จีนรุกคืบ!!เดินสายกระชับกลุ่มบริกซ์ ต้านอำนาจสหรัฐ-ตะวันตก ยันอินเดีย-อาฟริกา-บราซิลปึ่กเคียงข้างรัสเซีย

1487

ท่ามกลางวิกฤตสงครามยูเครน จีนตั่งมั่นในจุดยืนของตน ไม่เดินตามเกมบดขยี้รัสเซียของวอชิงตันอย่างเด็ดเดี่ยว ขณะเดียวกันได้เร่งประสานพันธมิตรสำคัญ ทางด้านเศรษฐกิจที่ฝ่ายตะวันตกเคยมองข้ามและปรามาสว่าไร้พลัง อย่างเช่นกลุ่มบริกซ์ (BRICS) ซึ่งทั้งหมดล้วนมีท่าทีต่อวิกฤตสงครามยูเครนไม่สวนทางกัน คือไม่ขย่มรัสเซียซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรของกลุ่มอย่างชัดเจน

 

วันที่ 25 มี.ค.2565 สำนักข่าวซีจีทีเอ็นของจีน ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์เกี่ยวกับบทบาทของจีน ในสงครามขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน เปิดเผยการเดินสายพบผู้นำประเทศสำคัญๆในกลุ่ม บริกซ์ (BRICS) อย่างเอาการเอางาน

หวัง ยี่ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ได้เดินทางถึงอินเดียด้วยการเยือนอย่างไม่คาดคิดเมื่อเย็นวันพฤหัสบดีที่ 24 มี.ค.2565ที่ผ่านมา เป็นการเยือนระดับรัฐมนตรีครั้งแรก นับตั้งแต่ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างอินเดียและจีน ต้องชะงักงันหลังจากเกิดข้อพิพาท มีการปะทะทางทหารในเดือนมิถุนายน 2020 ตามแนวชายแดนหิมาลัย

การเยือนอินเดียมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคี ในช่วงเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างเข้มข้น ที่อาจต้องการให้จีนและอินเดียในฐานะประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดสองแห่งนอกฝั่งตะวันตก เพื่อกลับมามีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์อีกครั้งด้วยจิตวิญญาณพหุภาคีที่ทั้งสองประเทศยึดถือ

การเยือนของหวังยังเป็นการวางรากฐานสำหรับการเยือนจีนของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดียในปลายปีนี้เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอด BRICS

เขาเน้นย้ำคำถามเกี่ยวกับพรมแดน ซึ่งเป็นปัญหาที่หลงเหลือจากประวัติศาสตร์ ไม่ควรรบกวนความร่วมมือทวิภาคี ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายจัดการความแตกต่างผ่านการเจรจาและการปรึกษาหารือ

ทั้งนี้ในต้นเดือนที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศได้จัดการประชุมระดับผู้บัญชาการกองพันที่ 15เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องตามแนวการควบคุมตามจริง (LAC) ในภาคตะวันตกของพื้นที่ชายแดนจีน-อินเดีย

ในเวลาเดียวกัน จีนและอินเดียต่างก็ปฏิเสธที่จะใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจใดๆ กับรัสเซีย ในขณะเดียวกันก็หาวิธีที่จะทำการค้ากับมอสโกว์ในสกุลเงินท้องถิ่นต่อไป เพื่อเลี่ยงการขับไล่รัสเซียออกจากเครือข่ายธนาคารระหว่างประเทศและสมาคมเพื่อการสื่อสารทางการเงินระหว่างธนาคารทั่วโลกหรือSWIFT

สุธีนทรา กุลกรณี(Sudheendra Kulkarni)นักวิเคราะห์การเมืองและผู้ใกล้ชิดของอดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย อตัล บีฮารี วัจปายี(Atal Bihari Vajpayee) มองว่าวิกฤตในยูเครนทำให้ทั้งจีนและอินเดียมีบทบาทในการเป็นผู้สร้างสันติในแนวทางที่ค่อนข้างพิเศษ ในการริเริ่มยุติสงครามในยูเครน หากประสบความสำเร็จ เท่ากับเอเชียมีบทบาทส่งเสริมสันติภาพในยุโรปเป็นครั้งแรก

