ท่ามกลางการระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงปัจจุบัน ความวิตกกังวลการระบาดโควิดกลายพันธุ์โอมิครอน ครอบงำโลกทั้งใบรวมทั้งประเทศไทยด้วยนั้น รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจต่างต้องทำงานอย่างหนัก รับมือปัญหาเศรษฐกิจภายใต้แรงกดดันจากพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามและความยากลำบากของคนไทยทุกกลุ่มฐานะ
เฉพาะมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลนับว่า ได้ผลบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและได้รับการตอบรับจากชาวบ้านอย่างล้นหลาม ด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งมีความคืบหน้า ด้านการหารายได้ การส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะการส่งออกโตกระฉูดสร้างความหวังปั้มรายได้ไปถึงปีหน้า
วันที่ 27 ธ.ค.2564 ผลงานดูแลชาวนา 4.59 ล้านครัวเรือนด้วยนโยบาย ประกันรายได้ข้าวจ่ายให้เกษตรกรไปแล้ว 1.36 แสนล้านบาท เรื่องนี้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ในฐานะประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้โอนเงินประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564/65 แล้วกว่า83,000 ล้านบาท มีเกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 4.47 ล้านครัวเรือน และได้จ่ายค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวแล้วกว่า 53,000 ล้านบาท เกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 4.59 ล้านครัวเรือน รวมเป็นเงินที่จ่ายให้กับเกษตรกรแล้วกว่า 136,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ 4 โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด มีผู้ใช้สิทธิ 41.15 ล้านราย ณ วันที่ 18 พ.ย. 2564 ยอดใช้จ่ายสะสมทั้งหมด 183,865.5 ล้านบาท โดยสรุปผลการใช้จ่ายได้ ดังนี้
- โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสมจำนวน 13.55 ล้านราย มียอดการใช้จ่ายสะสมรวม 16,981.1 ล้านบาท
- โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษมีผู้ใช้สิทธิสะสม จำนวน 1.42 ล้านราย มียอดการใช้จ่ายสะสมรวม 1,422.6 ล้านบาท
- โครงการคนละครึ่งเฟส 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสมจำนวน 26.09 ล้านราย จากผู้ได้รับสิทธิ 27.98 ล้านราย โดยมียอดการใช้จ่ายสะสมรวม 161,946.1 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่ายสะสม 82,273.6 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 79,672.5 ล้านบาท โดยมีมูลค่าสิทธิที่อยู่ระหว่างการใช้จ่ายกว่า 46,000 ล้านบาท
- โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีผู้ใช้สิทธิสะสมจำนวน 90,086 ราย จากผู้ได้รับสิทธิกว่า 4.89 แสนราย โดยเป็นยอดการใช้จ่ายส่วนประชาชนสะสม 3,336 ล้านบาท และยอดใช้จ่ายส่วน e-Voucher สะสม 179.7 ล้านบาทโดยมีมูลค่าวงเงินสิทธิ e-Voucher ที่อยู่ระหว่างการใช้จ่ายกว่า 129 ล้านบาท
รอลุ้นเกณฑ์บัตรคนจนเข้า ครม.ครั้งสุดท้ายก่อนขึ้นปีใหม่ นอกจากนี้เตรียมใช้งบฯ 1.6 พันล้านบาทจ้างงานนักศึกษาเพื่อจัดทำข้อมูลลงทะเบียน ได้ประโยชน์สองด้านในโครงการเดียวกัน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า การประชุม ครม. วันที่ 28 ธ.ค.64 คลังจะเสนอหลักเกณฑ์การเปิดลงทะเบียนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ แต่จะยังไม่มีการเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับสวัสดิการที่ได้รับ ว่าจะมีสวัสดิการพื้นฐานหรือเพิ่มเติมอะไรบ้าง เนื่องจากต้องรอให้มีการเปิดลงทะเบียนเพื่อให้ทราบจำนวนที่แน่ชัดก่อน ถึงจะจัดสรรใส่มาตรการช่วยเหลือลงไปได้
ขณะนี้รัฐบาลได้เตรียมวงเงินเพื่อรองรับการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ 1,642 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายในการเปิดลงทะเบียนจ้างนักศึกษาจบใหม่หรือคนตกงาน ช่วยสำรวจตรวจสอบข้อมูล และค่าบริหารจัดการข้อมูลทั้งหมด สำหรับเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้สมัครบัตรคนจนรอบนี้ จะเพิ่มเกณฑ์รายได้ครัวเรือนเข้ามาช่วยคัดกรอง นอกเหนือจากเกณฑ์รายได้ส่วนบุคคล เช่น กรณีบุคคลที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ต้องมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อคนไม่เกิน 100,000 บาทด้วย คิดจากการนำรายได้ของคนทั้งหมดในครอบครัว แล้วมาหารจำนวนสมาชิกในครัวเรือน หากครัวเรือนไหนเฉลี่ยแล้วรายได้ต่อคนเกิน 100,000 บาท จะไม่ได้บัตรสวัสดิการทั้งหมด เพื่อปิดช่องโหว่ ไม่ให้คนที่จนไม่จริง เช่น แม่ไม่มีรายได้ แต่ลูกมีรายได้สูงเข้ามารับเงินสวัสดิการจากรัฐ
ปี 2565 ที่จะถึงนี้ ภายใต้ทิศทางภาวะเศรษฐกิจโลกและไทยที่แนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้น แต่ความไม่แน่นอนของหลายๆ ปัจจัยยังคงเป็นตัวแปรสำคัญที่ต้องติดตามใกล้ชิดโดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดกลายพันธุ์ “โอมิครอน” รวมไปถึงความเสี่ยงด้านต่างๆ มากมายที่กำลังคืบคลานเข้ามา อนาคตของภาคการผลิตและแรงงานซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญจะต้องเผชิญคลื่นลูกใหม่ 5 คลื่นอะไรบ้าง
