หมอวรงค์ยื่นนายกฯร้องยกเลิกประมูลก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเหนือ-อีสาน!?!พบ​ทีโออาร์​เอื้อประโยชน์ 5 บริษัทใหญ่ เสนอเปิดช่องแข่งขันหลากหลาย​

1294

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.เวลา 10.00 น.ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์รัฐบาล นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี พร้อมด้วยสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์​โอชา​นายก​รัฐมนตรี​และ​รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​กลาโหม ​ผ่าน นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ยกเลิกโครงการ รถไฟฟ้าทางคู่สายเหนือช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เขียงของและสายอีสาน ช่วงบ้านไผ่- มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม และขอให้ตรวจสอบความไม่โปร่งใสในการประมูล เนื่องจากพบว่าราคาที่ได้จากการประมูลต่ำกว่าราคากลางเพียงเล็กน้อย และ ยังเป็นสัดส่วนที่เท่ากันแค่ร้อยละ 0.08 เท่านั้น

นายแพทย์​วรงค์​ ยังระบุว่า สามารถรับได้ หากมีหลาย​บริษัท​ที่คุณสมบัติตรงตามทีโออาร์​ แม้การประมูลต่ำกว่าราคากลางเพียงเล็กน้อย แต่โครงการดังกล่าวกลับพบมีเพียง 5 บริษัทที่ผ่านคุณสมบัติ​สามารถประมูลงานได้จาก 5 สัญญา​เท่านั้น จึงตั้งข้อสังเกต​ว่าอาจมีการเอื้อประโยชน์​หรือไม่? 

นายแพทย์วรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุผลที่ทำให้ผลการประมูลเป็นเช่นนี้ เพราะ การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)​ไม่นำทีโออาร์ ที่เคยใช้ในการประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์​-ชุมพรในปี2560 สมัยรัฐบาล คสช. ที่สามารถประหยัดงบประมาณจำนวน 2,039 ล้านบาท จากวงเงิน 36,100ล้านบาท แต่ ร.ฟ.ท. กลับเปลี่ยนทีโออาร์​ ส่งผลให้เสียโอกาสที่จะประหยัดงานค่าก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 7,000 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ นายศรีสุวรรณได้ยื่นเรื่องร้องเรียน สตง.สอบทีโออาร์ประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือ-สายอีสาน พบว่าเอื้อประโยชน์ 5 บริษัทเอกชนรายใหญ่ และจะยื่น ปปง.สอบอีกด้วย

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2564 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบการเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าทางคู่  ของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ใน 2 เส้นทาง แบ่งเป็น เส้นทางสายเหนือ ช่วงเด่นชัย-เชียงราก-เชียงของ และเส้นทางสายอีสาน ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม 

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การประมูลครั้งนี้พบพิรุธโดยมีการจัดทำทีโออาร์ในลักษณะล็อกสเปก เอื้อผู้ประกอบการรายใหญ่ 5 รายเท่านั้นให้เข้าสู่การประมูล ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนาดกลางเข้าร่วมการประมูลได้  ไม่สามารถแข่งขันให้ราคาถูกลง ส่งผลให้รัฐเสียประโยชน์นับหมื่นล้านบาท หากเทียบกับการเส้นทางรถไฟในพื้นที่ภาคใต้ ในปี 2560 ที่เขียนทีโออาร์ให้ผู้ประกอบการขนาดกลางสามารถเข้าร่วมการประมูล จึงมีผู้เข้าร่วมประมูลมาก ทำให้รัฐได้ราคาถูกลง ประหยัดงบประมาณลงประมาณ 2-3 พันล้านบาท การที่ทีโออาร์ล็อกสเป็กให้เฉพาะ 5 บริษัทใหญ่ คือกำหนดให้บริษัทที่สามารถจะเข้าร่วมประมูลงานได้ต้องผ่านงานโครงการของรัฐร้อยละ 10 หรือไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท ของมูลค่าโครงการ จึงทำให้ได้ราคาประมูลใกล้เคียงกับราคากลางที่กรมบัญชีกลางกำหนด

เข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้วประมูล จึงมายื่นเรื่องต่อ สตง.ให้ตรวจสอบการจัดทำทีโออาร์ ว่าเอื้อต่อบริษัทใดหรือไม่

“สิ่งที่ผมได้รับรู้ข้อมูลมาก่อนหน้านี้ คือ ก่อนที่จะมีการเปิดประมูล มีผู้กว้างขวางในจังหวัดบุรีรัมย์เรียกผู้ประกอบการรายใหญ่ ทั้ง 5 บริษัทไปพูดคุยกัน ตกลงกัน และก็จัดสรรปันส่วนแบ่งเค้กก่อน ในที่สุดผลประมูลออกมาทั้ง 5 บริษัทต่างชนะการประมูล รวมทั้ง 5 สัญญาไปคนละสัญญา ผมคิดว่าการประมูลครั้งนี้น่าจะเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.ฮั้วประมูล โดยชัดเจน จึงต้องร้องต่อ สตง.ให้ไปตรวจสอบ ว่าการทำทีโออาร์หรือการเขียนทีโออาร์ในลักษณะนี้ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็นการเฉพาะหรือไม่ ทำให้ผลประโยชน์ของประเทศชาติเสียหาย”

นายศรีสุวรรณ ยังบอกว่า หากผลการตรวจสอบพบมีความผิดตามที่ร้อง ก็จะนำไปสู่การยกเลิกประมูลและจัดทำทีโออาร์ และจัดการประมูลขึ้นใหม่

นอกจากนี้ ยังระบุพิรุธการประมูล 2 โครงการ ว่า นายแพทย์ระวี มาศฉมาดล ส.ส. เคยออกมาให้ข้อมูลก่อนหน้านี้แล้วว่า มี 5 บริษัทไปตกลงกับผู้กว้างขวางของจังหวัดบุรีรัมย์ ว่าจะจัดสรรปันส่วนให้ได้คนละสัญญา เมื่อเปิดซองประมูลทั้ง 2 สาย ก็ตรงตามที่ ส.ส. คนดังกล่าวออกมาให้ข้อมูล ทั้งนี้ทางสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยจะนำเอกฐานหลักฐานไปยื่นต่อ ป.ป.ช. ให้ไต่สวนสอบสวนเอาผิดกับบุคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ขณะที่กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ยังเสียงแข็งว่าถูกต้องตามกฎหมายทุกขั้นตอน  การเปิดประมูลรถไฟทางคู่ใหม่ 2เส้นทาง มูลค่า1.28แสนล้านบาท แบ่ง5สัญญา ประกอบด้วยสายเหนือ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323กิโลเมตร ราคากลาง 72,918 ล้านบาท และ ทางคู่สายอีสาน ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355กิโลเมตรราคากลาง  55,456 ล้านบาท  วันที่ 18พ.ค.และ25พ.ค. 64  ตามลำดับ 

 

ผลประมูลช็อกสายตาผู้ชม  ราคาที่เสนอต่ำกว่าราคากลางเพียง 0.08%  แสดงว่าคู่แข่ง ที่ยื่นประมูลด้วย2-3ราย ที่อ้างว่า ลงสนามด้วย จะต้องเสนอราคาเกือบชิดราคากลางมากๆเป็นแน่  ซึ่งในทางปฏิบัติย่อมเป็นไปได้ยาก และหากเทียบผลประมูลสายใต้ช่วง นครปฐม-ชุมพรระยะทาง421กิโลเมตร เมื่อปี2560 ราคากลาง 36,021ล้านบาท ราคาประมูลต่ำสุด อยู่ที่ 33,982ล้านบาท ห่างราคากลาง5.66%

เสียงยี้ เสียงค้านระงม ที่ตามมาจึงท่วมท้น ล้นสนามาชิงประมูล ที่เหลือแต่รายใหญ่หน้าเดิมๆ ทั้งสองเส้นทาง เมื่อ นักกีฬาพากันวิ่งกอดคอเข้าเส้นชัยพร้อมกัน แม้ กระทรวงคมนาคม ,รฟท. ในฐานะกรรมการตัดสินจะออกมาชี้แจงหลายครั้งว่าเป็นเรื่องปกติ  โปร่งใส ถูกต้องตามกติกา ระเบียบพัสดุ อีกทั้งต้นทุนวัสดุสูง  แต่ทุกครั้งที่หันกลับมามองผลการประมูลสายใต้ ใครก็อดสงสัยไม่ได้ ว่าแบบนี้…. ฮั้วหรือไม่ฮั้ว?