“การบินไทย”พลิกชีวิต!!กำไร 9 เดือนทะลุ 5.1 หมื่นล้าน ตั้งเป้าปี 66 รายได้แตะแสนล้าน

1291

ข่าวดีที่หลายฝ่ายรอคอย ผลประกอบการของการบินไทยพลิกฟื้น  9 เดือนปี 64 มีกำไรสุทธิ 5.1 หมื่นล้านหลังขายทรัพย์สิน ลดค่าใช้จ่าย ปรับโครงสร้างองค์กร ธุรกิจเริ่มฟื้นทำรายได้ ต.ค. 1.2 พันล้าน เมื่อเปิดประเทศยอดผู้โดยสารเพิ่ม  มั่นใจว่าปี 66 รายได้แตะแสนล้านบาทแน่ เปิดเผยว่ากระทรวงการคลังไม่หนุนเงินกู้ แต่รอคำตอบใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนแทน พร้อมทวงรัฐเร่งจ่ายหนี้คงค้าง 5 พันล้านบาท

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การดำเนินงานประจำงวด 9 เดือนแรกของปี 2564 โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 51,115 ล้านบาท จากปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 49,561 ล้านบาท โดยเป็นกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 51,121 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 23.42 บาท

การขาดทุนจากการดำเนินงานลดลง   ที่ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 21,491 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 12,465 ล้านบาท (36.7%) โดยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 14,990 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 29,230 ล้านบาท หรือ 66.1% มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 36,481 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 41,695 ล้านบาท (53.3%) เนื่องจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่แปรผันตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งลดลง ตลอดจนการดำเนินมาตรการเพื่อลดค่าใช้จ่ายตามแผนปฏิรูปธุรกิจ ขณะที่ส่วนผู้ถือหุ้น ติดลบ 76,493 ล้านบาท ซึ่งลดลงจาก ณ 31 ธ.ค.63 ที่ติดลบ 1.2 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นรายได้จำนวน 73,084 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ เช่น กำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ 60,730 ล้านบาท การปรับรายการผลขาดทุนจากการด้อยค่าเครื่องบินและสินทรัพย์สุทธิการใช้อุปกรณ์เครื่องบิน จากการเจรจาปรับสัญญาเช่าเครื่องบินเป็นรายชั่วโมงการใช้ 18,440 ล้านบาท มีการปรับโครงสร้างองค์กร กำไรจากการขายทรัพย์สิน 628 ล้านบาท เช่น สำนักงานหลักสี่ และกำไรจากการขายเงินลงทุนในบริษัทร่วม 2,200 ล้านบาท เช่น ขายหุ้น บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS ขายหุ้นนกแอร์ เป็นต้น ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ ในงวด 9 เดือนแรกของ ปี 2564 จำนวน 51,115 ล้านบาท

นายปิยสวัสดิ์กล่าวว่า ขณะนี้ชัดเจนแล้วว่ากระทรวงการคลังไม่สนับสนุนวงเงินกู้ 2.5 หมื่นล้านบาทให้บริษัทตามแผนฟื้นฟูที่ศาลล้มละลายได้เห็นชอบ ซึ่งจะต้องปรับแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป การที่คลังไม่สนับสนุนเงินกู้ และไม่ทำอะไรเลยจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของคลังลดลงจาก 48% เหลือ 8% ซึ่งตามแผนฟื้นฟูยังมีแนวทางที่คลังจะแปลงหนี้เป็นทุน ที่การบินไทยมีหนี้กับกระทรวงการคลังจำนวน 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากคลังใช้แนวทางนี้จะเป็นการที่รัฐไม่ต้องใส่เงินเพิ่ม และจะทำให้สัดส่วนหุ้นของคลังปรับขึ้นมาจากที่คาดว่าจะลดลงไปเหลือ 8% แต่คงจะไม่เท่ากับสัดส่วนหุ้นเดิมที่ 48% หรือคลังอาจจะใช้แนวทางซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่บริษัทจะมีการออกหุ้นเพิ่มทุนต่อไป โดย 2 วิธีหลังนี้รัฐไม่ต้องใส่เงินแต่จะยังทำให้หุ้นของคลังมีสัดส่วนที่สูงพอสมควร โดยคาดหวังว่าคลังจะให้คำตอบเร็วที่สุดปลายเดือน พ.ย.หรืออย่างช้าปลายปีนี้

