จีนเรียกทูตญี่ปุ่นพบด่วน!?ประท้วง ‘อาเบะ’ ก้าวก่ายเรื่องไต้หวัน เตือนเป็นลูกไล่เมกาเผชิญหน้าไม่คุ้ม

1156

รัฐบาลจีนไม่พอใจอดีตนายกฯ ชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่นคุยเขื่องว่าญี่ปุ่นและสหรัฐจะไม่นิ่งเฉยหากจีนโจมตีไต้หวัน กระทรวงการต่างประเทศจีนเรียกเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นเข้าพบทันที ประท้วงว่า “คำพูดผิดพลาดอย่างยิ่งของอาเบะ เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีนอย่างร้ายแรง” และเตือนว่าการแสดงออกรับใช้วาระวอชิงตันจะทำลายญี่ปุ่นวอดวายทั้งเศรษฐกิจการเมืองการทหาร

เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2564 สำนักข่าวเอเอฟพี,รอยเตอร์และโกลบัลไทมส์ รายงานว่า อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายชินโซ อาเบะ ซึ่งลาออกจากตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว แต่ยังคงมีอิทธิพลอย่างสูงในพรรครัฐบาลเสรีประชาธิปไตย กล่าวสุนทรพจน์ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกลต่อวงเสาวนา จัดโดยสถาบันวิจัยนโยบายแห่งชาติ ที่เป็นหน่วยงานคลังสมองของไต้หวัน เมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า หากจีนใช้กำลังทหารรุกรานไต้หวันจะเป็นอันตรายต่อญี่ปุ่นด้วย และไม่ว่าญี่ปุ่นหรือสหรัฐจะไม่ยอมนิ่งดูดาย

อดีตนายกฯ อาเบะยังฝากสารถึงผู้นำจีนด้วยว่า “การเสี่ยงทางทหารจะเป็นเส้นทางสู่การฆ่าตัวตายทางเศรษฐกิจ” “คนในปักกิ่ง โดยเฉพาะประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ไม่ควรตัดสินใจผิดๆ” 

กระทรวงการต่างประเทศของจีนตอบโต้ทันทีด้วยการเรียกฮิเดโอะ ทารุมิ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำปักกิ่ง เข้าพบช่วงค่ำวันเดียวกันเพื่อแสดงความไม่พอใจ และเตือนว่า คำพูดของอาเบะเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีนอย่างร้ายแรง

หัว ชุนหยิง ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศจีน(Hua Chunying : Assistant Minister of Foreign Affairs) กล่าวในแถลงการณ์ “ในประวัติศาสตร์ ญี่ปุ่นเปิดสงครามรุกรานจีน ก่ออาชญากรรมร้ายแรงต่อชาวจีน” “ญี่ปุ่นไม่มีสิทธิหรืออำนาจที่จะมากล่าวถ้อยคำที่ไร้ความรับผิดชอบประเด็นไต้หวัน”เธอกล่าวด้วยว่า ทัศนะของอาเบะท้าทายอำนาจอธิปไตยของจีนอย่างเปิดเผย และสนับสนุนกองกำลังเอกราชของไต้หวันอย่างไร้ยางอาย

นักวิเคราะห์ชาวจีนกล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่จีนเรียกประชุมฉุกเฉินกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นรายนี้ นับตั้งแต่นายกรัฐมนตรีคิชิดะเข้ารับตำแหน่ง จีนได้ดำเนินการคล้ายคลึงกันกับประเทศอื่น ๆ เกี่ยวกับกรณีไต้หวัน  เช่นในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จีนยื่นคำร้องที่เข้มงวดกับออสเตรเลีย เกี่ยวกับความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสมของอดีตนายกรัฐมนตรีโทนี่ แอบบอตต์ของออสเตรเลียและเกี่ยวกับการเยือนไต้หวันของเขา 

หลิว เจียงยง(Liu Jiangyong) รองคณบดีสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมัยใหม่ที่มหาวิทยาลัยชิงหัว (Tsinghua) กล่าวว่า การตอบโต้ในนามทางการจีนเป็นสิ่งจำเป็น ทำในทันท่วงที และมีพลัง เนื่องจากคำพูดของอาเบะเป็นความท้าทายต่อความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศหลังสงคราม และรากฐานของความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่น  เป็นการท้าทายอย่างชัดเจน

เหลียนเต๋อกุย ผู้อำนวยการภาควิชาญี่ปุ่นศึกษาของสถาบันเซี่ยงไฮ้เพื่อการศึกษานานาชาติกล่าวนายกรัฐมนตรีคิชิดะแห่งญี่ปุ่นคงทราบดีอยู่แล้วว่า อาเบะกำลังจะพูดอะไรเกี่ยวกับกรณีไต้หวันเมื่อวันพุธที่ผ่านมา แต่ยังไงก็ให้อาเบะพูดต่อไป เพื่อแลกกับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากฝ่ายของอาเบะ นอกจากนี้ คิชิดะยังสามารถใช้คำพูดของอาเบะเพื่อทำให้สหรัฐฯ พอใจ ซึ่งมักเล่นเป็น “ไพ่ไต้หวัน” กับจีนอย่างไม่ลดละ

อาเบะไม่สามารถเป็นตัวแทนของรัฐบาลญี่ปุ่นในปัจจุบันได้อย่างถูกกฎหมาย แต่เขาเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่ทรงอิทธิพลที่สุดในญี่ปุ่นและเป็นหัวหน้ากลุ่มที่ใหญ่ที่สุดภายในพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ที่ปกครองและอิทธิพลของเขาที่มีต่อรัฐบาลญี่ปุ่นนั้นไม่อาจมองข้ามได้

นักวิเคราะห์กล่าวว่าการเข้าไปแทรกแซงในคำถามของไต้หวันจะมีแต่จุดไฟเผาญี่ปุ่นอย่างจริงจังทั้งเศรษฐกิจ การเมืองและการทหาร

ที่ผ่านมาจีนและญี่ปุ่นมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในสนธิสัญญาการค้าพหุภาคีต่างๆ รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งจะมีผลในเดือนหน้า ข้อตกลงสำคัญอีกประการหนึ่งคือข้อตกลงการค้าเสรีจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ที่อาจเกิดขึ้นซึ่งอยู่ภายใต้การเจรจาเป็นเวลาหลายปี 

คณะรัฐมนตรีคิชิดะไม่สามารถสลัดอิทธิพลของอาเบะออกได้ ถึงแม้คิชิดะจะเสนอนโยบายทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันออกไป แต่นโยบายของเขาในด้านการเมืองและการทูตยังคงเป็นความต่อเนื่องของนโยบายของอาเบะ ภายใต้อิทธิพลของอาเบะ ญี่ปุ่นจะจัดตั้งการทูตที่เป็นอิสระได้ยากขึ้นเรื่อยๆ และจะเข้าใกล้การเป็นบริวารของสหรัฐฯ กลายเป็นผู้สมรู้ร่วมในนโยบายต้านจีนของสหรัฐฯอย่างโจ่งแจ้ง