เชียร์เต็มที่!!ครม.เคาะลดภาษีน้ำมันดีเซล 3 บาท 3 เดือน ส.อ.ท.-หอการค้าหนุนอุ้มปชช.ลดต้นทุนการผลิต

1030

ครม.อนุมัติผ่านมาตรการลดภาษีดีเซล 3 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน พร้อมผ่านมาตราการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ทั้งภาษีนำเข้าและเงินอุดหนุนผู้ขายเพื่อทำตลาดในประเทศ ภาคเอกชนทั้งส.อ.ท.และหอการค้าหนุนมาตรการมาถูกทางสามารถดูแลประชาชนและช่วยลดต้นทุนการผลิตได้

วันนี้ 15 ก.พ.2565 แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ เห็นชอบมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในอัตรา 3 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันเก็บที่ราคา 5.99 บาทต่อลิตร โดยมีผล 3 เดือน นับแต่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยการพิจารณาเรื่องนี้ ครม.พิจารณาเป็นวาระลับ และเห็นชอบให้ดำเนินการเพื่อลดภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 

ขณะเดียวกันยังเห็นชอบมาตรการ สนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งจะส่งเสริมการใช้อีวี 3 ประเภท ได้แก่ รถยนต์ รถจักรยานยนต์และรถกระบะ โดยจะมีผลบังคับใช้เดือน พ.ค.นี้ และเมื่อผ่าน ครม.แล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไปออกกฎหมายและทำสัญญากับค่ายรถที่เข้าร่วม

การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเป็นเครื่องมือในการพยุงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท ซึ่งการปรับราคาน้ำมันขยายปลีกในประเทศที่ผ่านมาไม่ปรับราคาดีเซล โดยใช้กองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิงมาอุดหนุนราคาดีเซลลิตรละ 3.79 บาท

ในขณะที่สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 6 ก.พ.2565 ติดลบ 16,052 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันบวก 9,166 ล้านบาท และบัญชีแอลพีจีติดลบ 25,218 ล้านบาท

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ข้อเสนอการลดภาษีสรรพสามิตถือว่าเป็นแนวทางที่ดี โดยทั้งการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลหรือใช้กลไกอื่นตรึงราคาพลังงานช่วงที่ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นจะช่วยลดภาระต้นทุนให้ผู้ประกอบการ และส่วนนี้จะส่งผลตรงต่อการลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนที่กำลังเจอปัญหาสินค้าราคาแพง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรม (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การปรับตัวของราคาน้ำมันจะผลกระทบเป็นวงกว้างต่อราคาพลังงาน ไฟฟ้า ค่าขนส่งและค่าเดินทาง ซึ่งเป็นต้นทุนที่ทำให้โรงงานเตรียมปรับขึ้นราคาสินค้า และเบื้องต้นได้มีข้อเสนอให้ภาครัฐลดอัตราภาษีสรรสามิตลงชั่วคราวเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และยังคงตรึงราคาน้ำมันดีเซลซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับภาคขนส่งไว้ที่ 30 บาท ซึ่งที่ผ่านมาใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาช่วยพยุงราคา และต้องกู้เพิ่มอีกเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกยังปรับตัวเพิ่ม

ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นปัจจัยภายนอกที่ไทยไม่สามารถกำหนดได้ ซึ่งภายใต้สถานการณ์ขาดดุลยภาพของตลาดน้ำมันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ปริมาณการผลิตยังไม่กลับมาเท่ากับปริมาณความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งความตึงเครียดในภูมิรัฐศาสตร์บริเวณชายแดนรัสเซียและยูเครนทำให้ราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและอาจแตะที่บาร์เรลละ 100 ดอลลาร์

นายเกรียงไกร กล่าวว่า “ต้องการแก้ปัญหาระยะยาวต้องลดสัดส่วนการใช้น้ำมันและใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันนำเข้าน้ำมัน 80% ของการใช้งาน และนำเขาก๊าซธรรมชาติ 50% ของการใช้งาน เมื่อราคาน้ำมันโลกผันผวนจึงทำให้ไทยได้รับผลกระทบมาก การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม จะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและแก้ปัญหาได้ในระยะยาว”