วัดฝีมือทีมเศรษฐกิจรัฐบาล!? แก้หนี้ครัวเรือนและเกษตรกร 4.83 ล้านราย คืบหน้าหรือย่ำอยู่กับที่

930

ธนาคารแห่งประเทศไทยแถลงผลงานช่วยลูกหนี้ 5.6 ล้านบัญชีซึ่งเป็นหนี้ภาคประชาชนทั่วไป  ขณะรัฐบาลติดตามการแก้ไขปัญหา “หนี้ครัวเรือน” และเกษตรกร โดยธ.ก.ส.ซึ่งมีบทบาทเกี่ยวข้องกับเกษตรกรมากที่สุดรายงานผลการช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยลดดอกเบี้ยเกษตรกรไปแล้วกว่า 1 พันล้านบาท ปักหมุดส่งผู้แทนสาขาลงพื้นที่ ตรวจ “หนี้เกษตรกร” พร้อมวางแนวทางช่วยเหลือฝ่าวิกฤตเพิ่มเติม

วันที่ 17 ก.พ.2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รายงานผลการช่วยเหลือลูกหนี้ ในการปรับโครงสร้างหนี้ และให้สินเชื่อใหม่ ล่าสุด ตามโครงการช่วยเหลือต่างๆที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้า โดยในส่วนของการช่วยเหลือลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ ผ่านสถาบันการเงินโดยตรง ณ วันที่ 31 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีจำนวนบัญชีที่ได้รับความช่วยเหลือรวม 5.66 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้ 3.53 ล้านล้านบาท เป็นความช่วยเหลือผ่านสถาบันการเงิน และบริษัทให้สินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) 1.80 ล้านบัญชี วงเงินสินเชื่อรวม 2.03 ล้านล้านบาท และเป็นความช่วยเหลือผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 3.86 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้ 1.50 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ยังมีความช่วยเหลือ เพื่อให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ตามโครงการต่างๆของ ธปท.ดังนี้ โครงการคลินิกแก้หนี้ ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ 72,151 บัญชี โครงการมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ เฟส 1 (ปิดรับคำขอ) ช่วยเหลือลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 222,164 บัญชี โครงการมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ เฟส 2 (ปิดรับคำขอ) ช่วยลูกหนี้สินเชื่อเช่าซื้อ 9,631 บัญชี โครงการทางด่วนแก้หนี้ ช่วยเหลือลูกหนี้ 254,324 บัญชี ล่าสุด คือ โครงการหมอหนี้ ช่วยเป็นที่ปรึกษา ให้กับลูกหนี้ในการปรับโครงการสร้างหนี้และฟื้นฟูกิจการ ให้คำปรึกษา 1,813 ราย

สำหรับการให้สินเชื่อใหม่เพื่อประคองธุรกิจ ณ วันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา ในส่วนการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านสินเชื่อฟื้นฟู และโครงการ Soft loan ของ ธปท. จำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 123,187 ราย ยอดอนุมัติสินเชื่อ 285,764 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อ Soft loan (ปิดรับคำขอ ณ 12 เม.ย.64) 77,787 ราย วงเงินรวม 138,200 ล้านบาทเป็นต้น

ก่อนหน้านี้นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำหนดนโยบายให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งติดตามดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ราคาผลผลิตตกต่ำ ภัยธรรมชาติ

ล่าสุดล่าสุดนายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในฐานะธนาคารของรัฐ ได้ดำเนินการให้ผู้แทนแต่ละสาขาเข้าพบลูกค้าทุกรายเพื่อสอบถามข้อมูลการประกอบอาชีพและรายได้ พร้อมกำหนดแนวทางบริหารจัดการหนี้ให้เหมาะสมกับศักยภาพของลูกค้าแต่ละราย ควบคู่การเติมสินเชื่อใหม่ ในการฟื้นฟูอาชีพอย่างยั่งยืน พร้อมช่วยเหลือลูกค้าเงินกู้ ทั้งเกษตรกร บุคคล ผู้ประกอบการ และสถาบันเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบ

ขณะนี้มีเกษตรกรที่ใช้บริการสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. จำนวน 4.83 ล้านราย การให้พนักงานของ ธ.ก.ส. ลงพื้นที่พบลูกค้าเพื่อสอบถามข้อมูลการประกอบอาชีพ ที่มาของรายได้มาประเมิน โดยวิเคราะห์ศักยภาพสมรรถนะและความสามารถในการประกอบอาชีพ ความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อทำการบริหารจัดการหนี้ให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย  รวมถึงการเติมสินเชื่อใหม่เพื่อฟื้นฟูอาชีพ รวมถึงพิจารณาช่วยเหลือลูกค้าที่มีหนี้สินเป็นภาระหนัก เนื่องจากรายได้ครัวเรือนลดลงหรือไม่ได้มีรายได้เพียงพอเพราะเหตุผิดปกติ เช่น เสียชีวิต เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ชราภาพ เป็นต้น

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังเสริมสภาพคล่องในการลงทุนและการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ผ่านโครงการชำระดีมีคืน วงเงินงบประมาณ 1,200 ล้านบาท ให้กับลูกค้าที่นำเงินมาชำระหนี้ โดยจะทำการคืนดอกเบี้ยเข้าบัญชีเงินฝากลูกค้าโดยตรง ร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง ไม่เกินรายละ 1,000 บาท

ล่าสุดมีการคืนดอกเบี้ยไปแล้วกว่า 622 ล้านบาท มีเกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 850,000 ราย และโครงการนาทีทองลดดอกเบี้ยสู้โควิด โดยจะลดดอกเบี้ยที่ค้างชำระรวมถึงเบี้ยปรับสูงสุด ไม่เกินร้อยละ 50 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง ระยะเวลาตั้งแต่บัดนี้จนถึง  31 มีนาคม 2565 หรือจนกว่าจะเต็มวงเงินที่กำหนด โดยมีการช่วยเหลือไปแล้วกว่า 1,110 ล้านบาท 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “การแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรเป็นวาระสำคัญที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้ดำเนินการอย่างรอบด้าน โดยมีการออกมาตรการให้การช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดโควิด-19 มุ่งหวังให้ครอบคลุมกับประชาชนทุกกลุ่ม พร้อมทั้งรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนและภาคเอกชนเพื่อให้การขับเคลื่อนฟื้นตัวเป็นไปอย่างมีส่วนร่วมและตรงจุดให้มากที่สุด”