ราคาน้ำมันดีดกลับ นักลงทุนและนักวิเคราะห์คาดว่าจากการคว่ำบาตรของตะวันตกต่อรัสเซียจะไม่ทำให้อุปทานติดขัดอย่างที่กังวล
วันที่ 23 ก.พ. 2565 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า แหล่งข่าวในกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐระบุว่า การตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐที่ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรเพื่อกดดันเศรษฐกิจรัสเซียจากปมขัดแย้งในยูเครนนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดพลังงานโลก
เจ้าหน้าที่สหรัฐได้ร่วมมือกับกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) รวมถึงประเทศผู้นำเข้าน้ำมันเพื่อประสานงานและเตรียมรับมือ หากมีความจำเป็นที่จะต้องลดความร้อนแรงของตลาดน้ำมันลงในอนาคต
นายเอมอส ฮอชสไตน์ ผู้แทนพิเศษสหรัฐด้านความมั่นคงทางพลังงาน และนายเบรตต์ แม็คเกิร์ค ผู้แทนพิเศษสหรัฐประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ได้จัดการประชุมหารือกับเจ้าหน้าที่ของซาอุดีอาระเบียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเกี่ยวกับแรงกดดันต่อตลาดพลังงาน อันเป็นผลมาจากวิกฤตยูเครน
แหล่งข่าวได้เปิดเผยรายละเอียดจากการประชุมดังกล่าวว่า “กลุ่มโอเป็กต้องการรับประกันว่าจะมีการร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการประคองตลาดให้มีความสมดุลและเสถียรภาพ และรักษาปริมาณซัพพลายน้ำมันให้มีเพียงพอ” และ “เราไม่ได้มีการหารือเกี่ยวกับการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน”
ราคาน้ำมันปรับลดลงมาในวันพุธหลังจากพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 7 ปีในช่วงซื้อขายก่อนหน้าเนื่องจากเป็นที่ชัดเจนว่าคลื่นลูกแรกของคว่ำบาตรจากสหรัฐฯและยุโรปต่อรัสเซียจะไม่รบกวนอุปทานน้ำมันในตลาดโลก
ในเวลาเดียวกัน มีโอกาสที่การผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านจะเข้าสู่ตลาดมากขึ้น เมื่อรัฐบาลอิหร่านและมหาอำนาจโลกใกล้จะฟื้นคืนข้อตกลงนิวเคลียร์ ปัจจัยนี้ช่วยให้ราคาน้ำมันปรับลงมาด้วย
น้ำมันดิบเบรนต์ร่วงลง 13 เซนต์หรือ 0.1% สู่ 96.71 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลที่เวลาซื้อขาย 01.42 GMT หลังจากทะยานสูงสุดที่ 99.50 ดอลลาร์ในวันอังคารซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2014
ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้า West Texas Intermediate (WTI) ของสหรัฐร่วงลง 6 เซนต์หรือ 0.1% สู่ 91.85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลหลังจากแตะระดับ 96 ดอลลาร์เมื่อวันอังคาร
ราคาพุ่งขึ้นเมื่อวันอังคารเนื่องจากความกังวลว่าการคว่ำบาตรต่อรัสเซียที่ทำการส่งทหารไปยังสองภูมิภาคที่แยกตัวเป็นอิสระของยูเครนภาคตะวันออกอาจกระทบกับแหล่งพลังงาน แต่สหรัฐอเมริกาได้แสดงไว้อย่างชัดเจนว่ามาตรการคว่ำบาตรจะไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกพลังงาน
เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ บอกกับนักข่าวว่า “มาตรการคว่ำบาตรที่บังคับใช้ในวันนี้และในอนาคตอันใกล้นี้ไม่ได้กำหนดเป้าหมายและจะไม่กำหนดเป้าหมายการเคลื่อนไหวของน้ำมันและก๊าซ”
มาตรการคว่ำบาตรที่บังคับใช้โดยสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสหภาพยุโรปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา มุ่งเน้นไปที่ธนาคารรัสเซีย
ราคาที่ปรับลดน้อยลงไปอีกมาจากความเป็นไปได้ที่น้ำมันดิบจากอิหร่านมากกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวันอาจเข้ามาป้อนตลาด หลังจากที่นักการทูตกล่าวว่าอิหร่านและมหาอำนาจโลกใกล้จะบรรลุข้อตกลงเพื่อควบคุมโครงการนิวเคลียร์ของเตหะราน
นักวิเคราะห์จาก ANZ Research ระบุในหมายเหตุว่า “นักการทูตต่างเห็นพ้องกันว่าการเจรจาได้มาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว และส่งผลเป็นบวก ซึ่งส่งสัญญาณว่าซัพพลายตลาดน้ำมันทั่วโลกที่เขม็งเกลียวอาจบรรเทาลงได้”
Vivek Dhar นักวิเคราะห์สินค้าโภคภัณฑ์ของ Commonwealth Bank กล่าวว่า สิ่งที่ไม่ทราบในเวลานี้คืออิหร่านสามารถเพิ่มการส่งออกได้เร็วเพียงใด
เขาเสริมว่า สมาชิกคนอื่นๆ ของ OPEC+ ได้พยายามดิ้นรนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการผลิตเนื่องจากความต้องการเพิ่มขึ้น แต่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำมันยังต่ำอยู่ และอิหร่านอาจประสบปัญหาเดียวกัน
ความคิดเห็นดังกล่าวล้วนเป็นการมองสถานการณ์ในแง่บวก ทั้งๆที่ยังไม่มีหลักประกันอะไรว่า สหรัฐจะยกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่าน เพราะกรณีอิหร่านผู้ที่ชี้ขาดจริงๆคืออิสราเอล ซึ่งประกาศเปิดเผยว่า ขอสงวนสิทธิ์ในการโจมตีอิหร่านไม่ว่าข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ระหว่างตะวันตกและอิหร่านจะฟื้นคืนชีพหรือไม่ก็ตาม
คงต้องติดตามสถานการณ์ตึงเครียดในพื้นที่ดอนบาส-ยูเครนต่อไป ว่าสงครามจะขยายวง ลุกลามไปสู่การประจันหน้ากัน ระหว่างกองทัพสหรัฐ-นาโตกับรัสเซียและพันธมิตรหรือไม่ เพราะนี่ยังเพียงแค่เริ่มต้นเท่านั้น