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปี 2565 สิ่งที่ภาคเอกชนโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมไทยต้องเตรียมรับมือกับระลอกคลื่นที่นับวันจะทวีความรุนแรงและจะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจซึ่งหากไม่เตรียมพร้อมจะกลายเป็นคลื่นที่มีแรงกระแทกสูง ประกอบด้วย 5 คลื่นหลัก ได้แก่
- การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีหรือ Disruptive Technology ซึ่งกระแสนี้มาแรงระยะหนึ่งแล้ว และทำให้ทุกภาคส่วนเริ่มมีการปรับตัวเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเพราะมีการคาดการณ์กันว่าเทคโนโลยีจะทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะก้าวสู่ยุคดิจิทัล และอาจส่งผลให้อุตสาหกรรมเก่าๆ ค่อยๆ ถูกโละออกไปจากระบบ
- ไวรัสโควิด-19 และการมาของโควิดกลายพันธุ์ “โอมิครอน” นับเป็นคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงที่โควิดยังคงจะอยู่กับโลกใบนี้ไปอีกนานพอสมควรทำให้ทุกส่วนต้องปรับตัวอยู่ไปด้วยกัน และกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่เร็วขึ้นเพื่อรองรับกับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) เช่น รูปแบบการทำงานที่บ้าน (Work From Home) การสั่งสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ฯลฯ ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป หากไม่ปรับตัวก็ย่อมได้รับผลกระทบ แม้ว่าโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโดยรวมแต่หลายอุตสาหกรรมที่ได้รับโอกาสในการเติบโตจากโควิด-19 ก็มีไม่น้อยเช่นกัน เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ
- กฎกติกาว่าด้วยการลดโลกร้อนภายใต้การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 หรือ COP26 ที่ประเทศพัฒนาแล้วได้วางแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050 ขณะที่ไทยวางเป้าหมายไว้ที่ปี ค.ศ. 2065 นับเป็นความท้าทายของภาคส่งออกที่ต้องเตรียมรับกติกาดังกล่าว โดยเฉพาะกรณีสหภาพยุโรป (อียู) เตรียมบังคับใช้กฎหมายการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ที่จะนำร่อง 5 สินค้า คือ ปุ๋ย เหล็ก อะลูมิเนียม ไฟฟ้า ซีเมนต์ ปี 2566
จากนั้นปี 2569 จะบังคับทุกรายการทำให้การส่งออกของไทยต้องมีกระบวนการผลิตที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอน ทำให้ต้องหันมาพึ่งพิงพลังงานสะอาดมากขึ้นแทนฟอสซิล หรือต้องมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่เพียงพอ หากไทยไม่เร่งปรับตัวรองรับภาคการส่งออกจะได้รับผลกระทบจากการต้องซื้อ “ใบรับรองการปล่อยก๊าซคาร์บอน” หรือ “CBAM certificates” เพื่อเป็นการจ่ายค่าธรรมเนียม หรือ “ค่าปรับ” ซึ่งจะมีผลฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคต และรวมถึงการลงทุนที่อาจทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตได้
- การเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ซึ่งที่ผ่านมาเริ่มต้นด้วยสงครามทางการค้า (Trade War) โดยเฉพาะจีนและสหรัฐฯ ที่ยังคงดำรงอยู่และมีแนวโน้มที่อาจรุนแรงขึ้นได้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ของโลก มีการย้ายฐานการผลิตเพื่อความมั่นคงของระบบการผลิตของแต่ละประเทศเพื่อให้เกิดครบวงจรมากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพิงจากประเทศอื่นๆ ซึ่งทำให้ไทยต้องติดตามประเด็นดังกล่าวเพื่อปรับตัวอย่างใกล้ชิด
- ไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย (Aged Society) และอาจขยับขึ้นเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอด (Hyper Aged Society) หรือมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีกว่า 30% ภายในปี พ.ศ. 2584 เพราะอัตราการเกิดใหม่ต่ำจะกลายเป็นแรงกระเพื่อมต่อตลาดแรงงานเพราะวัยทำงานลดลง ขณะที่อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังอยู่ระดับ 2.0 ที่ยังพึ่งพิงแรงงานจากคนทำให้ไทยต้องหันพึ่งแรงงานข้ามชาติมากขึ้น …และจะยิ่งทำให้ไทยมีภาระด้านสังคมสูง ภาพเหล่านี้ต้องเร่งแก้ไขทั้งโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจเพื่อให้ไทยก้าวผ่านไปให้ได้
นายเกรียงไกรกล่าวเสริมว่า “ไทยเรามียุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 และ BCG โมเดลซึ่งจะตอบโจทย์ของการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่และความยั่งยืนในเรื่องของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ BCG โมเดล ส.อ.ท.กำลังเร่งพัฒนาไปในทิศทางนี้เพราะไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพหากดึงเทคโนโลยีมาพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่า เช่น อาหารแห่งอนาคต รวมถึงพลังงานหมุนเวียน ไทยจะก้าวพ้นคลื่นที่ถาโถมเหล่านี้ได้ แต่สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยนโยบายจากรัฐที่จะนำไปสู่แผนปฏิบัติให้มีการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม”