ลุยข้ามช็อต!! ‘บิ๊กตู่’ ดันไทยฮับสุขภาพนานาชาติ กำชับ5 แนวทางเร่งเครื่อง ต่อยอดสร้างอาชีพปชช.

872

ในภาวะแรงกดดันภายนอกจากวิกฤตสงครามยูเครน และการระบาดโควิดยังไม่จางคลายอย่างแท้จริง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มาตรการพลิกฟื้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวรูปแบบแซนด์บอกซ์ประสบความสำเร็จอย่างดี เป็นแบบอย่างให้หลายประเทศนำไปปรับใช้ ตลอดจนเมื่อกลางเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาไทยเราได้รับการจัดอันดับโรงพยาบาลรัฐที่ดีที่สุดในโลกถึง 5 แห่ง ทำให้ทางรัฐบาลเร่งต่อยอด มุ่งเดินหน้าผลักดันศักยภาพ ตามแนวยุทธศาสตร์ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) 

The World’s Best Hospitals 2022 จากนิตยสารข่าวรายสัปดาห์“Newsweek”ของสหรัฐอเมริกา ได้จัดลำดับโดยในประเทศไทย มีโรงพยาบาลที่ได้รับการจัดอันดับทั้งสิ้น 30 แห่ง มีโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขติดอันดับ 5 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลราชวิถี อันดับที่ 11 คะแนน 75.04 เปอร์เซ็นต์ โรงพยาบาลขอนแก่น อันดับที่ 24 คะแนน 74.25 เปอร์เซ็นต์ โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก อันดับที่ 25 คะแนน 74.19 เปอร์เซ็นต์ โรงพยาบาลสงขลา อันดับที่ 28 คะแนน 74.09 เปอร์เซ็นต์ และโรงพยาบาลหาดใหญ่ จ.สงขลา อันดับที่ 29 คะแนน 74.03 เปอร์เซ็นต์

วันที่ 15 เม.ย.2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามความคืบหน้าการดำเนินนโยบายให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ Medical Hub 

นายกรัฐมนตรีเห็นศักยภาพ และขีดความสามารถของประเทศ เกี่ยวกับมาตรการด้านสาธารณสุขและการบริการของไทยที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก รัฐบาลจึงได้วางนโยบายกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ Medical Hub ภายในระยะ 10 ปี นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2559-2568 เพื่อยกระดับมาตรฐานการดูแลสุขภาพในเชิงของการท่องเที่ยว เพื่อเป็นโอกาสต่อยอดสู่การสร้างอาชีพให้ประชาชน

โดยล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพ 5 เรื่อง ได้แก่

(1.) แนวทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพอันดามัน (Andaman Wellness Corridor : AWC) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระหว่างการระบาดและหลังการระบาดของโรคโควิด 19 ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา และระนอง

(2.)  แนวทางการพัฒนาต้นแบบ Wellness Industry ด้วยนวัตกรรมสีเขียว (Green Medicine) และเศรษฐกิจสร้างสรรค์

(3.) แนวทางการพัฒนาการเป็นศูนย์กลางกัญชาโลกในรูปแบบโลกเสมือนจริง

(4.) การบริการรักษาพยาบาลเฉพาะทางขั้นสูง (World Class Super Center) ได้แก่ จัดตั้งโรงพยาบาลเฉพาะทางขั้นสูงเพื่อการรักษาโรคมะเร็ง และ

(5.) การให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนทางการแพทย์ โดยการเพิ่มกำลังการผลิตแพทย์รองรับนโยบาย Medical Hub ทั้งหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ และหลักสูตรการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

นายธนกร กล่าวว่า  นายกรัฐมนตรี เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมเพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขเพื่อต่อยอดรองรับการพัฒนาสร้างโอกาสทางการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และระบบสาธารณสุขของทุกประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีจึงใช้โอกาสนี้ กำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการ และติดตามความก้าวหน้า เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ Medical Hub ได้อย่างสมบูรณ์แบบ รองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงหลังโควิด–19 ซึ่งจะสามารถสร้างเม็ดเงิน สร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงการแพทย์ของประเทศ สร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศในภูมิภาคได้อีกด้วย