ด้านจ้าว กังเชง(Zhao Gancheng) นักวิจัยจากสถาบันเซี่ยงไฮ้-นานาชาติ (Shanghai Institutes of International Studies) เห็นด้วยว่า “โลกกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของวิกฤตสงคราม  ประเทศต่างๆ ในเอเชียใต้ รวมทั้งอินเดีย ส่วนใหญ่มักนิ่งเฉยต่อวิกฤตยูเครน จีนต้องการความช่วยเหลือจากพวกเขาในประเด็นนี้ จึงจำเป็นต้องค้นหาว่าอินเดียยืนหยัดอยู่ตรงไหนในยูเครน”

ความไม่เต็มใจของอินเดียในการประณามและคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของยุทโธปกรณ์ทางทหารและพลังงาน ทำให้ขัดแย้งกับพันธมิตรรายใหญ่ของตะวันตกและสมาชิก QUAD ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น

แนวทางที่แข็งกร้าวของตะวันตกที่มีต่อรัสเซียและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงต่อทั้งอินเดียและจีน จะย้อนกลับและกลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้หลายประเทศรวมตัวกันต่อต้านอำนาจของตะวันตก ปูทางไปสู่ระเบียบโลกแบบหลายขั้ว ที่กลายเป็นโอกาสให้ผู้นำปักกิ่งและนิวเดลีหันหน้ามาร่วมมือกันได้มากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้เป็นรากฐานสำหรับการประชุมสุดยอด BRICS ที่กำลังจะจัดอย่างเป็นทางการในปลายปีนี้

การเยือนของหวังยังเป็นการปูทางให้โมดีเข้าร่วมการประชุมสุดยอด BRICS ซึ่งจะจัดขึ้นพร้อมกับการประชุมสุดยอดรัสเซีย-อินเดีย-จีนหรืออาร์ไอซี (RIC) ในประเทศจีนในปลายปีนี้เช่นกัน

นอกจากอินเดียแล้ว สมาชิกของกลุ่มบริกซ์รายอื่นเช่น บราซิลก็ไม่เดินตามวาระวอชิงตัน ปธน.ไจอาร์ บอลโซนาโร (Jair Bolsonaro) แห่งบราซิล ปฏิเสธที่จะประณามรัสเซียในขณะที่ยืนยันความเป็นกลางในสหประชาชาติ และไม่ส่งอาวุธหรือทหารสนับสนุนฝ่ายใด

ในส่วนของอาฟริกาใต้ ปธน.ซิริล รามาโฟซา(Cyril Ramaphosa)แห่งแอฟริกาใต้ตำหนินาโต้ เป็นต้นเหตุให้เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน และไม่เข้าร่วมการคว่ำบาตรหรือประณามรัสเซีย เขากล่าวในที่ประชุมสหประชาชาติว่า “ประเทศที่มีอำนาจมากที่สุดใช้ตำแหน่งของตนในฐานะสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อรับใช้ผลประโยชน์ของชาติตัวเองมากกว่าผลประโยชน์ของสันติภาพและความมั่นคงของประชาชาติทั่วโลก”

หวัง ยี่แถลงเมื่อต้นเดือนว่า จีนจะเดินสายกระชับความร่วมมือในหมู่สมาชิกกลุ่ม BRICS ตั้งเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาระดับโลก รับมือกับสถานการณ์ใหม่ในระดับภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยจีนจะจัดกิจกรรมมากกว่า 160 กิจกรรมตลอดทั้งปี สนับสนุนการ เตรียมเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอด BRICS เดือนพ.ย.2565

สมาชิกกลุ่มประเทศ BRICS ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ตามตัวย่ออักษรภาษาอังกฤษ  มีประชากรมากกว่า 3 พันล้านคนทั่วโลก และคิดเป็นประมาณ 25% ของการผลิตทางเศรษฐกิจทั่วโลกซึ่งมี มูลค่าประมาณ19.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามสถิติข้อมูลของปี 2018