นายกฯย้ำสหรัฐฯเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อาเซียน!?!ชวนลงทุน”ดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์”มูลค่า 4 หมื่นล้านบาท

1916

บิ๊กตู่ชูแนวคิด 3 ใหม่พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลแบบยั่งยืนในเวทีอาเซียนบิสซิเนส พร้อมย้ำบทบาทความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐและอาเซียน ขณะเดียวกันยืนยันพร้อมต้อนรับนักธุรกิจสหรัฐเข้าร่วมลงทุนสร้างดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ มูลค่า 3-4 หมื่นล้านบาท สำหรับสหรัฐได้ตอกย้ำเป้าหมายทางยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ในโครงการสร้างดุลยภาพใหม่เชื่อมอาเซียนกับสหรัฐในมิติการค้าการลงทุนและความมั่นคง

วันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2563 เวลา 08.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 8 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งมีผู้นำจาก เวียดนาม ลาว ไทย สิงคโปร์ บรูไน และผู้แทนจาก อินโดนีเซีย กัมพูชา เมียนมา ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย และนายโรเบิร์ต ซี. โอไบรอัน (Robert C. O’Brien) ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Security Advisor) เป็นผู้แทนฝ่ายสหรัฐฯ ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้กล่าวสรุปผลการประชุม ดังนี้ 

การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดทิศทางความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ ในอนาคต ขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ ให้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพและเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของความร่วมมือเพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมให้เข้มแข็งและยั่งยืน ตลอดจนทบทวนเพื่อต่อยอดความร่วมมือจากการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งที่ 7 

นายกรัฐมนตรีเวียดนามชื่นชมบทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาค และด้วยความท้าทายที่มากขึ้น ประเทศในภูมิภาคต้องร่วมมือกันมากขึ้นตามหัวข้อหลักของการประชุม แน่นแฟ้นและตอบสนอง เพื่อการฟื้นฟูหลังโควิด19 ที่รวดเร็วยิ่งขึ้น

โดยที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ เชื่อมั่นว่าการประชุมจะดำเนินการหารือไปด้วยดี และเป็นปีสำคัญของความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กระทบการพบเจอเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น การเชื่อมห่วงโซ่อุปทานสำหรับโควิด-19 ยังคงจำเป็น ต้องมีความร่วมมือต่อต้านโรคระบาด การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ทั้งความมั่นคงและอาหาร นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังให้การสนับสนุนด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การมีการฝึกอบรมสนับสนุนอาชีพ เป็นต้น

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่าสหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่รอบด้านของอาเซียน บทบาทที่สร้างสรรคของสหรัฐฯ จะช่วยเสริมสร้างความเป็นแกนกลางและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของอาเซียนการสร้างดุลยภาพใหม่ทางยุทธศาสตร์ (new strategic equilibrium) ในอินโด-แปซิฟิก จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างบรรยากาศของความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การฟื้นตัว ทางเศรษฐกิจ และการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภูมิภาค นายกรัฐมนตรีเสนอให้ อาเซียนและสหรัฐฯ กระชับความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างอนาคตที่มีเสถียรภาพและความยั่งยืนสำหรับประชาชนใน 3 ประเด็น คือ 

 

  1. การส่งเสริมความมั่นคงด้านสาธารณสุข สนับสนุนการวิจัยและการผลิต ตลอดจนการเข้าถึงยาและวัคซีนต้านโควิด-19 อย่างเร่งด่วน โดยไทยพร้อมจะเป็นฐาน ในการผลิตยาและวัคซีน เพื่อให้เป็นสินค้าสาธารณะ และไทยพร้อมสนับสนุน โครงการ “อาเซียน-สหรัฐฯ ด้านสาธารณสุขเพื่ออนาคต” 
  2. การส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และภูมิภาค โดยสหรัฐฯ และอาเซียน เขตเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 1 และ 5 ของโลก ควรร่วมมือกันสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานสินค้า เพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีในอาเซียน และพัฒนาเมืองอัจฉริยะร่วมกัน รวมทั้งเสริมสร้างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะจากการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนภาคเอกชนของสหรัฐฯ มาร่วมพัฒนาขีดความสามารถด้านดิจิทัลในอาเซียน ซึ่งไทยมีโครงการเพื่อรองรับการเติบโตด้านดิจิทัลที่พร้อมร่วมมือกับสหรัฐฯ อาทิ โครงการ “ASEAN Digital Hub” รวมถึงโครงการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล หรือ “Digital Park Thailand”
  3. การพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งอาเซียนและสหรัฐฯ ควรร่วมกันพัฒนาทักษะแรงงาน ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต ควรมุ่งเน้นความร่วมมือด้านการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา ในสาขาอาชีพใหม่ ๆ การพัฒนาทักษะภาษา และการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม สนับสนุนให้สถาบันการศึกษาผลิตแรงงานที่ทันสมัย และมีทักษะตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานโลก

ในตอนท้าย ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะสานต่อมิตรภาพและความเป็นหุ้นส่วนสหรัฐ-อาเซียน ให้ดำเนินต่อไปในปีหน้าและต่อๆไป โดยจะแน่นแฟ้นมนทุกด้าน ความร่วมมือสำคัญต่อสันติภาพ ความมั่นคง และประโยชน์ต่อประชาชน รวมทั้ง จะมีความร่วมมือใหม่ ๆ เช่น Task Force ด้านสาธารณสุข และโควิด-19 ลงทุนด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลมากขึ้น เพื่อส่งเสริมแรงงานและบุคลากร ลงทุนเพิ่มขึ้นในด้านโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียน ส่งเสริมอินโด-แปซิฟิกที่เปิดกว้างและเสรี รวมทั้งปกป้องความเป็นแกนกลางของอาเซียน

อาเซียนเปิดมิติร่วมมือพัฒนายุคดิจิทัล

ในวันที่ 13 พ.ย.2563 มีการประชุม ASEAN Business and Investment Summit ประจำปี 2020 (ASEAN BIS) ภายใต้หัวข้อ “การพัฒนาที่ยั่งยืนและการเจริญเติบโตอย่างทั่วถึง” ซึ่งเป็นกิจกรรมคู่ขนานกับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง

เป็นกิจกรรมประจำปีของสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนซึ่งจัดคู่ขนานกับการประชุมสุดยอดอาเซียนในแต่ละปี เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน ผู้นำประเทศคู่เจรจา และผู้นำจากภาคธุรกิจ เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในอาเซียน โดยในปีนี้ เวียดนามในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ได้จัดการประชุมฯ ภายใต้หัวข้อหลัก “ดิจิทัลอาเซียนที่ยั่งยืนและทั่วถึง” (Digital ASEAN: Sustainable and Inclusive) และมีผู้นำที่ได้เข้าร่วมกล่าวสุนทรพจน์แสดงวิสัยทัศน์ อาทิ ผู้นำจากเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย จีน ออสเตรเลีย และอินเดีย

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวคิด “สามใหม่”ในกรอบการพัฒนาด้านดิจิทัลซึ่งประกอบด้วย 

(๑) การพัฒนา “โมเดลเศรษฐกิจใหม่” ซึ่งเน้นการรักษาสมดุลระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความเท่าเทียมทางสังคม และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม โดยยกตัวอย่าง “BCG Model” ของไทย ที่มีหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นรากฐาน 

(๒) การแสวงหา “พลังเศรษฐกิจใหม่” โดยใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาภาคเศรษฐกิจที่เป็นจุดแข็งของภูมิภาค รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถและการพัฒนากลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนกรฟื้นตัวของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของอาเซียน และ 

(๓) การสร้าง “ระบบนิเวศทางเศรษฐกิจใหม่” โดยการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ประชาชนและภาคธุรกิจรายย่อยสามารถเข้าถึงได้ รวมถึงการส่งเสริมความเชื่อมโยงของระบบการค้าดิจิทัลในอาเซียนอย่างครบวงจร เพื่อสนับสนุนการบูรณาการด้านดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบเพื่อการเป็น “ดิจิทัลอาเซียน” อย่างแท้จริง