กลุ่มพันธมิตรควอด (QUAD) ซึ่งมีสมาชิก 4 ชาติคือ สหรัฐ ออสเตรเลีย อินเดียและ ญี่ปุ่น ตั้งขึ้นเพื่อจุดมุ่งหมายต่อต้านอิทธิพลของจีนอย่างชัดเจนทำหน้าที่เคลื่อนไหวในพื้นที่เอเชียแปซิฟิกและโดยเฉพาะในทะเลจีนใต้ ทั้งนี้ญี่ปุ่นได้ประกาศเป็นแกนนำของกลุ่มในการบรรลุเป้าหมายที่สหรัฐวางไว้ หลังการเลือกตั้งได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ก็เริ่มเดินสายโน้มน้าวเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างเอาการเอางาน ล่าสุด รัฐบาลญี่ปุ่นจะให้นายชินโซ อาเบะเป็น “ทูตพิเศษ” เยือนมาเลเซีย เพื่อสานต่อแนวคิดกลุ่ม QUAD และนโยบายอินโดแปซิฟิกที่เสรี เพื่อคานอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของประเทศจีน ในขณะที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่เชิญเวียดนามเยือนเป็นชาติแรกหลังเข้ารับตำแหน่ง ประชุมเสร็จแถลงร่วมมีความกังวลต่อสถานการณ์ทะเลจีนใต้อย่างมาก ประกาศร่วมมือทุกด้านต้านอิทธิพลจีน
เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา อดีตนายกฯ ชินโซ อาเบะ เข้าหารือกับนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกฯ ญี่ปุ่นคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นการพบกันครั้งแรกหลังจากนายคิชิดะรับตำแหน่งผู้นำญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2564
นายคิชิดะเปิดเผยว่า ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนายอาเบะเรื่องนโยบายต่างประเทศและเศรษฐกิจ พร้อมระบุว่าจะแต่งตั้งให้นายอาเบะเป็นทูตพิเศษเพื่อเยือนมาเลเซีย
รัฐบาลญี่ปุ่นไม่เปิดเผยวัตถุประสงค์และกำหนดการเยือนมาเลเซียของนายอาเบะ โดยระบุเพียงว่าในปีหน้าเป็นโอกาสครบรอบ 40 ปีที่มาเลเซียใช้นโยบาย Look East ใช้ญี่ปุ่นเป็นต้นแบบในการพัฒนาประเทศ
นักวิเคราะห์ในญี่ปุ่นต่างคาดการณ์เรื่องที่ให้ “ผู้ทรงอิทธิพล” อย่างนายอาเบะเป็น “ทูตพิเศษ” เพื่อเยือนมาเลเซีย น่าจะมีวาระมากกว่าที่รัฐบาลเปิดเผย เนื่องจากทุกวันนี้ มาเลเซียไม่ได้พูดถึงนโยบาย Look East อีก และรูปแบบเศรษฐกิจของมาเลเซียก็แตกต่างจากญี่ปุ่นอย่างมาก รวมทั้งในปีหน้า มาเลเซียก็ไม่ได้มีฐานะพิเศษใดในเวทีอาเซียน
สื่อญี่ปุ่นมองว่า นายอาเบะอาจเป็นตัวแทนเพื่อเดินเกมนโยบาย “อินโดแปซิฟิกที่เสรี” และกลุ่ม QUAD ที่เขาเป็นผู้ริเริ่มขึ้น เนื่องจากช่องแคบมะลากาเป็นเส้นทางเดินเรือหลักที่ามีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างยิ่งต่อจีน หากได้มาเลเซียเป็นพันธมิตรก็จะมีผลอย่างยิ่งต่อการปิดล้อมจีน
นอกจากนี้ ประธานอาเซียนในปี 2565 คือ กัมพูชา ซึ่งใกล้ชิดกับจีนอย่างยิ่ง ญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องมี “แนวร่วม” ในกลุ่มอาเซียน กัมพูชาเป็นประธานอาเซียครั้งก่อนหน้าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และได้ “ฝากรอยแผล” ไว้ ด้วยการยับยั้งการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ จนทำให้ไม่สามารถแถลงการณ์ร่วมของอาเซียนได้ คู่เจรจาหลายประเทศกลัวประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย จากการที่กัมพูชาอาจจะไม่ยอมตามวาระวอชิงตันชัดเจนมากขึ้น ทำให้ภาพพจน์เข้าไปอยู่ข้างจีนมากเกินไป
และความเคลื่อนไหวล่าสุด วันนี้ วันที่ 25 พ.ย.2564 สำนักข่าวเจแปนทูเดย์รายงานว่า ผู้นำของญี่ปุ่นและเวียดนามแสดงความกังวลอย่างจริงจังเกี่ยวกับสถานการณ์ในทะเลจีนใต้และการดำเนินการใดๆ ที่มุ่งเปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่ และตกลงที่จะทำงานร่วมกันเพื่อรักษาเส้นทางเดินทะเลที่เสรีและเปิดกว้าง ขณะที่ความตึงเครียดในภูมิภาคนี้ทวีความรุนแรงขึ้น
นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ฟาม มินห์ ชินน์ (Pham Minh Chinh) เป็นผู้นำต่างชาติคนแรกที่ไปเยือนญี่ปุ่นเพื่อพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ฟูมิโอะ ริชิดะ (Fumio Kishida) ซึ่งเข้ารับตำแหน่งในเดือนตุลาคม
Kishida บอกกับ Chinh ในการกล่าวเปิดงานว่า “เวียดนามเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่ถือกุญแจในการบรรลุ ‘อินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง’ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่มุ่งต่อต้านการจีนในภูมิภาคที่มีข้อพิพาท โดยในแถลงการณ์เขาไม่ได้กล่าวถึง ประเทศจีนอย่างโจ่งแจ้ง แต่ทุกฝ่ายย่อมเข้าใจว่าหมายถึงประเทศไหน
นอกจากนี้ทั้งสองประเทศยืนยันถึงความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น โควิด-19 โครงสร้างพื้นฐาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ญี่ปุ่นจะสนับสนุนการเสริมสร้างความสามารถในการบังคับใช้กฎหมายทางทะเลของเวียดนามด้วยการเร่งความช่วยเหลือสำหรับการก่อสร้างเรือลาดตระเวน
เวียดนามเป็นประเทศที่ 11 ที่ญี่ปุ่นได้ลงนามในข้อตกลงด้านอุปกรณ์ป้องกันภัยและการถ่ายโอนเทคโนโลยี เนื่องจากโตเกียวพยายามที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศของตนอย่างเต็มที่