ จำนวน 10% ของค่า Incentive เข้าบัญชีกองทุนของผู้บริหารสายงานพาณิชย์และนำเงินในกองทุนดังกล่าวไปจัดสรรและแบ่งปันกันเอง ซึ่งกองทุนดังกล่าวไม่มีระเบียบ ประกาศ หรือกฎหมายของบริษัทฯ รองรับ

7.การบริหารงานบุคคลที่ล้มเหลว ไม่มีประสิทธิภาพ ส่อเอื้อให้กับตนเองและพวกพ้อง ซึ่งเป็นเหตุสำคัญทำให้บริษัทฯ ประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา-การตรวจพบร่ำรวยผิดปกติว่าผู้รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ได้รับเงินค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษเดือนละ 2 แสนบาท ผ่านไป 9 เดือน เพิ่มเป็น 6 แสนบาท โดยอ้างแนวปฏิบัติที่เคยทำมาพร้อมรถประจำตำแหน่ง คนขับรถ และค่าน้ำมันตามที่จ่ายจริง

และเมื่อเกษียณอายุราชการ ยังได้รับการแต่งตั้งให้รับตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโส ระดับ 13 และได้รับสิทธิประโยชน์คงเดิมต่ออีก 6 เดือน ซึ่งการรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ขัดกับมติคณะรัฐมนตรีและหนังสือจากกระทรวงการคลัง ห้ามพนักงานที่รักษาการให้ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษจาก ที่ตนเคยได้รับและในช่วงรักษาการฯ ของบุคคลดังกล่าว บริษัทฯ ประสบปัญหาขาดทุนไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท

กอปรกับมีการสรรหารองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่แบบสัญญาจ้างมีกำหนดเวลา 4 ปี จำนวน 2 ราย ที่มาจากพนักงานบริษัทฯ ซึ่งเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง บุคคลใกล้ชิด และยังกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข การสรรหาเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ได้รับการสรรหา เช่น ผู้สมัครสามารถขอเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดได้ (Early Retirement) และไม่ต้องพ้นสภาพการเป็นพนักงาน

ซึ่งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ พบว่าทั้ง 2 ราย ก่อนได้รับการสรรหาก็รักษาการฯ ในตำแหน่งที่รับการสรรหาอยู่ด้วยแล้ว อีกทั้ง 1 ใน 2 ราย ได้ขอเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด ทำให้ได้รับค่าชดเชย (Early Retirement) เพิ่มอีกจำนวน 30 เดือนและได้เข้ารับตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ในวันถัดมาจากเงินเดือนไม่ถึง 250,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 600,000 บาท/เดือน และได้รับค่าน้ำมัน ค่าพนักงานขับรถ อีก 75,000 บาท/เดือน และสิทธิประโยชน์เทียบเท่าในระดับเดียวกัน เมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้าง ครบ 4 ปี ทั้ง 2 ราย จะได้รับเงินค่าตอบแทนรายเดือนอีกเป็นจำนวน 6 เดือนในวันสิ้นสุดสัญญา (จะได้รับไม่ต่ำกว่า 6X600,000=2.4 ล้านบาท) และนับตั้งแต่บุคคลทั้ง 2 ราย เข้าดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทฯดำเนินธุรกิจยังประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยมีตัวเลขการขาดทุนไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท

8 การบินไทยส่อเอื้อประโยชน์ในการขยายอายุสัญญาให้สิทธิเอกชนดำเนินการขายสินค้า ปลอดภาษีบนเครื่องบินให้กับผู้รับสิทธิรายเดิมอีก 9 เดือน แทนการเลือกแข่งขันประมูลแบบสัมปทาน 3 ปี อ้างมีระยะเวลากระชั้นชิด ทำให้การบินไทยเสียหายเป็นเงินกว่า 655 ล้านบาท

9 การบริหารจัดการสายการบินไทยสมายล์ บริษัทถือหุ้น 100% นับตั้งแต่เริ่มทำการบินตั้งแต่ เม.ย. 2557 ก็ขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง ปี 2562 มียอดขาดทุนสะสมไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท และการบินไทย ก็จัดส่งผู้บริหารของบริษัทเข้าไปบริหารงานในตำแหน่งสำคัญๆมาโดยตลอด ช่วงปี 2559 ถึงปัจจุบัน บริษัทเริ่ม มีนโยบายซื้อตั๋วโดยสารสารการบินไทยสมายล์ แบบ Block Seat ในสัดส่วน 90:10 ในปี 2562 ได้ดำเนินการเต็มรูปแบบในทุกสาย ทุกเที่ยวบิน ทำให้สายการบินไทยสมายล์มีภาวะขาดทุนลดลงมาอย่างมาก แต่มาปรากฏการขาดทุนอยู่ในงบดุล รายการค่าเช่าเครื่องและอะไหล่ของบริษัทแทน ซึ่งมีตัวเลขถึง 5,357.45 ล้านบาท