เปิดสัมพันธ์ “พัลลภ-ทักษิณ”จากขุนพลกรือเซะ-ตากใบ ถึงโคถึกปลดพ้นพรรค?

1465

จากที่พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย ออกมาพูดถึงการถูกปลด ขณะที่มีกระแสข่าวคำสั่งจากคนต่างประเทศ ต่อมาทักษิณปฏิเสธ ซึ่งทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัย และชวนให้ติดตามว่าทั้งสองเคยมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกันหรือไม่???

โดย พล.อ.พัลลภ กล่าวช่วงหนึ่งว่า ได้โทรศัพท์ถาม นายชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้รับทราบว่านายทักษิณ ชินวัตร ให้ปลด ซึ่งตนก็งงมาก เพราะไม่ได้ไปทำอะไรให้

“ตอนแรกถามเหตุผลเรื่องปลดเขาก็อึกอัก ไม่ยอมบอก แต่ตอนหลังก็คาดคั้นไป เขาถึงบอกว่าทักษิณให้ปลดออก แต่ถามว่าผมทำผิดเรื่องอะไรเขาก็ไม่ตอบ”

เมื่อถามต้องต่อสายตรงถึงนายทักษิณหรือไม่ พล.อ.พัลลภ กล่าวว่า “ผมไม่ต่อสายคุยกับเขาหรอกครับ เพราะผมเช็คแล้วพบว่าเขาเป็นคนสั่งปลด ไปพูดก็ไม่มีประโยชน์ เนื่องจากเขาทำไปแล้ว ผมไม่อยากวิจารณ์อะไรมาก เมื่อปลดแล้วคือเขาไม่อยากได้เราก็แค่นั้น เขาเป็นเจ้าของพรรค”

ต่อมาวันที่ 3 มกราคม 2565 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว The Room 44 ซึ่งมีเนื้อหาตอนหนึ่งกรณี พล.อ.พัลลภ ว่า ตนไม่รู้เรื่อง ไม่ได้โทรศัพท์คุยกับพล.อ.พัลลภ หลายปีแล้ว เรื่องที่เกิดขึ้นก็สงสัยทำไมมาโวยเช่นนี้ ตนไม่ทราบเลย งานประชุมพรรคที่ขอนแก่น เป็นงานประชุมสมาชิกพรรคไม่ใช่การประชุมกรรมการบริหารพรรค และหลังมีข่าวดังกล่าวออกมาตนไม่ได้โทรศัพท์คุยกับพล.อ.พัลลภ แต่อย่างใด

(อ่านรายละเอียดได้ที่ https://theroom44channel.com/read/20220104-13095?fbclid=IwAR0BEzcfWHippuL9Ve6-iJ1b0M-4ZH1c8rS5EUWr85IAl0f09vmZMMJC5bI)

นั่นคือเรื่องล่าสุดที่เกิดขึ้นระหว่างพล.อ.พัลลภ กับนายทักษิณ ซึ่งเมื่อไม่กี่วันก่อนนายทักษิณ ถูกถามถึง ระหว่างสนทนาทาง Clubhouse ถึงโศกนาฏกรรม กรือเซะ-ตากใบว่า

“รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่ตอนนั้นอยู่ในการควบคุมของทหาร ผมก็ได้รับรายงาน ก็เสียใจ จำไม่ค่อยได้ เสียใจ” นี่คือ คำตอบของทักษิณ ที่ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในโลกออนไลน์

ดังนั้นเองทีมข่าวเดอะทรูธ อยากพาย้อนไปถึงเรื่องราวดังกล่าว เพราะมีตัวละครอย่าง พล.อ.พัลลภ และพ.ต.ท.ทักษิณ ยศในขณะนั้น เข้ามาเกี่ยวพันธ์ด้วย โดยเหตุการณ์ล้อมปราบชาวมุสลิม ที่เข้าโจมตีจุดตรวจหน้ามัสยิสกรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เมษาน 2547 ที่มัสยิดกรือเซะ ต.ตันหยงลูโละ อ.เมือง จังหวัดปัตตานี และเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ อำเภอตากใบ นราธิวาส เมื่อ 25 ตุลาคม 2547  จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจากทั้ง 2 เหตุการณ์รวมกันกว่า 100 คน

