จากกรณีเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา กลุ่มพสกนิกรปกป้องสถาบัน, ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) , อาชีวะปกป้องสถาบัน , ประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน , ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ , ศูนย์ปฏิบัติการศรีสุริโยไทปกป้องสถาบัน , เครือข่ายคนออนไลน์รับใช้แผ่นดิน , อนุชนคนรักสถาบัน และรู้ทันโลกออนไลน์ออกแถลงการณ์ เรื่องคัดค้านการอนุมัติขอต่ออายุใบอนุญาตให้แก่ Amnesty International Thailand และขับพ้นประเทศไทย
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ทางกลุ่มพสกนิกรปกป้องสถาบัน ได้มายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ช่วยนายกรัฐมนตรี นายเสกสกล อัตธาวงศ์ เพื่อให้ดำเนินการขับไล่ Amnesty International Thailand เพราะว่าองค์กรดังกล่าว เป็นกลุ่มบุคคลธรรมดา ที่อ้างตัวเป็นองค์กรนานาชาติ เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของคน แต่ความเป็นจริงองค์กรดังกล่าว เข้ามาเพื่อแทรกแซงกิจการภายในของราชอาณาจักรไทย และมาสร้างค่านิยมในทางที่ผิดให้กับสังคมไทย ส่งเสริมให้เยาวชนกระด้างกระเดื่องต่อกฎหมายบ้านเมือง
เมื่อมีบุคคลกระทำความผิดกฎหมาย องค์กรดังกล่าวได้ออกมาเคลื่อนไหว เพื่อปกป้องผู้กระทำความผิด โดยอ้างความเท่าเทียม เรียกร้องเสรีภาพอันขัดรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พร้อมประณามการกระทำของรัฐบาล และล่าสุดที่คนไทยรับไม่ได้ คือการที่ Amnesty ทำแคมเปญเขียนจดหมายล้านฉบับถึงทั่วโลก เพื่อจี้ทางการไทยหยุดดำเนินคดีกับ นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ทั้งที่บุคคลดังกล่าวได้กระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายความมั่นคงของประเทศไทย และความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ ประชาชนได้เข้าร่วมลงรายชื่อเพื่อขับไล่ Amnesty จำนวนกว่าหนึ่งล้านสองแสนรายชื่อ ทางกลุ่มพสกนิกรปกป้องสถาบันได้รวบรวมรายชื่อทั้งหมด เพื่อเรียนต่อท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นหลักฐาน ว่าประชาชนเห็นพ้องต้องกันแล้วไม่ควรอนุมัติตามคำขอต่ออายุใบอนุญาต หากมีการต่ออายุใบอนุญาตให้กับ Amnesty กลุ่มพสกนิกรปกป้องสถาบันและประชาชนจักออกมาคัดค้านให้ถึงที่สุด
ขณะที่ช่วงเช้าวันนี้ (17 ก.พ.) กลุ่มศปปส.ปกป้องสถาบัน ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้เดินทางไปยังศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์สำนักนายกรัฐมนตรี และจะเคลื่อนขบวนแรลลี่ไปกระทรวงมหาดไทยเพื่อแสดงจุดยืนขับไล่องค์กรนี้ให้พ้นประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ไคลด์ วอร์ด รองเลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เปิดเผยว่า ในฐานะที่เป็นขบวนการของคนธรรมดาที่เคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ที่มีการดำเนินงานในกว่า 70 ประเทศ มีสมาชิกและผู้สนับสนุนใน 150 ประเทศและดินแดน ไม่ว่าเป็นการดำเนินงานในที่ใด เราต่างมีภารกิจเดียวกันคือ การป้องกัน ตรวจสอบ และกระตุ้นให้รัฐ บรรษัท และหน่วยงานหรือบุคคลอื่นต้องรับผิดชอบต่อการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายระหว่างประเทศ เราให้ข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์ต่อทางการเกี่ยวกับการดำเนินงานที่ทำได้ เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของตน เราจะยังคงดำเนินงานเช่นนี้ต่อไปอย่างเป็นอิสระและไม่ลำเอียง และตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ต่อกรณีที่มีการรณรงค์ต่อต้านแอมเนสตี้ และการตรวจสอบที่เกี่ยวข้อง เราพร้อมจะตอบคำถามที่รัฐบาลมีเกี่ยวกับการทำงานของเราในประเทศไทยต่อไป
แม้เราตระหนักว่า รัฐบาลไทยมีหน้าที่คุ้มครองความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของรัฐ แต่เรายังคงต้องเน้นย้ำว่า ทางการต้องปฏิบัติหน้าที่นี้ในลักษณะที่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และต้องเป็นการดำเนินงานที่ได้สัดส่วน จำเป็น และตอบสนองต่อพันธกรณีของรัฐบาล เพื่อประกันและสนับสนุนการเคารพสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ “ข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อให้ทางการปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของตน จัดทำขึ้นตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีการให้ความเห็นชอบในระดับสากล และประเทศไทยให้คำมั่นที่จะปฏิบัติตาม”
“การรณรงค์ต่อต้านแอมเนสตี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ทางการกำลังดำเนินงานเพื่อประกาศใช้กฎหมายที่กำลังถูกจับตามอง เพื่อควบคุมกำกับหน่วยงานไม่แสวงหากำไรในประเทศ ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. ฉบับนี้อาจส่งผลอย่างร้ายแรงต่อภาคประชาสังคมทุกส่วนในประเทศไทย และที่ผ่านมาแอมเนสตี้ได้เรียกร้องในทุกโอกาสที่เป็นไปได้ เพื่อให้รัฐบาลถอนร่างกฎหมายนี้ และให้เปิดรับฟังความเห็นเพิ่มเติม การโจมตีแอมเนสตี้เกิดขึ้นพร้อมกับสภาวะที่ทางการไทยดูจะมีความอดทนต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสิทธิมนุษยชนน้อยลง”