ทันทีที่มีเสียงเรียกร้องให้รัฐดูแลร้านอาหารทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่ต้องปิดกิจการเพราะรัฐสั่งปิดชั่วคราว ด้วยโควิดระบาดระลอกใหม่ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้สั่ง สำนักงานประกันสังคมหรือสปส.ให้เร่งช่วยเหลือเยียวยาโดยด่วนให้ได้รับสิทธิประโยชน์ว่างงาน 50% และไม่เกิน 90 วัน แจ้งเร็วเท่าไหร่ได้เงินเร็วเท่านั้น
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกจ้าง โดยเฉพาะพนักงานหน้าร้านกรณีรัฐสั่งปิดสถานประกอบการชั่วคราวเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ว่า จากกรณีที่ภาครัฐมีประกาศห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้านค้า และอนุญาตให้นำกลับไปรับประทานที่บ้านนั้น ซึ่งส่งผลให้พนักงานที่บริการหน้าร้านต้องหยุดงานชั่วคราว รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงได้กำชับให้กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม เร่งช่วยเหลือเยียวยาลูกจ้างพนักงานร้านค้า ร้านอาหาร และสถานประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบจากกรณีรัฐสั่งปิด
โดยกระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ.2563
ซึ่งระบุว่า ในกรณีมีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตน ซึ่งมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากต้องกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค หรือในกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานเนื่องจากนายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เนื่องจากทางราชการมีคำสั่งให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ และลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ให้ลูกจ้างดังกล่าวมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ
50 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่มีการกักตัว หรือเฝ้าระวังการระบาดของโรคหรือมีคำสั่งปิดสถานที่ดังกล่าวแล้วแต่กรณี แต่รวมกันไม่เกิน 90 วัน
นายสุชาติกล่าวต่อว่า ผู้ประกันตนต้องดำเนินการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนเลยในทันที โดยกรอกแบบขอรับประโยชน์ทดแทน พร้อมเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้และแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ แล้วนำส่งให้นายจ้างรวบรวมแบบฯ เพื่อบันทึกข้อมูลลูกจ้างและหนังสือรับรองการหยุดงานกรณีราชการสั่งปิด/กรณีกักตัว
เมื่อนายจ้างบันทึกข้อมูลลูกจ้างเสร็จสิ้นให้นำส่งแบบฯ และหนังสือรับรองในระบบ e-Service ส่งมายังสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่บันทึกข้อมูลในระบบ e-Service บน www.sso.go.th สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก หรือผ่านโทรศัพท์สายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง
ก่อนหน้านี้ทางสมาคมภัตตาคารไทยวอนรัฐเร่งเยียวยา หลัง ศบค.ยกระดับพื้นที่สีแดงเข้ม ห้ามนั่งทานในร้าน ขอให้ประกันสังคม ชดเชยผู้ประกอบการ-พนักงานร้านอาหาร เพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากโควิดระลอก 3 กระทบแรงงาน-ร้านอาหารใน 6 จังหวัดเขตควบคุมสูงสุดมากกว่า 5 แสนราย
และสมาคมได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาออกมาตรการการช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร 4 ข้อหลัก ได้แก่
1.เพิ่มแหล่งเงิน soft loan ที่เข้าถึงได้ง่าย
2.ผ่อนผันชำระต้นและดอกเบี้ยเงินกู้ โดยอาจจะพักดอกเบี้ย 6 เดือน พักชำระเงินต้น 1 ปี
3.ช่วยลดค่าใช้จ่ายทั้งภาษี และค่าสาธารณูปโภค
4.ช่วยจ่ายค่าแรงพนักงาน 50% หรือผ่อนผันค่าใช้จ่ายประกันสังคม 3 เดือน เบื้องต้นทางสมาคมรับทราบว่ามาข้อเรียกร้องทั้งหมดกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของภาครัฐ