“ปิยบุตร” บิดเบือน “พระราชดำรัส ร.9” ในต่างแดน หวังโจมตีสถาบัน ตามแนวคิด “สมศักดิ์ เจียม”

2984

จากกรณีเมื่อวันที่ 26 เม.ย.63 นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า 14 ปี 25 เมษายน 2549 “ตุลาการภิวัตน์” จาก “ตุลาการภิวัตน์” ผ่าน “ศาลรัฐประหาร” สู่ “นิติสงคราม” ขบวนการทั้งหมดนี้ ไม่สามารถแก้ไขวิกฤตการเมืองไทยได้ดังที่ต้องการแต่แรก

 


ตรงกันข้ามกลับตอกลิ่มความขัดแย้งให้ร้าวลึกลงไปมากขึ้น และกว้างขวางขึ้น ร้าวลึกขึ้น เพราะคนไม่เชื่ออีกแล้วว่ากระบวนการยุติธรรมจะยุติธรรมกว้างขวางขึ้น เพราะคนจำนวนมาก หลากหลายวัย จากรุ่นสู่รุ่น ได้ประสบพบเจอกับตนเอง คนจำนวนมากตั้งคำถามกับองค์กรตุลาการและองค์กรอิสระ และสรุปให้เป็นส่วนหนึ่งของวิกฤต ไม่ใช่พระผู้มาโปรดแก้วิกฤต

ทั้งนี้นายปิยบุตร ยังระบุว่าเมื่อ 14 ปีที่แล้วตุลาการภิวัตน์เป็นผลมาจากพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 อีกด้วย

หากย้อนไปถึงที่มาของโพสต์ดังกล่าวนี้ ได้เริ่มต้นในงาน เสวนาที่ SOAS ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในหัวข้อประเทศไทยใน ‘วิกฤตรัฐพันลึก’เมื่อปี 2559 โดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล จากกลุ่มนิติราษฎร์ ขณะนั้น ได้นำเสนอประเด็น กระบวนการของตุลาการภิวัฒน์และผลกระทบ โดยกล่าวว่าธีรยุทธ์ บุญมี เป็นผู้นำคำนี้มาใช้เป็นคนแรกและได้รับการนำไปพูดถึงต่ออย่างวงกว้างในสังคม ซึ่งจุดเริ่มของกระบวนการนี้ มีที่มาหลังจากพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 ในวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2549

กลับกลายเป็นกรณีที่ศาลเข้าแทรกแซงทางการเมืองโดยไม่ได้ยึดโยงหรือรับผิดชอบต่อประชาชนผ่านองค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง ปิยบุตรเสนอว่า อันที่จริงคำว่าตุลาการภิวัฒน์ ควรเป็นคำที่มีความหมายที่ดี แต่ในบริบทของสังคมไทยกลายเป็นคำที่มีความหมายในทางลบ ซึ่งต่างจาก ‘Judicialization of Politics’ ที่มีความหมายในทางบวก โดยปิยะบุตรให้คำจำกัดความคำว่า ‘ตุลาการภิวัฒน์’ ว่าหมายถึง กระบวนการตุลาการที่เล่นบทบาททางการเมือง โดยหยิบยกคดีที่มีเป้าหมายไปที่กลุ่มการเมืองซึ่งเห็นว่าเป็นภัยต่อกลุ่มชนชั้นนำเก่าในสังคม กล่าวโดยสั้น ตุลาการภิวัฒน์คือเครื่องมือต่อสู้กับนักการเมือง

กระบวนการของตุลาการภิวัฒน์ ทำในสองลักษณะคือ

1. การตีความตัวบทกฎหมายที่มีลักษณะกว้างในรัฐธรรมนูญ เช่น นิติธรรม จริยธรรม และ คุณธรรม ในทางมิชอบ เช่น การตีความมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 เพื่อไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง ๆ ที่ศาลไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในส่วนนี้

2. การใช้ข้อถกเถียงประเด็นเชิงจริยธรรมทางการเมืองในคำพิพากษา เช่น คำพิพากษาปี 2550 ซึ่งมีผลให้ยุบพรรคไทยรักไทย และคำวินิจฉัยในปี 2556 ที่ไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราเกี่ยวกับการเลือกตั้งวุฒิสภา กระบวนการเหล่านี้ไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเองเพียงองค์กรเดียว แต่มีเงื่อนไขอื่นๆ มาช่วยสนับสนุน

ทั้งนี้พระราชดำรัส 25 เมษายน 2549 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของตุลาการ สังคมไทยเห็นว่าศาลจะเป็นองค์กรที่มีความอิสระสูงและไม่เลือกข้างมากที่สุด และจะเป็นองค์กรสุดท้ายที่ช่วยแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งปิยะบุตรมองว่าศาลมีความเป็นอิสระสูงจากกระบวนการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้มีอิสระจากกลุ่มชนชั้นนำเก่า