ส่วนการกู้เงิน 2.5 หมื่นล้านบาทจากเอกชนจะเดินหน้าตามแผนคาดว่าจะเข้ามาต้นปี 2565 ซึ่งบริษัทมีทรัพย์สินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้และผลประกอบการเริ่มดีขึ้น และผู้ให้กู้มีสิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนในราคา 2.54 บาทต่อหุ้น

นายปิยสวัสดิ์กล่าวว่า “นายกรัฐมนตรีบอกว่าจะให้การบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติ น่าจะหมายความว่ารัฐยังจะต้องมีหุ้นเพิ่มขึ้นจากการแปลงหนี้เป็นทุน และหรือ ซื้อหุ้นเพิ่มทุน โดยไม่สนับสนุนเงินกู้ 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งสิ่งที่จะขอจากภาครัฐคือถ้าไม่เข้ามาช่วยเรื่องเงินกู้ ซึ่งก็ไม่ได้คาดหวัง แต่ก็อยากให้รัฐช่วยคืนหนี้ที่มีกับการบินไทยประมาณ 5 พันล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ค่าซ่อมบำรุงเครื่องบินหน่วยงานรัฐกว่า 2,000 ล้านบาท และหนี้กองทุนบำเหน็จบำนาญอีกกว่า 2,200 ล้านบาท ซึ่งหากได้เงินคืนมาจากรัฐจะทำให้กระแสเงินสดของบริษัทจาก 6,500 ล้านบาทในสิ้นปี 64 จะดีขึ้นไปอีก” 

สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ ประกอบกับมีการปรับปรุงระบบบริหาร และได้ปรับลดค่าใช้จ่ายลงไปอย่างมาก โดยเดือน ต.ค. 2564 มีรายได้ที่ 1,200 ล้านบาท สูงสุดนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 โดยเป็นรายได้จากคาร์โก้ 90% จากผู้โดยสาร 10% และเดือน พ.ย. 2564 ที่การเปิดประเทศ ช่วง 10 วันแรกมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 750 คน/วันจากก่อนหน้ามี 300 คน/วัน และในปี 2565 คาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท กรณีไม่มีสถานการณ์โควิดระลอกใหม่ที่รุนแรงมากเหมือนก่อนหน้านี้ เนื่องจากแผนการบินที่จะเพิ่มเส้นทางการบิน ยุโรป อเมริกา และหวังว่าจะเปิดเส้นทางเอเชีย เช่น จีน และในภูมิภาคและออสเตรเลียได้มากขึ้น

ปัจจุบันบริษัทกลับมาเปิดให้บริการเที่ยวบินกว่า 30% เทียบจากที่เคยให้บริการในปี 2562 นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่เป็นการจ่ายชดเชยให้พนักงานจะหมดในเดือน ก.ค. 2565 ก็จะทำให้บริษัทมีผลประกอบการดีขึ้นได้

นายปิยสวัสดิ์กล่าวว่า ในปี 2566 เชื่อว่าการบินไทยจะกลับมามีกำไรแน่นอน โดยคาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นแตะ 1 แสนล้านบาท และในปี 2567 คาดว่ารายได้จะเพิ่มเป็นราว 1.4-1.5 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี คงเทียบกับก่อนเกิดโควิดที่มีรายได้ 1.8 แสนล้านบาทไม่ได้ เพราะจำนวนเครื่องบินลดลงเหลือ 54 ลำจากก่อนหน้ามีประมาณ 100 ลำ

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและสายบัญชี กล่าวว่า ในแผนฟื้นฟู บริษัทมีทางเลือกให้รัฐบาลว่าแต่ละแนวทางจะมีสัดส่วนหุ้นเป็นเท่าไร ซึ่งบริษัทได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กำลังพิจารณาข้อมูล

สำหรับรายได้ของบริษัทในระดับหมื่นล้านบาทขณะนี้ถือว่าอยู่ได้ แต่จะให้ไปเป็นระดับแสนล้านบาทมีผู้โดยสารเดือนละกว่า 1 ล้านคนเหมือนก่อนนี้ในช่วงระยะสั้นยังไม่ได้ โดยคาดว่าตลาดจะกลับมาโดยเร็ว โดยขณะนี้มีรายได้จากคาร์โก้เป็นหลัก