โดยตอนหนึ่งของ “รายงานคณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ” ที่เผยแพร่ทาง เว็บไซต์ประชาไทระบุว่า เหตุการณ์ความไม่สงบ ทวีความรุนแรงขึ้นนับตั้งแต่เกิดเหตุปล้นอาวุธในค่ายทหาร เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 จำนวน413 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ ค่ายปิเหล็ง ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง นราธิวาส และหลังจากนั้น 3 เดือนก็ได้เกิดเหตุรุนแรงเกิดขึ้นในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 28 เมษายน 2547

ขณะที่รายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการอิสระฯ ไม่ได้ชี้ชัดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะ และไม่ได้ระบุว่าเป็นความผิดของกองทัพ

แต่เหตุการณ์ทำให้เวลานั้นชาวมุสลิมในพื้นที่ กล่าวหาทางการไทยว่า กระทำการเกินกว่าเหตุ ซึ่งพล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี รองผู้อำนวยการกองกำลังความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ในขณะนั้น เป็นผู้สั่งการให้ลงมือใช้อาวุธหนักยิงเข้าไปในมัสยิดกรือเซะ โดยได้บอกกับ สำนักข่าวเอเอฟพีว่า ไม่มีทางเลือกอื่น เพราะหากเขาตัดสินใจล่าช้าปล่อยให้เหตุการณ์ยืดเยื้อไปสองถึงสามชั่วโมงก็อาจเกิดหายนะไปมากกว่าที่เป็นอยู่

กระนั้นก็ไม่พ้นให้ไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์ และตกเป็นเป้าสายตาของต่างชาติในเรื่องการใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อกล่าวหาที่ว่า กระทำเกินกว่าเหตุ ในช่วงรัฐบาลที่มี ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้นำ และมี พล.อ.พัลลภ นั่งรองผอ.กอ.รมน.อยู่ในเหตุการณ์นั่นเอง

นอกจากนี้เหตุการณ์กรือเซะ ยังถูกนำไปย้อนรำลึกถึงอีกเรื่องราวสำคัญที่เกิดขึ้นกับคนมุสลิมในพื้นที่ปลายด้ามขวานทองไทย นั่นคือ ดุซงญอ ที่เกิดจากความไม่พอใจรัฐบาลไทยของชาวไทยมุสลิม ที่เริ่มขึ้นจากการยกเลิกระบบสุลต่านหรือเจ้าผู้ครองนคร หรือ 7 เจ้าแขกที่เคยปกครองแบบซีอีโอ มาเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 5 เลิกระบบไพร่มาเป็นราษฎรเต็มขั้น และทวีความรุนแรงขึ้นในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

รวมทั้งความอดอยากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ราษฎรที่นับถือศาสนาอิสลาม ถูกปฏิบัติเป็นพลเมืองชั้นสอง และแกนนำในการต่อต้านรัฐบาลยุคนั้นคือ หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ซึ่งมีบทบาทคัดค้านการตั้งดะโต๊ะยุติธรรม เรียกร้องให้แยกศาลศาสนา และเสนอคำขอ 7 ข้อต่อรัฐบาล แต่หะยีสุหลง กลับถูกจับด้วยข้อหากบฏเมื่อ 16 มกราคม 2491 สร้างความไม่พอใจอย่างกว้างขวาง และเป็นชนวนเหตุหนึ่ง ที่กลายเป็นความคับแค้นใจ เป็นต้นสายความไม่สงบให้เกิดขึ้นในดินแดนแห่งนี้ มากระทั่งปัจจุบัน!!!