นอกจากนั้นยังต้องมีตัวละคร เช่น นักการเมืองฝ่ายค้าน องค์กรอิสระ หรือ สมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นผู้ชงเรื่องไปสู่ศาล ทั้งนี้การสร้างความชอบธรรมในการตีความทางกฎหมายย้อนหลังของศาลในตัวรัฐธรรมนูญเองก็เป็นอีกเงื่อนไขให้เกิดตุลาการภิวัฒน์ เช่น คำพิพากษาศาลในกรณีการยุบพรรคไทยรักไทยถูกนำมาเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 หลังจากที่มีการยุบพรรคไปแล้ว

เมื่อมีการใช้กระบวนการตุลาการภิวัฒน์ ทำให้สังคมไทยมองว่า ในความขัดแย้งทางการเมืองใด ๆ จะต้องถูกแก้ไขด้วยระบบศาลเท่านั้น ซึ่งขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจในการปกครอง ที่มองว่าประเด็นบางอย่างไม่สามารถที่จะแก้ไขโดยศาลหรือระบบตุลาการได้ แต่ต้องใช้กระบวนการทางประชาธิปไตย

ทั้งนี้ตุลาการภิวัฒน์ ยังดำเนินการหลายอย่างที่ขัดกับหลักการเสรีนิยมประชาธิปไตย ด้วยการเข้าไปแทรกแซงกระบวนการทางการเมืองที่เห็นว่าเป็นภัยคุกคามต่อรัฐชนชั้นนำ เช่น การยุบพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง การแทรกแซงไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือ การแทรกแซงกระบวนการทางเมืองในระบบเลือกตั้งอื่น ๆ ที่นำไปสู่การเข้ามาของอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

คำถามต่อการดำรงอยู่ของอำนาจชนชั้นนำเก่าในสภาพสังคมสมัยใหม่ที่เป็นเสรีประชาธิปไตย ปิยะบุตร อภิปรายว่า วาทกรรมเรื่องนิติรัฐในสังคมที่เป็นที่พูดถึงอย่างมากนั้น แท้ที่จริง หมายถึง การเติบโตของระบบตุลาการ การเติบโตของสถาบันกษัตริย์ และการเติบโตของระบบตุลาการนิยมเจ้า โดยนักวิชาการด้านกฎหมายตั้งแต่ยุคการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองได้นำเอาสถาบันกษัตริย์มาเป็นแกนหลักในการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ

เพื่อสร้างความชอบธรรมในการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ในระบบสังคมเสรีประชาธิปไตย และมิได้ให้ความสำคัญกับการปฎิวัติ 2475 หรือ รัฐธรรมนูญฉบับ 27 มิถุนายน 2475 ภายหลังจากการสิ้นสุดชองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทั้งยังสร้างวาทกรรมใหม่ที่เชื่อมโยงความสำคัญของสถานบันกษัตริย์ต่อการสร้างชาติ รัฐธรรมนูญ และ ประชาธิปไตย

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นนักวิชาการด้านกฎหมายที่ส่งเสริมการสร้างวาทกรรมดังกล่าวอย่างมาก เขากล่าวว่า “เราศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญตามอย่างหลักการของฝรั่ง ซึ่งมีสถาบันกษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ อันหมายถึงกษัตริย์ไม่สามารถกระความผิดใด ๆได้ ยกเว้นว่าจะมีการนำความขึ้นทูลเกล้าถวายจากรัฐบาลเพื่อลงพระปรมาภิไธย ในประเทศอังกฤษสถาบันกษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ แต่สำหรับประเทศไทย สถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์กลางของชาติ และมีบทบาทสำคัญทางสังคม นั่นหมายถึงบทบาทในการแก้ไขความแย้งด้วยเช่นกัน ดังนั้น อำนาจของสถาบันกษัตริย์ที่ระบุไว้ในรัฐธรรนูญจึงแตกต่างจากในระบบของอังกฤษ”


ทั้งนี้ “สัญญา ธรรมศักดิ์ ” ยังได้เคยกล่าวไว้ในระหว่างการฝึกสอนผู้พิพากษาว่า “ในบรรดาหน่วยงานข้าราชการ ศาลเป็นหน่วยงานเดียวที่ถือได้ว่าทำหน้าที่ในนามของกษัตริย์ ถ้าในหลวงสั่งให้เราทำอะไร เรายินดีที่จะทำ แม้นว่าการกระทำนั้นจะทำให้เราต้องตาย”

ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบจากคลิปในช่องยูทูปของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล จะพบว่า เจ้าตัวได้ลงคลิปพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เอาไว้ ตั้งแต่ปี 2554 ก่อนหน้าที่นายปิยบุตรจะนำประเด็นนี้ไปพูดในงานเสวนาลอนดอน ในปี 2559

โดยพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้พระราชทานแก่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เมื่อครั้งเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันอังคารที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2549 นั้น มีคำกล่าวดังนี้


ที่ได้ปฏิญาณนั้น มีความสำคัญมาก เพราะว่ากว้างขวาง หน้าที่ของผู้พิพากษา หน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปกครอง มีหน้าที่กว้างขวางมาก ซึ่งเกรงว่าท่านอาจจะนึกว่าหน้าที่ของผู้ที่เป็นศาลปกครองมีขอบข่ายที่ไม่กว้างขวาง ที่จริงกว้างขวางมาก ในเวลานี้อาจจะไม่ควรพูด แต่อย่างเมื่อเช้านี้เองได้ยินเขาพูดเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง และโดยเฉพาะเรื่องเลือกตั้งของผู้ที่ได้คะแนน ได้แต้มไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์

แล้วก็เขาเลือกตั้งอยู่คนเดียว ซึ่งมีความสำคัญ เพราะว่าถ้าไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็เขาคนเดียว ในที่สุดการเลือกตั้งไม่ครบสมบูรณ์ ไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องกับท่านหรือเปล่า แต่ความจริงน่าจะเกี่ยวข้องเหมือนกัน เพราะว่าถ้าไม่มีจำนวนผู้ที่ได้รับเลือกตั้งพอ ก็กลายเป็นว่า การปกครองแบบประชาธิปไตยดำเนินการไม่ได้

แล้วถ้าดำเนินการไม่ได้ ที่ท่านได้ปฏิญาณเมื่อตะกี้นี้ก็เป็นหมัน ถึงบอกว่าจะต้องทำทุกอย่างเพื่อให้การปกครองแบบประชาธิปไตยต้องดำเนินการไปได้ ท่านก็เลยทำงานไม่ได้ และถ้าท่านทำงานไม่ได้ ก็มีทางหนึ่ง ท่านอาจจะต้องลาออก เพราะไม่ได้มีการแก้ไขปัญหา ไม่ได้แก้ปัญหาที่มีอยู่ ต้องหาทางแก้ไขได้ เขาอาจจะบอกว่าต้องไปถามศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็บอกไม่ใช่เรื่องของตัว ศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นการร่างรัฐธรรมนูญ ร่างเสร็จแล้วก็ไม่เกี่ยวข้อง

เลยขอร้องว่า ท่านอย่าไปทอดทิ้งความปกครองแบบประชาธิปไตย การปกครองแบบที่ จะทำให้บ้านเมืองดำเนินการผ่านออกไปได้ แล้วก็อีกข้อหนึ่ง การที่จะบอกว่ามีการยุบสภา และต้องเลือกตั้งภายใน 30 วัน ถูกต้องหรือไม่ ไม่พูดเลย ไม่พูดกันเลย ถ้าไม่ถูกก็จะต้องแก้ไข แต่ก็อาจจะให้การเลือกตั้งนี้เป็นโมฆะหรือเป็นอะไร ซึ่งท่านจะมีสิทธิที่จะบอกว่า อะไรที่ควร ที่ไม่ควร

ไม่ได้บอกว่ารัฐบาลไม่ดี แต่ว่าเท่าที่ฟังดูมันเป็นไปไม่ได้ คือการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย เลือกตั้งพรรคเดียว คนเดียว ไม่ใช่ทั่วไป แต่ในแห่งหนึ่งมีคนที่สมัครเลือกตั้งคนเดียว มันเป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องของประชาธิปไตย เมื่อไม่เป็นประชาธิปไตย ท่านก็พูดกันเองว่า ท่านต้องดูเกี่ยวข้องกับเรื่องของการปกครองให้ดี ตรงนี้ขอฝาก

อย่างดีที่สุด ถ้าเกิดท่านจะทำได้ ท่านลาออก ท่านเอง ไม่ใช่รัฐบาลลาออก ท่านเองต้องลาออก ถ้าทำไม่ได้ รับหน้าที่ไม่ได้ ตะกี้ที่ปฏิญาณไป ดูดีๆ จะเป็นการไม่ได้ทำตามที่ปฏิญาณ ฉะนั้น ก็ตั้งแต่ฟังวิทยุเมื่อเช้านี้ กรณีเกิดที่นบพิตำ กรณีที่อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช อันนั้นไม่ใช่แห่งเดียว ที่อื่นมีอีกหลายแห่ง ที่จะทำให้บ้านเมืองล่มจม บ้านเมืองไม่สามารถที่จะรอดพ้นจากสถานการณ์ที่ไม่ถูกต้อง

ฉะนั้น ก็ขอให้ท่านไปศึกษาว่าเกี่ยวข้องอย่างไร ท่านเกี่ยวข้องหรือไม่ แต่ถ้าท่านไม่เกี่ยวข้อง ท่านก็ลาออกดีกว่า ท่านผู้ที่เป็นผู้ที่ได้รับหน้าที่ ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ เป็นผู้ที่ต้องทำให้บ้านเมืองดำเนินได้ หรือมิฉะนั้นก็ต้องไปปรึกษากับท่านผู้พิพากษาที่จะเข้ามาต่อมา ท่านผู้พิพากษาศาลฎีกา ท่านผู้นี้ก็คงเกี่ยวข้องเหมือนกัน ก็ปรึกษากันสี่คน

ท่านปรึกษากับผู้พิพากษาศาลฎีกาที่จะเข้ามาใหม่ ปรึกษากับท่าน ก็เป็นจำนวนหลายคนที่มีความรู้ ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต ที่มีความและมีหน้าที่ที่จะทำให้บ้านเมืองมีขื่อมีแป ฉะนั้นก็ขอฝากคุณอักขราทร ก็ต้องไปพูดกับสมาชิกอื่นๆ ด้วย ก็จะขอบใจมาก เดี๋ยวนี้ยุ่ง เพราะถ้าไม่มีสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่ทางจะปกครองแบบประชาธิปไตย ของเรามีศาลหลายชนิดมากมาย แล้วมีสภาหลายแบบ และก็ทุกแบบนี่จะต้องเข้ากัน ปรองดองกัน และคิดทางที่จะแก้ไขได้

นี่พูดเรื่องนี้ค่อนข้างจะประหลาดหน่อย ที่ขอร้องอย่างนี้ แล้วก็ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวเขาก็บอกว่าต้องทำมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งขอยืนยันว่า มาตรา 7 นั้นไม่ได้หมายถึงให้มอบให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะทำอะไรตามชอบใจ ไม่ใช่, มาตรา 7 นั้นพูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่าให้พระมหากษัตริย์ตัดสินใจทำได้ทุกอย่าง

ถ้าทำ, เขาจะต้องว่าพระมหากษัตริย์ทำเกินหน้าที่ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยเกิน ไม่เคยทำเกินหน้าที่ ถ้าทำเกินหน้าที่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย เขาอ้างถึงเมื่อครั้งก่อนนี้ เมื่อรัฐบาลของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ตอนนั้นไม่ได้ทำเกินอำนาจพระมหากษัตริย์ ตอนนั้นมีสภา สภามีอยู่ ประธานสภา รองประธานสภาก็มีอยู่ แล้วก็รองประธานสภาทำหน้าที่ แล้วมีนายกฯที่สนองพระบรมราชโองการได้ ตามรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น

ไม่ได้หมายความว่าที่ทำครั้งนั้นผิดรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่, ตอนนั้นเขาไม่ใช่นายกฯพระราชทาน นายกฯพระราชทานหมายความว่าตั้งนายกฯโดยไม่มีกฎเกณฑ์อะไรเลย ตอนนั้นมีกฏเกณฑ์ เมื่อครั้งอาจารย์สัญญาได้รับตั้งเป็นนายกฯ เป็นนายกฯที่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คือรองประธานสภานิติบัญญัติ นายทวี แรงขำ ดังนั้นไปทบทวนประวัติศาสตร์หน่อย ท่านก็เป็นผู้ใหญ่ ท่านก็ทราบว่ามีกฎเกณฑ์ที่รองรับ

แล้วก็งานอื่น ๆ ก็มี แม้จะเรียกว่าสภาสนามม้า ก็หัวเราะกัน สภาสนามม้า แต่ไม่ผิด ไม่ผิดกฎหมาย เพราะว่านายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนอง นายกรัฐมนตรีคือ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับสนองพระบรมราชโองการ ก็สบายใจว่าทำอะไรแบบถูกต้องตามครรลองของรัฐธรรมนูญ แต่ครั้งนี้ก็เขาจะให้ทำอะไรผิด ผิดรัฐธรรมนูญ ใครเป็นคนบอกก็ไม่ทราบนะ แต่ว่าข้าพเจ้าเองรู้สึกว่าผิด ฉะนั้น ก็ขอให้ช่วยปฏิบัติอะไร คิดอะไร ไม่ให้ผิดกฎเกณฑ์รัฐธรรมนูญ จะทำให้บ้านเมืองผ่านพ้นสิ่งเป็นอุปสรรค และมีความเจริญรุ่งเรืองได้ ขอขอบใจท่าน